วันนี้ (28 มี.ค.2567) นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กล่าวว่า ปัจจุบันการขยายตัวของตลาดมะพร้าวกะทิ มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทำให้มีราคาสูงถึง 150-250 บาทต่อผล
รวมทั้งมีการนำไปใช้ใน อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง ฟิล์มห่ออาหาร อุตสาหกรรมยา และอาหารเสริม เป็นต้น ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดและมีข้อจำกัดในการขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า คณะนักวิจัยของกรม ได้วิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ ที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิทุกผลและให้ผลผลิตสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดมะพร้าวกะทิ
น.ส.ปริญดา หรูนหีม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ในธรรมชาติมะพร้าว 1,000 ลูก จะพบมะพร้าวกะทิเพียง 1-3 ลูกเท่านั้น หรือไม่เกินร้อยละ 0.3 เนื่องจากพันธุกรรรมที่ควบคุมการเกิดเนื้อกะทิเป็นลักษณะด้อย และสูญเสียความสามารถในการงอกด้วยวิธีปกติ จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงคัพภะ
ดังนั้นจึงได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิ พันธุ์แท้ ที่สามารถให้ผลเป็นกะทิทุกผล มีผลผลิตสูง ออกจั่นและเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเร็ว รองรับความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์จนได้มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้รหัส NHK-C2 NHK-C2 จำนวน 121 ต้น ที่มีความเป็นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พบว่า ทั้งหมดมีต้นเป็นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้และให้ผลเป็นกะทิทุกผล อายุเริ่มออกจั่นและเก็บเกี่ยวสั้น รวมทั้งให้ผลผลิตสูง จึงเสนอขอรับรองพันธุ์ในปี 2566 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1
สำหรับมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิ อายุ 8 ปีขึ้นไปให้ผลผลิตมากกว่า 100 ผล/ต้น/ปี หรือมากกว่า 2,200 ผล/ไร่/ปี น้ำหนักผล 2,032 กรัม (มีขนาดกลาง-ใหญ่)
เริ่มออกจั่นครึ่งหนึ่งเมื่ออายุ 3 ปี 6 เดือน และทุกต้นเมื่ออายุ 3 ปี 9 เดือน และเริ่มเก็บเกี่ยวครึ่งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี 8 เดือน และทุกต้นเมื่ออายุ 4 ปี 11 เดือน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เส้นใยอาหารสูง 7.24 กรัม/100 กรัม และ ไขมันต่ำ 5.78 กรัม/100 กรัม
ทั้งนี้กว่าจะได้มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1 ใช้ระยะเวลาในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 26 ปี เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ความพร้อมของพันธุ์ ต้นและแปลงแม่พันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ที่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างน้อยปีละ 1,500 ต้น รองรับพื้นที่ ได้ประมาณ 70 ไร่/ปี
อ่านข่าว : ล้งจีน บุกเมืองจันทบุรี ชิงตลาดส่งออกผู้บริโภค "ทุเรียน"ไทย
กกพ.เคาะ "ค่าไฟใหม่" งวด พ.ค.– ส.ค. อยู่ที่ 4.18 บาท
ไฟเขียวขึ้นค่าจ้าง 400 บาท "โรงแรม 4 ดาว" - ลูกจ้าง 50 คน ใน 10 จังหวัด เริ่ม 13 เม.ย.นี้