เมื่อครั้ง “นพดล ปัทมะ” เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในยุครัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ผลพวงจากการลงนามคำแถลงการณ์ร่วมกัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร คือ จุดเริ่มต้นที่ถูกเรียกว่า “คนขายชาติ”
วันที่ 4 กันยายน 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 6 : 3 ยกฟ้อง โดยระบุว่า การลงนามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวสมเหตุสมผลถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบต่อสิทธิทางเขตแดนและการทวงคืนเขาพระวิหารในอนาคต ทำให้ “พ้นมลทิน” และกลับมารับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองอีกครั้งในฐานะสส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และได้รับมอบหมายงานสำคัญในสภา ให้นั่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ
“จริงๆ ตอนนี้ก็ไม่ได้อยากจะไปฟ้อง แต่ก็ต้องดำเนินการบ้าง เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ นี่ขนาดคำพิพากษาบอกว่า ผมไม่ได้ทำให้เสียดินแดน และยังทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ก็ยังมีโจมตีผมในโซเชียล”
เรื่องราวในอดีตกลายเป็นจุดสนใจของคนไทยทั้งประเทศ และกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อได้รับบทบาทร่วมเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา รายการคุยนอกกรอบ กับ “สุทธิชัย หยุ่น” “เปิดใจ “นพดล” ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ที่ต้องแบกรับความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศ และการถูกจับตามองเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร และ สมเด็จฮุน เซน แห่งกัมพูชา
ประเทศเพื่อนบ้าน VS งานบริหาร กมธ.ต่างประเทศ
นพดล ในฐานะกรรมาธิการต่างประเทศ รัฐสภา เล่าถึงบทบาทการทำงานของกรรมาธิการว่า ประกอบด้วยหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ทำหน้าที่ศึกษาหาข้อเท็จจริงในประเด็นต่างด้านต่างประเทศเพื่อเสนอแนะตรวจสอบรัฐบาล การจัดสัมมนาทิศทางนโยบายต่างประเทศ และหากเป็นนโยบายของรัฐบาลถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องผลักดัน แต่ก็ต้องฟังเสียงฝ่ายค้านด้วย
เมื่อถามทิศทางที่ไทย เข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมใน“เมียนมา” ขณะเดียวกันยังมีการเจรจาให้อาเซียนมีส่วนให้เกิดกระบวนการสันติภาพ?...
ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศมองว่า การช่วยเหลือหมู่บ้าน 3 แห่ง ในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ที่กำลังเดือดร้อนจากการสู้รบ เป็นบทบาทสำคัญของไทย ที่ถือเป็นเสาหลักนโยบายต่างประเทศ “เพื่อนบ้านมั่นคง ไทยมั่นคง เพื่อนบ้านมีความสุข เรามีความสุข” จึงสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าและผลักดันอาเซียนเข้าร่วม โดยใช้งบประมาณจากกองทุน AHA หรือ กองทุนอาเซียนเพื่อการจัดการภัยพิบัติ และบรรเทาภัยฉุกเฉิน ช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด
…ถามต่อในกระบวนการเจรจา ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา เริ่มที่จะอ่อนไหว เพราะว่าการโจมตีจากฝ่ายต่อต้านสามารถยึดพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น คิดว่าโอกาสการเจรจาจะสูงขึ้นกว่าเดิมที่ผ่านหรือไม่
“ผมเป็นประเภทที่ให้โอกาสสันติภาพ คิดว่าคุยกันดีกว่า ผมเป็นฝ่ายนกพิราบอยากจะให้มีการเจรจา ไม่อยากให้มีการสูญเสีย ไม่อยากให้เด็ก หรือคนแก่ต้องอพยพหนีภัยสงคราม เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานหนักขึ้น”
นพดล กล่าวว่า โอกาสการเจรจาอาจต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กรอบระหว่างที่จะโน้มน้าวให้เมียนมามาสู่โต๊ะเจรจาจะทำอย่างไร , ภายในเมียนมาจะคุยกันอย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยน่าจะทำในกรอบของอาเซียน ด้วยการเป็นหัวหอกดึงลาวซึ่งเป็นประธานอาเซียนมาร่วมเจรจา รวมถึงการคุยกับประเทศอินเดีย จีน ที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยเพื่อทำความเข้าใจ
“เริ่มจากการคุยอย่างนี้ได้หรือไม่ อินเดีย จีน อาเซียน ลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ไทย และเชิญ สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC ดูว่า เราจะขับเคลื่อนสันติภาพอย่างไร ถามว่าในกรอบอะไร… ก็ในกรอบฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน แล้วขั้นตอนต่อไปถึงไปคุยภายในของเมียนมา ว่าจะให้ SAC จะฝ่ายต่อต้านพม่า NUG หรือจะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ค่อยเป็นขั้นตอนที่สอง”
….เมื่อถูกตั้งคำถามการทำหน้าที่ของประเทศไทย มีความเป็นกลางพอไหม
ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นพยานหลักฐานที่บ่งบอกว่า ประเทศ ไทยลำเอียง ส่วนความไว้ใจทางการทูตของเมียนมาที่มีต่อประเทศไทย อาจทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น ได้รับผลกระทบมากที่สุด การเจรจาไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องด้วยมีข้อจำกัดในแง่ที่ว่า “เขารบกันตั้งแต่ที่เรายังไม่เกิด”
ฉะนั้นจึงต้องโน้มน้าวให้ทั้งสองฝ่าย ยับยั้งชั่งใจในการที่จะต่อสู้กัน หรือที่เรียกกว่า “การทูตซอฟต์พาวเวอร์” ด้วยการชักจูงให้เขาเห็นว่า “สันติภาพ” ความท้าทายของโลกมีมากมายที่จะทุ่มเทสรรพกำลังไปเร่งแก้ปัญหามากกว่าการรบกัน อาทิ อาชญากรรมทางไซเบอร์ , การโกงของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ , PM 2.5 , โลกร้อน
ทฤษฎีสมคบคิด และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา
ส่วนเรื่องที่สมเด็จฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเยี่ยมคุณทักษิณ ชินวัตร ทำให้เริ่มมองถึงทฤษฎี “สมคบคิด” กันหรือเปล่า ในเรื่องของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา
นพดล ยืนยันว่า ไม่สามารถสมคบคิดกันได้เนื่องด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา หรือ OCA กลไกตาม MOU 44 จะต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ JTC ไทย-กัมพูชา ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ หลังจากแต่งตั้งเสร็จ ต้องใช้มติ ครม. เพื่อวางโครงสร้างการเจรจา
“เข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศได้เสนอองค์ประกอบไปให้รัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่จะต้องมี JTC ชุดใหม่ ซึ่งผมคิดว่าอาจจะเป็นกติกา เป็นวิธีปฏิบัติว่ารัฐบาลใหม่ อาจจะต้องการองค์ประกอบของ JTC ที่แตกต่างจากรัฐบาลที่แล้ว”
และย้ำว่า ไทยจะไม่เสียเกาะกูดแน่นอน หากเดินตาม MOU44 ด้วยภูมิหลัง กัมพูชามีการลากเส้นเขตแดนทางทะเลเมื่อปี 2515 จากนั้นในปี 2516 ประเทศไทยก็ลากเส้นแดนซ้อนกัน ดังนั้นเมื่อพื้นที่ซ้อนกันก็จะตกลงกันว่าจะแบ่งเขตกันอย่างไร “จะเจรจา หรือรบกัน” ประเทศไทยก็เลือกการเจรจา
วันที่ 18 มิถุนายน 2544 ประเทศไทยและกัมพูชา ได้มีการตกลงกัน โดย ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นเป็นคนไปเซ็นรับกลไกเจรจาแบบ “ปาท่องโก๋ คือเจรจาแบบแพ็กเกจ” (เรื่องเขตแดน – เรื่องพัฒนาร่วม) เจรจาแบบแบ่งแยกกันไม่ได้ บนเส้นละติจูดที่ 11 ร่างเขตแดนและพัฒนาร่วม ต้องเจรจาไปพร้อมๆ กัน โดยกรรมการชุดเดียวกัน …จึงทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมเขตแดนถึงสำคัญ นั้นก็เพราะว่า “เราจะรู้พื้นที่พัฒนาร่วมก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเส้นเขตแดนมันลากไปอย่างไร”
ส่วนจะเจรจาอย่างไรทั้งในเรื่องของพื้นที่ทับซ้อน กับพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องเจรจาพร้อมกันหรือไม่ คิดว่ารัฐบาลในฐานะที่อยู่พรรคเพื่อไทยด้วย จะแนะนำกระทรวงต่างประเทศได้ และในฐานะประธานกรรมาธิการต่างประเทศ ควรจะเดินอย่างไร..
ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องเร่งตั้งคณะกรรมการกลไกในการเจรจา ที่มีทั้งฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายใน และระหว่างประเทศ เพื่อหาข้อยุติเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลให้เร็วที่สุด และจากการเดินทางเข้ามาของ “พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา” เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 กับคำแถลงของ “นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี”ระบุชัดเจน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจาทั้งสองเรื่องไปด้วยกัน
ส่วนสำคัญคือจะต้องรีบนำเอาน้ำมันและแก๊สขึ้นมาใช้ให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะไม่สามารถใช้ได้เนื่องด้วยพลังงานสะอาดจะเข้ามาแทนที่ในไม่ช้า และต้องโน้มน้าวและอธิบายข้อเท็จจริงให้ประชาชนเข้าใจ และห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อน
…ส่วนข้อสงสัยเมื่อ “นายทักษิณ ชินวัตร” สนิทกับ “สมเด็จฮุน เซน” รวมถึงการที่ “ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา” มาพบ “นายเศรษฐา ทวีสิน” และการที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตรเดินทางไปกัมพูชา มีอะไรทับซ้อนหรือไม่
นพดล บอกว่า มั่นใจว่าไม่มีอะไรทับซ้อน ไม่อยากให้มองว่าความสนิทสนม เท่ากับ “เกี้ยเซียะ” หรือลักลอบมีข้อตกลงทางผลประโยชน์ หรืออีกนัย “สนิทสนม เท่ากับ ทับซ้อน” แต่มองว่าความสนิทสนมจะทำให้การเจรจาง่ายขึ้น
เหมือนดาบสองคม หากการทูตแบบยึดตัวบุคคลเป็นหลัก จะมีปัญหาถ้าใช้เพื่อประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ใช้เพื่อที่จะทำให้บรรยากาศในการเจรจามันเป็นไปได้ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่ “เกี้ยเซียะ”…? นพดล อธิบายให้ฟังว่า การเจรจาที่มีคณะกรรมการด้านเทคนิค JTC ที่จะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อีกทั้งข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในการร่วมเจรจา เมื่อได้ข้อสรุปยังต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพรรคร่วมเพื่อพิจารณา ก่อนนำเข้ารัฐสภาอีกครั้ง ดังนั้นหากมีอะไรไม่ชอบมาพากล ส.ส.ฝ่ายค้าน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล ก็คงจะไม่ปล่อยผ่าน
“ผมคิดว่าถ้ามีผู้ดำเนินการด้านต่างประเทศที่มุ่งมั่น ผมว่าทำสำเร็จได้ โดยเฉพาะบรรยากาศในการพูดคุยกันค่อนข้างไปในทิศทางที่ดี เพราะมีทั้ง “สมเด็จฮุน เซน” “ฮุน มาเนต” “นายเศรษฐา ทวีสิน” “นายทักษิณ ชินวัตร” จะทำให้การคุยแบบเปิดอก เกิดความโปร่งใส และหาทางออกของปัญหานี้ได้”
ข้อกล่าวหาปฐมบท “คนขายชาติ”
ในขณะที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ “นพดล” ถูกกล่าวหาว่าทำให้เสียดินแดน กลายเป็นคนขายชาติ เนื่องจากขณะนั้นจะมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาท พระวิหาร วันที่ 7 กรกฎาคม 2551
“ผมก็บอกว่า ปราสาทเป็นของคุณตามคำตัดสินศาลโลก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 แต่คุณต้องตัดพื้นที่ทับซ้อนออกมา” ท้ายที่สุด ศาลยกฟ้อง และยังบอกว่าสิ่งที่ตนเองทำเป็นประโยชน์ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังถูกโจมตีในโซเชียล จึงมองว่า “เราต้องทำให้ประชาชนได้รู้ข้อเท็จจริง ส่วนเขาจะไม่ชอบหน้าเราไม่เป็นไร แต่ต้องบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่ถ้าเขาไม่ชอบหน้าเราเพราะว่าเกลียดรัฐบาลเพราะความเท็จ เราต้องรีบชี้แจง”
ในฐานะที่เป็นประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ” ยอมรับว่า การต่างประเทศเป็นงานที่ต้องใช้เวลาถึงจะเห็นผล ประชาชนอาจจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น แต่ได้ทำไปหลายเรื่องแล้ว ทั้ง การตรวจสอบและเร่งให้รัฐบาลเจรจา เพื่อหาข้อสรุปเขตการค้าเสรี กับ อียู การหารือกับทูตเกาหลีใต้เพื่อเพิ่มโควตาแรงงานที่ไปถูกกฎหมาย ลดปัญหาเรื่องผีน้อย
การดูแลเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน ,พูดคุยกับอุปทูตจีน เพื่อผลักดันรถไฟจีน ลาว ไทย ให้แล้วเสร็จทันกำหนดตามที่ตั้งเป้าไว้ปี 2571 ในเส้นทาง “กรุงเทพ – โคราช” แต่ขณะนี้เพิ่งดำเนินการไปเพียง 14 กิโลเมตร จาก 250 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าช้ามาก ส่วนทางกับนโยบายที่ประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์
ขณะที่การขันแข่งทางมหาอำนาจระหว่างอเมริกา กับ จีน ในประเทศไทย มีความสำคัญทั้งสองประเทศไม่สามารถเลือกได้ ซึ่งไทยต้องมีความเป็นกลางที่สมดุล สร้างสัมพันธ์อันดีในประเด็นที่ตอบโจทย์ของแต่ประเทศ เพื่อพัฒนาร่วมกันได้ สิ่งสำคัญต้องมองผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง
โดย 4 สิ่งสำคัญที่การต่างประเทศของไทยต้องมี คือ การยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ , เติบโตไปกับเพื่อนบ้าน ซึ่งสำคัญ คือ เพื่อนบ้านเราต้องดีก่อน เราต้องมั่นคงก่อน ดังนั้นปัญหาเมียนมาต้องแก้ไข เพราะจะโยงไปถึงการแก้ปัญหา PM2.5 ข้ามพรมแดน รวมถึงเรื่องยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ , “ต้องกินได้” คำว่ากินได้ คือประชาชนต้องได้ประโยชน์เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ และ ประเทศไทยจะต้องกลับมาสู่จอเรดาร์โลกโดยเป็นผู้สนับสนุนสันติภาพ และความมั่งคั่งในโลก
“ประวัติการทูตแบบซอฟต์พาวเวอร์ของไทยมีมาอย่างยาวนาน เสียดายช่วงหลังๆ เราหายไป เราต้องเริ่มใหม่ เริ่มจากการเจรจาหยุดการสู้รบในเมียนมา ถ้าเราแก้ไขได้ จะเป็นประโยชน์มาก ต้องทำงานต่อเนื่อง ต้องทำงานหนัก โน้มน้าวพูดคุย”นพดล ทิ้งท้าย
รายการคุยนอกกรอบ กับ “สุทธิชัย หยุ่น”ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00น.