ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้" เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เป้าเปิดบริการปี 71

เศรษฐกิจ
27 เม.ย. 67
10:04
3,347
Logo Thai PBS
"รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้" เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เป้าเปิดบริการปี 71
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)​ เส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้เชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ จ.นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2571

เครื่องหัวเจาะอุโมงค์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 เป็นวันแรก สำหรับแผนดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์ คาดว่า แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมกราคม 2569 โดยใช้หัวเจาะจำนวน 3 หัว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ซึ่งมีเส้นทางผ่านจุดสำคัญ หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 120,000 คน และสามารถแบ่งเบาการจราจรสอดคล้องกับนโยบายรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาทของรัฐบาล

ส่วนข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้าง ที่ผ่านมาบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) มีผลงานและมีมาตรฐาน และมี รฟม.ควบคุมดูแลเป็นไปตามขั้นตอน และขณะนี้ความคืบหน้าในการก่อสร้างเริ่มต้นในเดือน เม.ย.2565 และก่อสร้างเป็นไปได้ตามแผน มีแผนเปิดให้บริการปี 2570

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง นโยบายลดค่าทางด่วน เส้นทางงามวงศ์วาน-พระราม 9 นายสุริยะ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายค้านยินดีรับฟังยืนยันว่า เป็นการทำเพื่อประชาชนจำเป็นจะต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อทำให้ค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท

ขณะเดียวกันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก็ต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพราะจะมีรายได้ลดลง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในการลดค่าผ่านทาง จากเดิม กทพ.มีสัดส่วนร้อยละ 60 ผู้รับสัมปทานร้อยละ 40

ขณะเดียวกัน BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) โดยยืนยันว่า พร้อมชี้แจงและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชน ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทางรวมประมาณ 23.63 กิโลเมตร มีโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ 9.34 กิโลเมตรรวมสถานี 17 สถานี มีอาคารจอดแล้วจรที่สถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ ได้สามารถจอดรถได้ 2,000 คัน

สำหรับแผนดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์การขุดเจาะอุโมงค์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2567 เป็นต้นไป คาดว่า แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนม.ค.2569 โดยใช้หัวเจาะจำนวน 3 หัว

โดยหัวเจาะที่ 1 อุโมงค์ทางวิ่งไปทางทิศใต้ไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระยะทาง 5.89 กิโลเมตรกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ม.ค.2569

หัวเจาะที่ 2 เป็นอุโมงค์ทางวิ่งไปทางทิศเหนือไปถึงสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 3.49 กิโลเมตรกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2568

ส่วนหัวเจาะที่ 3 อุโมงค์ทางวิ่งไปทางทิศเหนือจากสถานีหอสมุดแห่งชาติไปถึงสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มดำเนินการในเดือนต.ค.2567 ระยะทาง 2.40 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จเดือน ก.ค.2568

ทั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดินที่มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียวและทราย ซึ่งมีแรงดันน้ำใต้ดินในชั้นทรายสูง พร้อมด้วยอุปกรณ์สนับสนุนอันประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิกส์เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้า - ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ และอุปกรณ์ระบายอากาศ มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2

โดยหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 15 - 35 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 - 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน รองรับการเดินทางของประชาชนจากจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร แบ่งเป็น โครงสร้างใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

รฟม. ได้เริ่มการก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ร้อยละ 30.45 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.06 (ณ สิ้นเดือน มี.ค.2567) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นอกจากนี้ รฟม. ยังได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ดำเนินการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้มีความกลมกลืนกับพื้นที่ เช่น สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กที่โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใช้บริการ

อ่านข่าวอื่น ๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยประชุม FOMC ปลายเม.ย.นี้ เฟดยังไม่ลดดอกเบี้ย

พาณิชย์เฟ้นหาสุดยอด ”หอมไทย-ข้าวสารแห่งปี” เจาะตลาดโลก

"แบงก์ชาติ" ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. แนะทบทวน "ดิจิทัล วอลเล็ต"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง