ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วันพืชมงคล" พระราชพิธีสำคัญคู่การเกษตรไทย ลุ้นพระโคจะกินอะไร 10 พ.ค.นี้

ไลฟ์สไตล์
29 เม.ย. 67
11:52
5,708
Logo Thai PBS
"วันพืชมงคล" พระราชพิธีสำคัญคู่การเกษตรไทย ลุ้นพระโคจะกินอะไร 10 พ.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ร่วมสืบสาน "พืชมงคล" ประเพณีสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน เพราะการเกษตรซึ่งมี "การทำนา" เป็นหลักนั้น คือสิ่งสำคัญแก่ชีวิต ความเป็นอยู่ และการเศรษฐกิจของประเทศทุกสมัย วันพืชมงคลปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.67

ไทยพีบีเอส ถ่ายทอดสด พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล 2567

ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ

  • พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ จะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้ลงมือไถนาเอง เป็นแต่เพียงเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเท่านั้น

ครั้งถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เหมือนกับสมัยกรุงสุโขทัย และจะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน แต่จะมอบอาญาสิทธิ์ให้ เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ โดยทรงทำเหมือนอย่างออกอำนาจจากกษัตริย์ ซึ่งวิธีนี้ได้ใช้ตลอดมาถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ผู้ทำการแรกนาเปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คู่กันกับการยืนชิงช้า แต่พอถึงรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดมีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงได้เริ่มมีขึ้น แต่บัดนั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

อ่านข่าวอื่น : เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ "วันฉัตรมงคล" 4 พฤษภาคม

ความมุ่งหมายพิธีแรกนา

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือน 6 ของทุกปี ระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ส่วนจะเป็นวันใดในเดือน 6 หรือเดือน พ.ค.ที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น

พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวโดยตำแหน่ง สำหรับเทพีทั้ง 4 พิจารณาคัดเลือก จากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตำแหน่ง ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทอง และคู่หาบเงินนั้น ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป

  • วันพืชมงคล ตรงกับ วันศุกร์ที่ 10 พ.ค.2567 
  • นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนางานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
  • เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.ปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ น.ส.ภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญ กรมส่งเสริมการเกษตร
  • เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.ธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญ กรมส่งเสริมการเกษตร และ น.ส.วราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร

พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือ บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่นๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด

อ่านข่าว : ถ่ายทอดสด พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันพืชมงคล 2567

บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่างๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่าน ในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และพระราชทานมาเข้าพระราชพิธีพืชมงคล

พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้ จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการ จะบรรจุซอง แล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้

อ่านข่าวอื่น : 25 เม.ย.2402 วันแรกเริ่มต้นขุด "คลองสุเอซ" ทางเชื่อมยุโรป-เอเชีย

พันธุ์ข้าวพระราชทาน

สำหรับปี 2567 กรมการข้าวได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่

  1. ข้าวเจ้าหอมขาวดอกมะลิ 105
  2. ข้าวเจ้า กข 43
  3. ข้าวเจ้า กข 81
  4. ข้าวเจ้า กข 85
  5. ข้าวเจ้า กข 83
  6. ข้าวเจ้า กข 95

พันธุ์ข้าวเหนียว 2 พันธุ์ ได้แก่

  1. พันธุ์ กข 6
  2. พันธุ์สันป่าตอง 1

น้ำหนักรวม 2,743 กิโลกรัม ซึ่งได้จากการปลูก ณ โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 และบรรจุซองพลาสติกแจกจ่าย เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย (การเสี่ยงทายผ้านุ่ง)

"ผ้านุ่งแต่งกาย" คือ ผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าลาย มีด้วยกัน 3 ผืน คือ 4 คืบ 5 คืบ และ 6 คืบ วางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งผืนเดิมอีกชั้นหนึ่งเพื่อเตรียมออกแรกนา โดยผ้านุ่งนี้ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

  • ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อยนาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อยนาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่

การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง

"ของกิน 7 สิ่ง" ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

  • ถ้าพระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
  • ถ้าพระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
  • ถ้าพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

อ่านข่าว: ดับร้อนแบบอิ่มท้อง! แนะกิน "ข้าวแช่" เมนูสมุนไพรฤทธิ์เย็น

คันไถอายุกว่า 28 ปี

คันไถที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 (28 ปี) โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้ในพระราชพิธีดังกล่าว เป็นคันไถที่ทำจากไม้สมอ ซึ่งชุดคันไถประกอบด้วย

  1. คันไถ
  2. แอกเทียมพระโค
  3. ฐานรอง
  4. ธงสามชาย

พระโคแรกนาขวัญ

พระโคในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี 2567 กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ

  1. พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ อายุ 12 ปี และ พระโคเพียง อายุ 12 ปี 
  2. พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม อายุ 14 ปี และ พระโคพูล อายุ 14 ปี 

พระโคแรกนาขวัญ และพระโคสำรอง ประจำปีนี้ เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า

อ่านข่าว : จนกว่าจะตายจากกัน! ผู้ป่วยแคดเมียม ลมหายใจสุดท้ายที่แม่ตาว

ที่มา : คณะทำงานชุดที่ 20 คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงานสื่อมวลชนในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2567 กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

อ่านข่าว :

แกะรอย มหกรรมโชว์กินข้าว 10 ปี กินได้จริงหรือ? ฤาหาทางลง

ส่องนัยการเมือง "ภูมิธรรม" ชิมข้าว 10 ปี ปูทาง "ยิ่งลักษณ์" กลับไทย

"สารรมควัน" ในเมล็ดข้าวสาร "ไม่เสื่อมสภาพ ตกค้าง ล้างไม่ออก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง