"โครงการรับจำนำข้าว" กลับมาได้รับความสนใจและถูกพูดถึงกันอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ "กินข้าวโชว์" เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ข้าวในโครงการรับจำนำข้าวที่เก็บในโกดัง จ.สุรินทร์ มานาน 10 ปี ยังสามารถบริโภคได้ และเป็นการันตีถึงคุณภาพของ "ข้าว" ในสต็อก แต่ก่อนนำมาหุ้งต้องผ่านการซาวน้ำถึง 15 ครั้ง
อ่านข่าว : ไขคำตอบ! "ข้าวสาร" เก็บได้นานแค่ไหน ?
ประเด็นนี้มีการตั้งคำถามจากประชาชน รวมถึงนักวิชาการถึง "คุณภาพข้าว" ที่เก็บมานานว่า "ปลอดภัย" และ "ได้คุณภาพ" จริงหรือไม่ ขณะที่ข้าวที่เก็บรักษาข้าวในโกดังจะต้องได้มาตรฐาน เป็นสถานที่ต้องมิดชิด เป็นโกดังปิด รวมไปถึงอาจต้องใช้วิธีการ "รมยา" ต่อเนื่องเพื่อปกป้องข้าวในคลังจากสิ่งรบกวน หนึ่งในนั้นคือ "มอด" และวิธีการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อน
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ข้าวเก่า 10 ปี หากตรวจสอบแล้วปลอดภัยก็เอามาทำประโยชน์ได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงนั้นคือ สาร "อะฟลาท็อกซิน" สารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก
สอดคล้องกับ รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยและวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้เช่นกัน โดยใจความสำคัญคือ พบว่ามีการวางกระสอบข้าวซ้อนทับกันภายในโกดัง โดยการเก็บข้าวซึ่งบรรจุในกระสอบป่าน มีโอกาสที่จะดูดซึมความชื้นได้ เมื่อวางซ้อนทับกันสูงมากจะยิ่งทำให้อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งส่งเสริมให้ข้าวดูดซึมน้ำกลับ
รวมถึงการวางซ้อนกันสูงเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถรมยาได้ทั่วถึง จึงทำให้มอดและแมลงเจริญเติบโตได้ ซึ่งมูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้ข้าวเน่าและได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว และ เม็ดข้าวที่ขึ้นราจะมี "สารอะฟลาท็อกซิน"
อ่านข่าว : ท้าส่ง "ตัวอย่างข้าว 10 ปี" พิสูจน์แล็บตรวจสารตกค้าง-โภชนาการ
วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับ "อะฟลาท็อกซิน" ให้มากขึ้นดีกว่า คืออะไร อันตรายแค่ไหน เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้อย่างไร
"สารอะฟลาท็อกซิน" มักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ อายุรศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับ "สารอะฟลาท็อกซิน" ไว้ว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้สารชนิดนี้ เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัม หากได้รับอย่างต่อเนื่องสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้
ทั้งนี้ สารอะฟลาท็อกซิน มักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม มีอะไรบ้างนั้นยกตัวอย่างได้ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
- ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- มันสำปะหลัง
- ผักและผลไม้อบแห้ง
- ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ
- มะพร้าวแห้ง
- หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง
- พริกแห้ง พริกไทย งา
สำหรับใครที่ได้รับ "สารอะฟลาท็อกซิน" ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก ๆ แต่จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว อธิบายอีกคือ การกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของ "เชื้อรา" แล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตัง ซึ่งอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มกังวล แล้วจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการป้องกันสารตัวนี้ วันนี้มีข้อแนะนำทำได้โดย
- เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด
- ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือ ชื้น
- ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
- นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัด ๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลง
สุดท้ายควรเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ และสังเกตทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารทุกอย่างเพื่อสุขภาพที่ดี
อ่านข่าว : ปิดเกาะปลิง! ไม่มีกำหนด ปะการังฟอกขาวหนัก
ยังสนุก ตื่นเช้า กทม.เมืองในฝัน “ชัชชาติ” ดันศูนย์กลาง Ecosystem