ยังต้องรอลุ้นอีก 15 วันนับจากนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ 40 สว.ที่ขอให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี แม้กรณีนี้ศาลจะไม่ได้สั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ก็ตาม
มติศาลรัฐธรรมนูญ 6:3 เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา “นายพรเพชร พิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
บีบแรง"ทักษิณ"อย่าล้ำเส้น
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหา วิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ว่า ในทางกฎหมาย นายกฯจะต้องชี้แจงภายใน 15 วัน และยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป แต่ในทางการเมืองประเมินว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการดึงเกม เพื่อที่จะให้อยู่ในเงื่อนไขเดิมของข้อตกลงระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับรัฐบาล เชื่อว่าลึก ๆ อำนาจเก่าอาจมีความต้องจะล้มรัฐบาล เพราะไม่ได้ไว้ใจสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ เพราะท่าทีของรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล ได้แสดงปฏิกิริยาที่จะทรยศมาเป็นระยะ ๆ จากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ยังไม่รวมโครงการที่จะพาน้องกลับบ้านในอนาคต
"ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ฝั่งอนุรักษ์นิยมวางกลยุทธ์แพ้และพลาดมาตลอด เช่น เรื่องสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็ปล่อยให้ สว.หมดอายุ จนไม่สามาถโหวตนายกได้ หรือตำแหน่งที่สำคัญๆในทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐต้องการที่ได้ เช่น รมช.กลาโหม ปรากฏว่า รัฐบาลไม่ให้เลย ผสมกับการโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นระยะ ๆ ของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่การอภิปราย เช่น พยายามจะบอกว่า ที่ นายทักษิณ กลับไทยได้ อย่าโทษรัฐบาลปัจจุบัน หรือกระทรวงยุติธรรมั้งหมดเกิดจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่างระเบียบรอไว้แล้ว"
ยังไม่รวมกับกรณีโครงการรับจำนำข้าว โดยนำข้าวสารเก่า 10 ปี มาหุงกินโชว์ โดยระบุว่าข้าวไม่ได้เน่าเสีย โดยรัฐบาลต้องการชี้ให้เห็นว่า เป็นข้าวการเมืองที่เกิดขึ้นมาจาก พล.อ.ประยุทธ์
ทั้งหมดนี้ คือ พยายามที่จะชิงความได้เปรียบ หรือการเข้าไปเทคโอเวอร์ พรรคพลังประชาชารัฐผ่าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือการออกมาฟาดนโยบายพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะเรื่องกัญชา จึงมองได้ว่า เป็นการเอาคืนของพรรคเพื่อไทย โดยที่ฝั่งอำนาจเก่าไม่สามารถทำอะไรได้เลย
"ซีกอำนาจเก่า ไม่มีความสามารถรัฐบาลได้ และหากจะตั้งรัฐบาลต้อง มี สส. ให้ได้ถึง 250 เสียง แต่ตอนนี้เขาทำไม่ได้ ยกเว้นจะต้องเล่นเกมแรงเพื่อยุบพรรคก้าวไกล แต่ก็ยุบไม่ได้ หากจะมายุบพรรคเพื่อไทยอีก ก็ทำไม่ได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีที่พื้นที่ให้พัก"
พลิกสู้ "โค้งสุดท้าย" ฝ่ายอนุรักษ์
ดังนั้นสถานการณ์ในขณะนี้จึงเป็นการดึงเกมยืดเยื้อ และต้องให้รบ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องทำตามในสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องการ คือ ให้ตำแหน่งรมช.กลาโหม กลับไป"
รศ.ดร.โอฬาร มองว่า ปฏิบัติการลับของ 40 สว.เป็นการวางแผนโค้งสุดท้าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คือ ความพยายามเฮือกสุดท้ายของฝ่ายอนุรักษ์ที่ต้อง การจะสอยนายกฯ คือ นายเศรษฐา ให้ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การบีบ นายทักษิณ ซึ่งต้องพิสูจน์และจับตาดูความเคลื่อนไหวหลังจากนี้ โดยลักษณะจะไม่แตกต่างจากการจับนายเศรษฐา เป็นตัวประกันไปก่อน
"แต่ถ้าไม่ได้ คิดว่าน่าจะเริ่มมีการยกระดับเกมแรงขึ้น เช่น ยุบพรรคก้าวไกล หรือยุบพรรคเพื่อไทย เพื่อให้คะแนนเทมาให้ฝ่ายอำนาจอนุรักษ์นิยม คือ หากจะได้เขาต้องมี สส.250 คนขึ้นไป แต่ตอนนี้มีไม่ถึง และหากขณะนี้จะให้พรรคเพื่อไทย ยกให้ฝั่งพรรคภูมิใจไทย คือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล หรือว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายทักษิณคงไม่ยอม ยกเว้นต้องตีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลให้แตก เพื่อให้มี สส.งูเห่า มารวมกัน ในซีกของฝั่งอำนาจเก่า นี่คือ ไม้ตายสุดท้ายของกลุ่มอนุรักษ์นิยม"
ไม้ตายเปลี่ยน "อุ๊งอิ๊ง" นายกฯ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากนี้หากศาลฯชี้ว่า ไม่มีความผิด และนายเศรษฐา รอดจากคำวินิจฉัย ก็แสดงว่า อำนาจการต่อรองของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจบแล้ว หรือเรียกกว่า แพ้ในเกม และชัยชนะทั้งหมดจะอยู่ที่นายทักษิณและพรรคเพื่อไทย ถือเป็นจุดจบของฝ่ายอนุรักษ์ที่ถูกหักหลัง
แต่ถ้านายเศรษฐา ไม่รอด เปลี่ยนตัวนายกฯเป็น "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ก็จะอยู่ในเงื่อนไข ตกกลายเป็นตัวประกันทางการเมืองทันที และพรรคเพื่อไทยต้องยอมทำตามในสิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการ
"เกรงว่า การทอดระยะเวลาออกไปจะทำให้กลุ่มอำนาจเก่าไม่ไว้ใจนายทักษิณอีกแล้ว เพราะตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาล นายทักษิณล้ำเส้นและทำเขาเจ็บเยอะ ดังนั้นจึงต้องประวิงเวลา เพื่อให้ฝ่ายตนเองมีความพร้อม และระหว่างที่รอจัดการนายเศรษฐา ก็รอจังหวะยุบพรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลด้วย"
รศ.ดร.โอฬาร บอกว่า สำหรับคดีการยุบพรรคก้าวไกลนั้น มีความเป็นไปได้สูง ก่อนที่จะถึงคิวของพรรคเพื่อไทย และเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลถูกยุบ ก็จะทำให้มี สส.งูเห่า ไปอยู่กับซีกรัฐบาล เพราะอย่างน้อยจะได้มีเงินสำรอง เก็บไว้ 40-50 ล้านบาท สำหรับอนาคตทางการเมืองที่ไม่แน่นอน บางคนอาจคิดเอาเงินไว้ก่อน
สถานการณ์การเมืองขณะนี้ น่ากลัว เป็นสามเหลี่ยมรณะ 2 ขั้ว 3 ข้าง สามารถหักหลังกันได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาความขัดแย้งหลัก ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดจากอำนาจที่ร่วมมือและหักหลังกัน ในปัจจุบันมี 3 ขั้ว คือ กลุ่มอำนาจเก่า ทักษิณและก้าวไกล ใครหักหลังใครก่อน คือ ผู้ชนะ
โอกาสเปิด "เพื่อไทย"-"ก้าวไกล" หักขั้วอนุรักษ์
"ผมเชื่อว่า นายทักษิณ รู้ตั้งแต่ทำดีลครั้งแรกแล้ว ขณะที่ผู้ไปทำดีลกับนายทักษิณ มีประสบการณ์และชั้นเชิงทางการเมืองสู้นายทักษิณไม่ได้...ไม่เช่นนั้นเขาไม่กล้าเดิมเกมล้ำเส้นแบบนี้ เพราะเขารู้ดีว่า กลุ่มอำนาจเก่าหมดสภาพ อย่างไรก็ต้องพึ่งพาเขา เพราะพรรคเก่า ๆ เดิม ๆ ที่มีอยู่ไปไม่รอด หากยังอยาก อยู่ให้ได้ก็ต้องอาศัยพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อไทยก็ไม่ได้เป็นแบบพรรคการเมืองในอดีตที่สามารถเข้าไปใช้ได้ง่าย ๆ"
ส่วนในอนาคตมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะจับมือกัน รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า นี่คือโอกาส ในทางยุทธศาสตร์ หากพรรคเพื่อไทยจะหักกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมจริง ๆ โดยพรรคก้าวไกล หากถูกยุบก็ไปตั้งพรรคใหม่และผนึกกำลังกับพรรคเพื่อไทย ด้วยการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถือโอกาส ปรับ ครม.ใหม่
ผลักพรรคภูมิใจไทยและพรรคร่วมอื่น ๆ ออก ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งใหม่
"ตรงนี้มีโอกาสสูงมาก ถ้าจะหลอกกลุ่มอำนาจเก่าอีกชั้น โดยตั้ง "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร เป็นนายกฯและถือโอกาสเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งจะทำให้เพื่อไทย เรียกคะแนนนิยมกลับมาได้ เป็นเกมฉีกสัญญาปีศาจ ซึ่งทำยากกว่าเกมที่ฉีกสัญญากับพรรคก้าวไกล ต้องยอมรับว่า การเมืองของกลุ่มอำนาจเก่าวางกลไกไว้เยอะ ดังนั้นการเมืองไทยจึงต้องมองยาว ๆ
และต้องเชื่อว่า การเมือง คือ ความเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะเป็นไปได้ทางการเมือง
นักวิชาการคนเดิม ย้ำว่า หลังจากนี้อีก 15 วันนี้ ต้องจับตามองว่า นายเศรษฐาจะชี้แจงอย่างไร และต้องดูระยะเวลาในการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของศาลรัฐธรรม นูญว่า ผลของการชี้แจงจะออกมาอย่างไร จะผิดหรือไม่ แต่ทั้งหมดอยากบอกประชาชนว่า ขออย่าวิตก และให้ติดตามเหมือนดูซีรีส์การเมือง เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการเมืองของชนชั้นนำที่ทะเลาะกันและยังไม่สมประโยชน์ จึงไม่ควรเอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา
ส่วนรัฐประหารจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้น รศ.ดร.โอฬาร บอกว่า หากประชาชนมองว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ อาจไม่เกิดขึ้นง่าย และเชื่อผู้นำเหล่าทัพก็คงไม่อยากเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครอีกแล้ว สังเกตจากปฏิกิริยาของกองทัพในเรื่องการแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ว่า ทหารนิ่งมาก แต่ทั้งหมดนี้ ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้
อ่านข่าว : ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว.ยื่นถอด "เศรษฐา" ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
เปิดครัว คปท.-กองทัพธรรม-ศปปส.ขยับสอบรัฐบาล “ไล่-ไม่ไล่” อุณหภูมิจะนำทาง
"โรม" ชี้ตั้ง "พิชิต" นั่ง รมต.มีปัญหาแน่ มอง "เศรษฐา" ไม่ทันเกมการเมือง