วันนี้ (27 พ.ค.2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า ทูตจากประเทศในแอฟริกา สอบถามกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรื่องข้าว 10 ปีนั้น
ล่าสุด รมว.ต่างประเทศของไทย จะพบปะกับทูตแอฟริกา ซึ่งจะเป็นโอกาสในการชี้แจงในเรื่องนี้ ตามข้อเท็จจริง ซึ่งมีหลักฐานการตรวจสอบคุณภาพข้าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งผลการตรวจจากภาคเอกชนที่น่าเชื่อถือ
ดังนั้นจึงเชื่อว่า ทางแอฟริกาจะเข้าใจและไม่มีปัญหา ขอยืนยันว่าก่อนส่งออกข้าวทุกเม็ดต้องได้มาตรฐานก่อนส่งออก
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์
ผมว่าไทยมีความจริงใจต่อประเทศคู่ค้า การชี้แจงโดยมีหลักฐานทางการแพทย์ไปสนับสนุน ผมว่าคงไม่มีปัญหา และสิ่งที่เขากังวลว่า ไทยจะเอาข้าวไปขายเขาอย่างเดียวไม่ใช่ เราเปิดทั้งหมดอยู่แล้ว เอกชนก็ปรับถ้าอยากจะทำข้าวถุง ถ้ายอมแต่ตรงนี้ก็ต้องค่อย ๆคุย เดี๋ยวก็เกิดดรามาว่า เอาข้าวถุงมาให้คนไทยกิน มาตั้งคำถามแล้วสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคม
นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า การพูดถึงข้าวค้างสต็อก 10 ปีนั้น ประเด็นนี้ เกิดจากผลของการด้อยค่าประเทศตัวเอง และด้อยค่าข้าวไทย ซึ่งเรื่องข้าวมีการตรวจสอบแล้วตามข้อกังวล เพราะมีการจัดเก็บไว้นาน ซึ่งคุณภาพยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จะเป็นข้าวกี่ปีก็สามารถขายได้
ปริมาณข้าว เพียง 15,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเราคนไทยด้วยกันเองมาด้อยค่ากันเอง ทำมีปัญหาได้ ความจริงถ้ารอให้มีข้อเท็จจริงมากกว่านี้แล้วค่อยพูดน่าจะดีกว่า เพราะเป็นผลประโยชน์ของประเทศไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ตนพูดเพียงว่า ตลาดแอฟริกาเป็นตลาดที่นิยมข้าวเก่า แต่การเปิดประมูลครั้งนี้ ล่าสุด อคส. ได้ประกาศโออาร์การจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่1/2567 โดยกำหนดยื่นซอง วันที่ 10 มิ.ย. 2567
หลังจากนั้น อคส.จะตรวจสอบคุณสมบัติ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 13 มิ.ย.2567 ผู้ผ่านคุณสมบัติยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 17 มิ.ย.2567 และเปิดให้ดูตัวอย่างข้าว ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.-7 มิ.ย.2567 (ยกเว้นวันที่ 3 มิ.ย.) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
ทั้งนี้ไม่อยากให้เกิดกรณีแบบที่ผ่านมาอีก เพราะควรจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ว่าไทยข้าวสามารถบริโภคได้ มีการพิสูจน์มาแล้ว และก่อนการส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ ก็จะดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานก่อนส่งออกอยู่แล้ว เชื่อว่า คนมาประมูล ก็ต้องมั่นใจแล้วถึงจะเข้าร่วมการประมูล
ประเทศที่มาประมูลคงไม่มาเอาของที่ไม่ดีกลับไป เขาก็ต้องมาประมูลของที่ดีกลับไป เขาก็มีการตรวจสอบ ว่าเข้ามั่นใจ ดังนั้นอย่าไปกังวล กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าวของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลก
ทั้งนี้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กระทรวงพาณิชย์มีการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 ซึ่งกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้ชัดเจน
ดังนั้น ข้าวหอมมะลิที่จะนำไปส่งออก จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานก่อน หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะไม่มีการออกใบรับรอง และไม่สามารถส่งออกได้
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ เริ่มจากเมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย และต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า
โดยมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าไปสุ่มกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) และเมื่อผลการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะออกใบรับรองให้ผู้ส่งออกไปประกอบพิธีการศุลกากร เพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยได้
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบได้กำหนดให้ตรวจสอบ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะตรวจ ณ สถานที่ส่งออก เริ่มจากการสุ่มตัวอย่าง โดยสุ่มจากกองสินค้าเพื่อให้ได้ตัวอย่างสินค้าที่ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด ในกรณีสินค้าบรรจุกระสอบ จะสุ่มชักตัวอย่างทุกกระสอบ และนำมาตรวจทางกายภาพ ตรวจความบริสุทธิ์ของข้าวว่ามีข้าวชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปลอมปนหรือไม่ ตรวจขนาดความยาวของเมล็ด สีของเมล็ด สิ่งเจือปน และความชื้น เป็นต้น
โดยจะตรวจทุก 200 ตัน ที่มีการตรวจปล่อย เช่น สินค้า 1,000 ตัน จะตรวจทางกายภาพ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และยังจะเก็บตัวอย่างเอาไว้ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
สำหรับครั้งที่ 2 จะตรวจหาค่าต่าง ๆ เหมือนกับการตรวจ ณ สถานที่ส่งออก แต่จะใช้เวลาตรวจสอบมากกว่า เนื่องจากใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจเพิ่มในบางรายการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจความนุ่มโดยการหาค่าอมิโลส และการตรวจความบริสุทธิ์โดยการสลายเมล็ดข้าวในด่าง เป็นต้น ส่วนการตรวจสารตกค้าง จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะให้ตรวจหรือไม่อย่างไร เป็นกรณีๆ ไป
สำหรับข้าวที่จะนำมาประมูลข้าวสต๊อก 10 ปีแบ่งเป็น 1.คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100 %) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.2557 ถึง 10 มี.ค.2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 2 เดือน รวมปริมาณทั้งสิ้น 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้มีการระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ
2.คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รับมอบข้าวสารตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2557 ถึง 29 เม.ย. 2557 เก็บข้าวแล้ว 10 ปี 7 วัน มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ จาก 6 โรงสี ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบเป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงาน ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่า ข้าวจะถูกนำมาจำหน่ายในประเทศ เพราะเป็นการเปิดประมูลทั่วไป ผู้ซื้อจะนำข้าวไปขายในประเทศหรือส่งออกก็ได้ ซึ่งการจำหน่ายในประเทศ กรมการค้าภายใน มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลุบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศไว้ชัดเจนเช่นเดียวกัน หากไม่ผ่านมาตรฐาน ก็จะไม่อนุญาตให้ใช้ตรารับรอง หรือหากสุ่มตรวจแล้ว พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะตักเตือน พักใช้ หรือเพิกถอนการใช้ตรารับรองก็ได้
อ่านข่าว: ย้อนรอย มหากาพย์ "โครงการจำนำข้าว" ปิดฉากฟอกข้าว 10 ปี