วันนี้ (30 พ.ค.2567) ที่ที่ว่าการอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย มีการจัดพิธีมอบบัตรประชาชนให้แก่ “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” จำนวน 71 คน ซึ่งมีเชื้อสายไทลื้อ และจีนอพยพ และจีนคณะชาติ
ทั้งหมดนี้เป็นผู้ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้แปลงสัญชาติเป็นไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2567 มีประธานในพิธี คือ นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เป็นผู้มอบบัตรประชาชน พร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ
นายณรงค์พล กล่าวว่า ขอให้ทุกท่านตระหนักในศีลธรรมอันดี เคารพในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข ประกอบอาชีพสุจริตและปฏิบัติตามกฎหมายของไทย
วันนี้เป็นวันมอบบัตรประชาชนให้ผู้เฒ่ามากที่สุด รอบนี้มีรายชื่อผู้ได้รับมอบบัตรประชาชนไทยของ อ.แม่สาย ทั้งสิ้น 72 คน มีอายุมากกว่า 70 ปี จำนวน 6 คน แต่เสียชีวิตไปก่อน 1 คน ก่อนที่จะได้ถ่ายบัตรประชาชน ขอให้ทุกคนได้เป็นคนไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
ทั้งนี้บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปอย่างแช่มชื่น ผู้เฒ่าต่างสวมเสื้อสีเหลืองมาอย่างพร้อมเพรียง สีหน้าชื่นบานในโอกาสที่ได้เป็นคนไทยวันแรก มีลูกหลานมาแสดงความยินดีกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
นางคำ ทองใจ อายุ 70 ปี ชาวบ้านเวียงพางคำ อ.แม่สาย กล่าวว่าตนได้อพยพมาอยู่ อ.แม่สาย ตั้งตอนสาวๆ อายุประมาณยังไม่ถึง 30 ปี มาทำงานทำสวน รับจ้างต่างๆ ค่าแรงวันละ 15 บาท พอซื้อข้าวเลี้ยงดูชีวิตได้ มีชีวิตมีครอบครัว เลี้ยงลูก 7 คนเป็นคนไทยที่ดีทุกคน
มาร่วมพิธีมอบบัตรวันนี้รู้สึกตื่นเต้นดีใจมากๆ ได้บัตรประชาชน ได้เป็นคนไทยแล้ว ได้บัตรประจำตัว เป็นคนไทย จะไปเที่ยวกับลูกหลาน ไปที่ไหนก็ไปได้หมด นางคำ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
นายแก้ว จันทร์พร ชาวอำเภอแม่สาย อายุ 76 ปี กล่าวว่า ตนอพยพมาจากสิบสองปันนา ขี่ม้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ อ.แม่สายได้ 58 ปี แล้ว ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมไทยลื้อจังหวัดเชียงราย
ได้พยายามผลักดันแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งเดิมต้องมีหลักฐานการเสียภาษีสำหรับต่างด้าว ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับชาวบ้านอย่างตน ต่อมาได้ร่วมกับนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิก จ.เชียงราย จนสามารถแก้ระเบียบการแปลงสัญชาติสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถเข้าถึงกระบวนการแปลงสัญชาติได้
วันนี้ดีใจมากได้เป็นคนไทยเต็มร้อย ก่อนหน้านี้เราเป็นต่างด้าว ทั้งๆ ที่อยู่บนแผ่นดินไทยมาโดยตลอด อยากให้ลดระบุเวลาดำเนินการ ที่ขณะนี้กำหนดระยะเวลา 730 ยาวนานเกินไปสำหรับคนแก่ หากลดระยะเวลาขั้นตอนการแปลงสัญชาติลงเหลือสัก 1 ปีก็จะช่วยได้มาก
น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า การผลักดันการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติวันนี้ สามารถเห็นรอยยิ้มของผู้เฒ่าที่ได้เป็นคนไทยในวันบันปลาย
ท่านเหล่านี้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย กลมกลืนกับสังคมไทย มีลูกหลานเป็นประชาชนไทย สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย แต่ตนยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสุขภาวะ
ขณะนี้ยังมีอีกกลุ่ม คือผู้ขอแปลงสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติไทย อีก 408 คน เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ (อ.เชียงดาว อ.ฝาง อ.เวียงแหง อ.สันทราย)
จ.เชียงราย (อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่สรวย อ.เชียงของ) จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก (อ.แม่สอด) จ.หนองคาย ซึ่งหวังว่า จะมีการดำเนินการโดยเร็วเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้ใน จ.เชียงราย มีกลุ่มผู้สูงอายุไร้สัญชาติ อายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนรวม 16,598 คน
เลขาธิการมูลนิธิพชภ. กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุมีเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีคุณสมบัติ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 สามารถยื่นขอแปลงสัญชาติได้ แต่ขั้นตอนการพิจารณามีขั้นตอนที่ซับซ้อนถึง 14 ขั้นตอน ใช้เวลานาน และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายแห่ง
รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้มีกฎหมายเฉพาะเพื่อผู้เฒ่ากลุ่มนี้จะได้รับสิทธิ์เป็นพลเมืองไทย ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเฉพาะระดับพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวง และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง
อ่านข่าว : สุดเศร้า “จิงโจแดง” หลุดกรงจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ตายแล้ว
"แป้ง นาโหนด" แกล้งใบ้ ถือพาสปอร์ตปลอม "ทวี" ยันจับได้ขณะเที่ยวบาหลี
วันงดสูบบุหรี่โลก 2567 : ทำลายสมอง ก่อมะเร็ง ร่วมปกป้องเยาวชนจาก "บุหรี่ไฟฟ้า"