ยินยอมหรือไม่ก็ห้ามทำ! 10 ข้อต้องระวังไม่กระทำต่อเด็ก

สังคม
4 มิ.ย. 67
15:29
1,123
Logo Thai PBS
ยินยอมหรือไม่ก็ห้ามทำ! 10 ข้อต้องระวังไม่กระทำต่อเด็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"สิทธิเด็ก" เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่มีผู้ใดสามารถตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิได้ ในฐานะ "ผู้ใหญ่" ทุกคนจึงควรตระหนักเข้าใจอย่างถูกต้อง และทำประโยชน์ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

ขยายมุมมองของโลกที่มีต่อการคุ้มครองและดูแลสิทธิเด็กก่อน โดยเริ่มจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีทั้งหมด 54 ข้อ ใจความสำคัญเรื่องสิทธิเด็ก 4 ประเภท ซึ่งอนุสัญญาฯ นี้เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดถึง 196 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศไทยเป็น 1 ในภาคีสมาชิก และมีผลบังคับใช้ในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

รู้จักสิทธิเด็ก 4 ประเภท

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) 

คือสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการสาธารณสุข โภชนาการ และความเป็นอยู่ที่ได้มาตรฐาน

2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)

คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิดและการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ การใช้สารเสพติด และการค้ามนุษย์

3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)

คือสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐานทุกรูปแบบ การส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงโอกาสในการเติบโตอย่างสามารถพึ่งพาตนเองได้

4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)

คือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี การได้รับข้อมูลข่าวสาร การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง

อ่านข่าว : ครอบครัว "เชื่อมจิต" บุกพม.ยื่นคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก 8 ขวบ

10 ข้อห้ามทำป้องกันทารุณกรรม-แสวงหาผลประโยชน์เด็ก

ส่วนในประเทศไทยยังมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่จัดทำขึ้นเพื่อบังคับใช้คุ้มครองเด็กให้ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม รวมถึงป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ตามมาตรา 26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

  1. กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
  2. จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
  3. บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
  4. โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
  5. บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
  6. ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการ
    เจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
  7. บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
  8. ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
  9. บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระท าการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
  10. จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 78

อ่านข่าว : ศาลนัด 17 มิ.ย."เชื่อมจิต" พม.ห้ามนำเด็ก 8 ขวบหาประโยชน์

3 เสาสำคัญ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2564

หลักการ แนวทางและมาตรการสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กฎหมายฉบับนี้วาง 3 ระบบสำคัญเพื่อการสงเคราะห์และคุ้มครองเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูหรือปฏิบัติโดยไม่เหมาะสมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

1. การสงเคราะห์ การสงเคราะห์หรือช่วยเหลือเด็กให้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและมีพัฒนาการที่เหมาะสม ตามมาตรฐานการเลี้ยงดูขั้นต่ำ สำหรับเด็กที่ประสบความยากลำบาก เช่น ขาดผู้ดูแลตกทุกข์ได้ยาก ไร้ที่พึ่ง กำพร้า ถูกทอดทิ้งรวมถึงเด็กที่มีพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่อยู่ในภาวะที่อาจเลี้ยงดูเด็กได้ เช่น พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ติดคุก พ่อแม่ที่ติดสุรา ยาเสพติด พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อเด็ก เป็นต้น

เด็กเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐในการเลี้ยงดู อบรม ฝึกอาชีพ หรือบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางร่างกายและจิตใจ และครอบครัวให้สามารถกลับมาอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเป็นปกติสุข และมีความปลอดภัย และวิธีการสงเคราะห์เด็กตามมาตรา 33

2. การคุ้มครองสวัสดิภาพ มุ่งเน้นการเข้าคุ้มครองเด็กที่น่าจะอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง จะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพจากการเลี้ยงดูโดยมิชอบ หรือการกระทำโดยมิชอบของบุคคลใดก็ตามในสังคม เช่น การถูกกระทำรุนแรง ทารุณ กักขัง หรือทำร้ายทั้งทางจิตใจ ร่างกาย รวมทั้งเด็กที่มีความประพฤติหรือเสี่ยงที่จะกระทำผิด

โดยการคุ้มครองนี้จำเป็นต้องอาศัยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อยุติการละเมิดนั้นเป็นการเร่งด่วน และประชุมหารือร่วมกับทีมสหวิขาชีพ และผู้เกี่ยวข้องเพื่อการรวบรวมข้อมูลสำคัญ และร่วมกันวางแผนแนวทางแก้ไข เยียวยา ฟื้นฟู เด็กที่อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้น และดำเนินการตามกฎหมายเพื่อการลงโทษผู้กระทำผิด

3. การส่งเสริมความประพฤติ นักเรียนและนักศึกษามุ่งเน้นมาตรการเชิงบวกเพื่อพัฒนาให้นักเรียน นักศึกษา มีความประพฤติที่เหมาะสม และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ปราศจากความเสี่ยงต่อชีวิต ร่างกาย สิทธิเสรีภาพต่อตนเองและผู้อื่น

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การปฏิบัติต่อเด็กให้คำนึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ผู้ใดพบเห็นเด็กตกอยู่ในสภาพจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ จะต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามมาตรา 24 โดยมิชักช้าและระบุให้บุคคลต่าง ๆ ต้องดำเนินการช่วยเหลือเด็กโดยเร็ว

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 24 กำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนายอำเภอ ปลัดอำเภอ มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ไม่ว่าเด็กจะมีผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม และเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย นั่นหมายความว่า หากปรากฏเหตุว่ามีเด็กถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน หรือถูกทำร้าย พนักงานฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่

  1. ในการเข้าไปดูแลและคุ้มครองเด็กนั้น
  2. เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใดๆ ในกรณีที่เกิดข้อส่งสัยว่ามีการทารุณกรรมเด็ก
  3. ซักถามเด็กเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ มอบตัวเด็กให้แก่ผู้ปกครอง แนะนำตักเตือนผู้ปกครองให้ดูแล อุปการะเลี้ยงดูเด็กในทางที่ถูกต้อง

ยิ่งไปกว่านั้น หากพนักงานฝ่ายปกครองพบว่า เด็กไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้ปกครองได้เนื่องจากเกิดอันตรายต่อตัวเด็ก หรือตัวผู้ปกครอง กฎหมายยังกำหนดให้เด็กพึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยการส่งตัวไปสถานแรกรับ หรือสถานอื่นใด เพื่อหาวิธีคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสม โดยมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดให้เด็กในกลุ่มต่อไปนี้ พึงได้รับความคุ้มครอง

  1. เด็กที่ถูกทารุณกรรม
  2. เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด
  3. เด็กที่อยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ที่มา : พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ

อ่านข่าวอื่น :

"วิษณุ" ปัดนั่งเก้าอี้รัฐบาลเพื่อไทยแลกเปลี่ยนไตฟรี

ตร.แยกฝากขัง ภรรยา-2 ผู้ต้องหา "คดีเสี่ยต้น" ค้านประกันตัว

"ทวี" เผย ยังมีผู้ต้องหาคดีการเมือง-ม.112 กว่า 20 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง