เมื่อมหาสมุทร "สุขภาพดี" มนุษย์ย่อมอยู่รอด

ไลฟ์สไตล์
7 มิ.ย. 67
09:09
177
Logo Thai PBS
เมื่อมหาสมุทร "สุขภาพดี" มนุษย์ย่อมอยู่รอด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกล่าวว่ามหาสมุทรที่สุขภาพดี จะเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ วันมหาสมุทรโลก 2024 จึงตั้งธีมว่า "เร่งดำเนินการเพื่อมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศของเรา"

วันมหาสมุทรโลก ตรงกับวันที่ 8 มิ.ย.ของทุกปี ก่อตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2008 เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทรและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก สำหรับธีมในปีนี้คือ Catalyzing Action for Our Ocean & Climate หรือ เร่งดำเนินการเพื่อมหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศของเรา

ความสำคัญของมหาสมุทร

มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศอย่างมากมาย ได้แก่ การผลิตออกซิเจน ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มหาสมุทรยังควบคุมคุณภาพอากาศโลก ดูดซับความร้อนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจ มหาสมุทรควบคุมสภาพอากาศ ผลิตออกซิเจนให้กับคนครึ่งโลก ปลาจากมหาสมุทรเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับคนหลายพันล้าน

พูดง่าย ๆ ถ้ามหาสมุทรมีสุขภาพดี มนุษย์ก็ย่อมอยู่รอดและดำรงชีวิตต่อไปได้

ปัญหาใหญ่ในทะเลหลวง

ความสำคัญของมหาสมุทรนั้นใหญ่พอ ๆ กับปัญหาที่มหาสมุทรกำลังเผชิญ ทั้งเรื่องของมลพิษทางน้ำ การทิ้งขยะพลาสติก สารเคมีลงทะเล การประมงที่เกินขนาด จำนวนประชากรสัตว์ทะเลลดลง และปัญหาที่ถือเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดในยุคนี้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทำให้สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก 

ส่วนสำคัญในมหาสมุทรที่โลกต้องหันกลับมาให้ความสนใจจริง ๆ คือ "ทะเลหลวง" พื้นที่ที่ "อยู่นอกสายตาและไร้การดูแล" มานานแสนนาน โลกเปิดเสรีให้มีกิจกรรมที่ทุกคนบนโลกทำได้บนน่านน้ำทะเลหลวง ทั้งเดินเรือ ประมง วางสายและท่อใต้ทะเล หรือแม้กระทั่งบินเหนือน่านฟ้าทะเลหลวง แต่พื้นที่ที่กินอาณาบริเวณกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลกนี้ กลับไร้ความพยายามปกป้อง ดูแล จากผู้ที่หยิบเอาแต่ผลประโยชน์ไปแม้แต่หน่อย   

"ทะเลหลวง (High Sea)" คือส่วนทั้งหมดของทะเลที่ไม่รวมอยู่ในทะเลอาณาเขตหรือในน่านน้ำภายในของรัฐ เปิดให้แก่ชาติทั้งปวง ไม่มีรัฐใดอ้างสิทธิที่จะทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของทะเลหลวงตกอยู่ในอธิปไตยของตนได้ ซึ่งพื้นที่ทะเลหลวงนี้กินอาณาเขตมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่โลก ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่บริเวณทะเลหลวงมีทั้ง ปะการังทะเลน้ำลึก วาฬ ปลาและสัตว์ทะเลอื่น ๆ 

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มนุษย์ทุกคนอยากมีสุขภาพที่ดี มหาสมุทรก็เช่นกัน มหาสมุทรที่มีสุขภาพดีจะเป็นบ่อเกิดสภาพอากาศที่ดี เราขอเรียกร้องการดำเนินการที่เข้มแข็งจากระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติเพื่อดูแลมหาสมุทร 

รักษ์มหาสมุทรเริ่มต้นได้จากมือเรา

  • อาบน้ำให้ไวขึ้น : การลดเวลาอาบน้ำลงเพียง 1 นาที สามารถประหยัดน้ำได้ 8 ลิตร
  • ใช้ถังรองน้ำฝนสำรองน้ำไว้รดน้ำต้นไม้ หรือซักผ้า
  • กำหนดวันซักผ้า ซักต่อเมื่อผ้าเต็มถัง
  • ปิดน้ำขณะแปรงฟัน สามารถประหยัดน้ำ ได้มากถึง 30 ลิตร/วัน

นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการกันว่าในแต่ละปีจะมีพลาสติกประมาณ 1.7 ล้านตันถูกทิ้งลงมหาสมุทร ของเสียนี้ส่งผลร้ายแรงต่อสัตว์ทะเลและสร้างความเสียหายต่อโลก ทั้งนก โลมา วาฬ เต่า ที่กินพลาสติกและตายจากพลาสติกคลุมตัวจนหายใจไม่ออก อนุภาคเล็กๆ ของพลาสติกที่เรียกว่าไมโครพลาสติก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงสำหรับสัตว์ทะเลได้ เราสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ ดังนี้

  • งดการใช้หลอดพลาสติก ให้เปลี่ยนเป็นการใช้หลอดแบบใช้ซ้ำได้แทน
  • พกขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขวดน้ำแบบใช้ครั้งเดียวสามารถฆ่าสัตว์ทะเลได้ประมาณ 1.1 ล้านตัว/ปี 
  • งดการขอช้อน-ส้อมพลาสติกเมื่อสั่งอาหารกลับบ้าน

อ่านข่าวอื่น :

5 วิธีลด "ขยะพลาสติก" ลดภาวะโลกเดือด

ลดโลกร้อน เริ่มต้นจาก "จานอาหาร" ของเรา

อากาศแปรปรวนจ่อเผชิญ "ลานีญา" ระวัง "ฝนตกหนักสุดขั้ว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง