เส้นทางกลับไทย "วัฒนา" เจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ยัง (ไม่) ไกลเกินหวัง

การเมือง
10 มิ.ย. 67
18:06
6,474
Logo Thai PBS
เส้นทางกลับไทย "วัฒนา" เจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ยัง (ไม่) ไกลเกินหวัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ อดีตเจ้าพ่อกรรมกร "วัฒนา อัศวเหม" เจ้าของฉายา "เจ้าพ่อปากน้ำ" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงมหาดไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ อดีตหัวหน้าพรรคราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ 11 สมัย ในวัย 87 ปีจะเดินทางกลับประเทศไทยได้ในเร็ววัน

นับตั้งแต่หลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2551 ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินและโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ ออกโฉนดที่ดินใน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ให้กับ บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเมนท์ฯ

คดีดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 โดยคดีมีอายุความ 15 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา และขณะนี้คดีดังกล่าวได้หมดอายุความลงแล้ว

แต่สำหรับคดีความผิดต่อหน้าที่ราชการ หมายเลขดำที่ 254/2547 เป็นครั้งที่ 2 กรณีที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวัฒนา กับพวกรวม 19 คน ในความผิดฐานฉ้อโกงซื้อที่ดิน และสัญญาโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ยังอยู่ในอายุความ

นายชนะ หงวนงามศรี เข้าพบนายวัฒนา อัศวเหม

นายชนะ หงวนงามศรี เข้าพบนายวัฒนา อัศวเหม

นายชนะ หงวนงามศรี เข้าพบนายวัฒนา อัศวเหม

นายวัฒนา เป็นจำเลยที่ 19 ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 3 ปี คดีนี้มีอายุความ 10 ปี และจะหมดอายุความในปี 2571 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งหากนายวัฒนา จะรอให้คดีหมดอายุความแล้วจึงกลับเข้าไทย หมายความว่า ในวันนั้นเจ้าพ่อเมืองปากน้ำจะมีอายุ 91 ปี

สำหรับการนับอายุความในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 ระบุว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

(1) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น

และในกรณีจะใช้โมเดลเดียวกับ "ทักษิณ ชินวัตร" คือ การเข้ากลับมารับโทษจำนวนที่เหลือ 1 ใน 3 และทำเรื่องขอพักโทษ โดยหลักเกณฑ์เดียวกัน คือ เป็นผู้ต้องขังสูงอายุ และอยู่ในวัยชรา ตามกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 หรือเป็นผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยขอใช้สิทธิรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือขอคุมขังนอกเรือนจำ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566

ก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า สถานะของ "ทักษิณ" และ "วัฒนา" มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แม้จะเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีทุจริตเหมือนกันก็ตาม โดยเฉพาะการต่อรองทางการเมือง ซึ่ง "วัฒนา" แทบจะไร้อำนาจ ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สนามการเมืองปากน้ำ ที่เคยเป็นของตระกูลอัศวเหม ต้องพ่ายให้กับพรรคก้าวไกลถึง 8 ที่นั่ง หลังจากก่อนหน้านี้ก็แพ้พรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด

แม้กลุ่มปากน้ำ-อัศวเหม ได้พยายามตรึงกำลังสนามการเมืองท้องถิ่นไว้ โดยให้ "ประภาพร อัศวเหม" สะใภ้กลาง ภรรยาของ "พูลผล อัศวเหม" อดีต สส.สมุทรปราการ ลูกชายคนกลาง ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2558 มานั่งในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ และส่ง "นันทิดา แก้วบัวสาย" สะใภ้เล็ก ภรรยาของ "ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" เป็นนายก  อบจ.สมุทรปราการ

โดยมีหลานๆ คือ "พิม อัศวเหม" ลูกสาว "ประภาพร" เป็นสมาชิกสภา อบจ.สมุทรปราการ เขต อ.พระสมุทรเจดีย์ และ "เพลง" ชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาว "นันทิดา" เป็นเลขานุการนายก อบจ.สมุทรปราการ

แต่การรักษาเกมการเมืองในพื้นที่ยามไร้แม้ทัพนำศึก ยากยิ่งกว่า แม้จะยังมีลูกน้องเก่าของ "ชนม์สวัสดิ์-วัฒนา" ยังเหลืออยู่ ทว่าการกระชับอำนาจทางการเมือง ก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ในยุครัฐบาลชุดที่แล้ว ตระกูลปากน้ำจะส่ง "สุนทร ปานแสงทอง" อดีตรองนายก อบจ.สมุทรปราการ คนสนิทของนายวัฒนา มานั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ตาม

นายสุนทร ปานแสงทอง

นายสุนทร ปานแสงทอง

นายสุนทร ปานแสงทอง

และปัจจุบัน "สุนทร" ได้เป็นผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ ที่ "วัฒนา" ให้การสนับสนุน ทำให้เห็นว่า "นันทิดา" ได้เปิดทางและถอนตัวออกจากสนามการเมืองท้องถิ่น เพราะไม่ใช่งานเดิมที่ถนัด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในช่วง 15-16 ปีที่ผ่านมา เส้นทางการหลบหนี พักอาศัยของ นายวัฒนา ถือได้ว่า ระหกระเหิน ไม่แพ้อดีตผู้ต้องหาหนีคดีคนอื่นๆ จากประเทศไทย ไปกัมพูชา-ออสเตรเลีย-จีน-ไต้หวัน ก่อนที่จะมีบ้านพักอยู่ที่ เมืองปอยเปต อ.โอร์-จเริว จ.บันทายมีชัย ติดชายแดนไทยด้าน อ.อรัญประเทศ ด้วยเหตุมี ธุรกิจกาสิโนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว 2 แห่ง คือ แกรนด์ ไดมอนด์ และปอยเปต รีสอร์ต และมีข่าวว่า ปัจจุบันได้ขายไปแล้วมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

และพลันที่ภาพเจ้าพ่อเมืองปากน้ำ "วัฒนา" และลูกน้องเก่าๆ ปรากฏในบ้านพักแห่งหนึ่ง ถูกแชร์จากนายชนะ หงวนงามศรี หรือ "สจ.แดง" สจ.สมุทรปราการ และกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า โดยมีการโพสต์ภาพนายวัฒนา เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2567 พิกัดบ้านพักส่วนของนายวัฒนา จึงทำให้มีข่าวแพร่สะพัดว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ นายวัฒนา วางแผนจะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากนายวัฒนา เดินทางกลับมาจริงตามขั้นตอนทางกฎหมาย จะต้องผ่านการขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เนื่องจากเป็นบุคคลซึ่งมีหมายจับ

เป็นที่น่าจับตาว่า อดีต สส.11 สมัย "วัฒนา อัศวเหม" ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน ในวัยปัจฉิมยาม จะเดินเกมการเมืองอย่างไรในการนำพาตัวเองกลับคืนบ้านเกิด แม้เส้นทางจะไม่ไกลเกินหวัง แต่ใช่ว่าจะง่ายดังตั้งใจ

อ่านข่าว :

"เศรษฐา​" ส่งคำชี้แจงปม 40 สว.ยื่นถอดถอนให้ศาล รธน.แล้ว

"ภูมิธรรม" เชื่อ "ทักษิณ" พูดประเด็นการเมืองไม่กระทบสัมพันธ์พรรคร่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง