สำรวจ "ป่าชาโบราณ" แม่แจ่ม แหล่งใหญ่สุดในไทย

สิ่งแวดล้อม
13 มิ.ย. 67
07:36
2,524
Logo Thai PBS
สำรวจ "ป่าชาโบราณ" แม่แจ่ม แหล่งใหญ่สุดในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึกร่วมกับนักวิชาการ สำรวจและศึกษาวิจัย "ป่าชาโบราณ" อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ แหล่งพันธุกรรมชาโบราณขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในไทย คาดเป็น var. taliensis ลักษณะยอดอ่อนสีแดงและมีรายงานพบเฉพาะในมณฑลยูนนาน

วันที่ 12 ม.ย.2567 นายสราวุธ ปัสสาคร หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก เปิดเผยว่า ตามที่นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (ผอ.สบอ.16) สั่งการให้หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก สำรวจป่าชาโบราณบริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก ร่วมกับ น.ส.พัทธ์ญาดา ธีรปราชญ์สกุล นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านชา และนายมานพ แก้วฟู หัวหน้าสถานีวิจัยต้นน้ำดอยเชียงดาว ร่วมสำรวจป่าชาโบราณ เบื้องต้นพบต้นชา (Camellia sinensis) อาจจะเป็น var. taliensis เนื่องจากมียอดอ่อนสีแดงและมีรายงานพบในเทือกเขาในมณฑลยูนนานของจีนเท่านั้น จึงควรมีการสำรวจและพิสูจน์ให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ศึก พบต้นชา 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มประชากร ชาที่พบขึ้นตามแนวสันเขา แนวกันไฟ (ขนาดความกว้าง 10 เมตร) ของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ศึก จนถึงยอดดอยซอแฆะโจ๊ะ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่บ้านแม่หงานหลวง หมู่ 1 ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ พบจำนวน 150 ต้น โดยนับจากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 20 เซนติเมตรขึ้นไป และมีต้นแม่ที่มีขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้นใหญ่ที่สุด 205.9 เซนติเมตร ซึ่งมีการแตกนางเป็นสองนาง นางแรกขนาดเส้นรอบวง 88.5 เซนติเมตร นางที่สอง 111.9 เซนติเมตร มีความสูงประมาณ 15 เมตร

กลุ่มประชากรที่ 2 พบบริเวณสันเขาอยู่ในท้องที่หย่อมบ้านแม่นิงใน หมู่ 10 ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ติดแนวเขตแบ่ง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน พบกลุ่มประชากรชาโบราณ ประมาณ 600 ต้น โดยนับจากต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตรขึ้นไป และพบต้นที่มีขนาดความโตเส้นรอบวงที่โคนต้นใหญ่ที่สุด ขนาด 157.1 เซนติเมตร มีความสูง ประมาณ 7 เมตร

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่โดยรอบที่ยังไม่ได้สำรวจการแพร่กระจายของลูกไม้ชาโบราณ ซึ่งมีความสำคัญต่อการอนุรักษาสายพันธุ์ชาโบราณของโลก เป็นแหล่งพันธุกรรมชาโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีรายงานพบในประเทศไทย ซึ่งต้องอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคุกคาม เนื่องมีความต้องการของนักลงทุนจากต่างประเทศ จึงเห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยป่าชาโบราณ เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง