ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบซาก "ช้างป่ากุยบุรี" ไม่มีบาดแผล-ชิ้นส่วนโลหะ

สิ่งแวดล้อม
17 มิ.ย. 67
11:30
237
Logo Thai PBS
พบซาก "ช้างป่ากุยบุรี" ไม่มีบาดแผล-ชิ้นส่วนโลหะ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบซากช้างป่ากุยบุรี ตัวผู้ อายุ 5 ปี ตายมาแล้ว 3-5 วัน เบื้องต้นไม่พบร่องบาดแผล-ชิ้นส่วนโลหะ คาดช้างป่าตัวนี้ถูกขับออกจากฝูง มีความผิดปกติ-บกพร่องทางพันธุกรรม

วันนี้ (17 มิ.ย.2567) นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (ผอ.สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจากนายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2567 พบซากช้างป่าตัวผู้ นอนตาย อายุซาก 3-5 วัน อวัยวะทุกส่วนครบ อยู่บริเวณแปลงวิจัยของสถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ กรมป่าไม้ นอกเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยประสานเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน สภ.บ้านยางชุม เข้าตรวจสอบในวันนี้

จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เข้าพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ พบว่า เป็นช้างป่า ตัวผู้ อายุประมาณ 5 ปี น้ำหนัก 600 กิโลกรัม อายุซากประมาณ 3-5 วัน อวัยวะทุกส่วนครบในสถานที่เกิดเหตุ ร่างกายไม่พบบาดแผล และไม่พบร่องรอยจากการกระทำความผิดแต่อย่างใด ผลการตรวจสอบปรากฏรายละเอียดต่อไปนี้

ลักษณะซาก ช้างป่าตัวผู้ น้ำหนัก 600 กิโลกรัม, ขนายยาว 17 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร ทั้ง 2 ชิ้น, ลำตัวมีความสูง 170 เซนติเมตร, ความยาวโคนหางถึงคอ 145 เซนติเมตร, ความยาวรอบตัว 220 เซนติเมตร, ความยาวหาง 74 เซนติเมตร, ความยาวใบหู 27 เซนติเมตร, ความยาวงวง 93 เซนติเมตร, เส้นรอบวงตีนหน้าซ้าย ขนาด 67 เซนติเมตร เส้นรอบวงตีนหน้าขวา ขนาด 66 เซนติเมตร เส้นรอบวงตีนหลังซ้าย ขนาด 65 เซนติเมตร เส้นรอบวงตีนหลังขวา ขนาด 66 เซนติเมตร

ผลการตรวจหาวัตถุโลหะด้วยเครื่องสแกนโลหะ เบื้องต้นตามร่างกายไม่พบชิ้นส่วนของโลหะ

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงวันที่ 16 พ.ค.-8 มิ.ย.2567 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบช้างป่าตัวดังกล่าวหากินบริเวณใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ที่ 9 บ้านย่านซื่อ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใกล้เคียงพื้นที่ที่พบซาก

จากการสังเกตของเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่า อุทยานแห่งชาติกุยบุรี พบว่า ช้างป่าตัวดังกล่าวมีพฤติกรรมหากินเพียงตัวเดียว ไม่สามารถเข้ารวมฝูงกับช้างป่าบริเวณใกล้เคียงได้ และมักถูกช้างป่าตัวอื่นขับไล่ โดยลักษณะขณะมีชีวิต พบว่า ภายนอกกระดูกสันหลังนูนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ท้องป่อง ใบหน้าผอม ตาทั้งสองข้างมีลักษณะบวมโปน ขาทั้ง 4 ขาค่อยข้างลีบ และมีพฤติกรรมฉุนเฉียว หงุดหงิด มักวิ่งไล่เจ้าหน้าที่และประชาชนบ่อยครั้ง ซึ่งจากข้อมูลที่พบทางด้านสรีรวิทยาและพฤติกรรม คาดว่าช้างป่าอาจมีความผิดปกติต่างจากช้างป่าทั่วไป และมีความบกพร่องทางพันธุกรรม ส่งผลให้แม่ช้างป่าทิ้งและช้างตัวอื่นถูกขับออกจากฝูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง