“เลี้ยงดง”นัยยะแฝงปกป้องป่า-ขุนน้ำ ในภาคเหนือ

ภูมิภาค
20 มิ.ย. 67
15:10
515
Logo Thai PBS
“เลี้ยงดง”นัยยะแฝงปกป้องป่า-ขุนน้ำ ในภาคเหนือ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เลี้ยงดง” ปู่แสะ-ย่าแสะ ผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ ประเพณีที่แนบแน่นความเชื่อระหว่าง ผี-พุทธศาสนา ภูมิปัญญาอย่างแยบยลของเมืองเชียงใหม่ กับการสร้างบ้านแปลงเมือง การดูแลรักษาป่า และขุนน้ำ

ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา “เลี้ยงดงวันทา ปูจาขุนน้ำ" พูดถึงความเชื่อเรื่องผีและพุทธ กับการบริหารจัดการน้ำผ่านพิธีกรรมเลี้ยงดง และบูชาขุนน้ำ โดยเฉพาะดอยสุเทพ และดอยคำ ที่เป็นต้นกำเนิดน้ำหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่

อ.ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าจากหลักฐานจากภาพถ่ายและเอกสารโบราณ พูดถึงที่มาและความสำคัญของ “เลี้ยงดง” ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงพระพุทธเจ้ามาดอยสุเทพ-ดอยคำ ยักษ์สองผัวเมียกินคนในเมือง

พระพุทธเจ้าเทศนาสั่งสอนให้หยุดกินคนเป็นอาหาร ยักษ์จึงต่อรองขอกินเดือนละหนึ่งคน พระพุทธเจ้าห้ามจึงกินควายได้ปีละหนึ่งตัว เป็นที่มาของชาวเมืองที่อาศัยเชิงดอยสุเทพ-ดอยคำ จะเลี้ยงปู่แสะ-ย่าแสะ และมี “พระบฏ” เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าเสด็จมาหลังปรินิพพาน

“เลี้ยงดง” ปู่แสะ-ย่าแสะ จัดขึ้น 20 มิ.ย. 67 เทศบาลเมืองแม่เหี๊ยะเป็นเจ้าภาพจัดทุกปี

“เลี้ยงดง” ปู่แสะ-ย่าแสะ จัดขึ้น 20 มิ.ย. 67 เทศบาลเมืองแม่เหี๊ยะเป็นเจ้าภาพจัดทุกปี

“เลี้ยงดง” ปู่แสะ-ย่าแสะ จัดขึ้น 20 มิ.ย. 67 เทศบาลเมืองแม่เหี๊ยะเป็นเจ้าภาพจัดทุกปี

“ปู่แสะ-ย่าแสะ” ความสำคัญ คือ อารักษ์เมืองเชียงใหม่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เจ้าเมืองจะต้องดูแล เพื่อป้องกันเหตุอาเพศต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมือง ให้ผีเมืองคอยปกปักษ์รักษา ดังนั้น ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ของภาคเหนือ จะมีพิธีเลี้ยงดง คือการนำควายมาเป็นเครื่องสังเวยให้ร่างทรงของปู่แสะ-ย่าแสะ

อ.ณัฐพงษ์ เล่าถึงการเลี้ยงดงในอดีต เชื่อกันว่าหอปู่แสะ เดิมอยู่บริเวณวัดฝายหิน เชิงดอยสุเทพ คณะสถาปัตยกรรม ม.เชียงใหม่ แต่หลังก่อสร้างมหาวิทยาลัยหอแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้าง และไม่มีการประกอบพิธีบริเวณนี้ หลังปี 2507

ภาพในอดีตหอปู่แสะ เชิงดอยสุเทพ บริเวณคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ภาพในอดีตหอปู่แสะ เชิงดอยสุเทพ บริเวณคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ภาพในอดีตหอปู่แสะ เชิงดอยสุเทพ บริเวณคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ส่วนหอย่าแสะ อยู่บริเวณเชิงดอยคำที่ประกอบพิธีเลี้ยงดงปัจจุบัน หลังการสร้าง ม.เชียงใหม่ ได้ย้ายหอปู่แสะ-ย่าแสะ พิธีเลี้ยงดงไว้ที่ดอยคำด้วยกัน ซึ่งหน้าที่เลี้ยงปู่แสะ-ย่าแสะ ในอดีตเป็นหน้าที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เสนาบดี เมื่อเปลี่ยนระบบการปกครองหน้าที่จึงเป็นของชุมชนแม่เหี๊ยะสืบมาปัจจุบัน

“พระบฏ” ที่นำมาแขวนต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์พระพุทธเจ้ามาร่วมในพิธีเลี้ยงดง

“พระบฏ” ที่นำมาแขวนต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์พระพุทธเจ้ามาร่วมในพิธีเลี้ยงดง

“พระบฏ” ที่นำมาแขวนต้นไม้ เป็นสัญลักษณ์พระพุทธเจ้ามาร่วมในพิธีเลี้ยงดง

การเลี้ยงปู่แสะ-ย่าแสะ จะประกอบพิธีสองส่วนหลัก คือ พิธีทางพุทธศาสนา คือการแขวนพระบฏ และเจริญพระพุทธมนต์ การแขวนพระบฏจะแขวนที่ยังใช้ต้นไม้เดิมทุกปี

ความเชื่อว่าหากปีไหนพระบฏแกว่ง จนไปชนกับต้นไม้จนแตก แสดงว่าปีนั้นน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์

ส่วนอีกพิธีคือการเลี้ยงดง จะเป็นพิธีผี มีร่างทรงของปู่แสะ-ย่าแสะ มากินควายที่ชาวบ้านนำมาถวาย พร้อมกับถวายเลี้ยงดง เช่น ย่าจ๋าม ปู่จ๋าม ขุนแสนตอง

ดร.สราวุธ รูปิน คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ มองพิธีกรรมเลี้ยงดง เป็นภาพสะท้อนความเชื่อระหว่างศาสนา ”ผีกับพุทธ ในประเพณีเลี้ยงผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ คำว่า ”ดง“ คือ เป็นที่สิงสถิตของบรรพบุรุษหมู่บ้าน ”ดอยสูง“ เป็นที่อยู่ของผี เช่น ดอยหลวงเชียงดาว เป็นที่อยู่ของ “ผีขุนน้ำ” บทบาทผีบนดอยแสดงออกสะท้อนให้ผู้คนยำเกรง โดยเฉพาะ น้ำ-ป่า

คนอดีตเชื่อว่า ต้นไม้เป็นผู้ให้น้ำ จะดูดน้ำจากก้อนเมฆคนอดีตจึงเคารพต้นไม้มาก

ส่วนประเพณีระดับเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นภาพสะท้อนได้ชัดเจน คือ 1.ประเพณีเตียวขึ้นดอย 2.ประเพณีบูชาเสาอินทขิล 3.ประเพณีเลี้ยงดง และ 4.ประเพณีสืบชะตาเมือง

อารักษ์หลวงในเมือง เช่น หออินทขิล /เลี้ยงเสาอินทขิล มีต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้หอ ความเชื่อในทางพิธีกรรม ถือว่าเป็นทางขึ้นลงของผี และยังพบความเชื่อนี้คล้ายกันในกลุ่มไทลื้อ ปักหินกลางหมู่บ้าน ”เสาใจบ้าน“ ชาวลั้วะ เรียกว่า ”เสาสะกั้ง“ หมู่บ้านไหนเป็นลูกหลาน นักรับ หลวงวิลังคะ จะมีพิธีเลี้ยงสะกั้ง “เลี้ยงให้ข้าว ไร่มีความอุดมสมบูรณ์”

ร่างทรงปู่แสะ กินควายที่ชาวแม่เหี๊ยะนำมาให้กินในประเพณีเลี้ยงดง

ร่างทรงปู่แสะ กินควายที่ชาวแม่เหี๊ยะนำมาให้กินในประเพณีเลี้ยงดง

ร่างทรงปู่แสะ กินควายที่ชาวแม่เหี๊ยะนำมาให้กินในประเพณีเลี้ยงดง

ส่วนอารักษ์หลวงบนดอย คือ ปู่แสะ-ย่าแสะ ซึ่งเป็นความเชื่อบรรพบุรุษชาวล้านนาในภาคเหนือ ที่นับถือภูเขาสูง ต้นไม้ใหญ่ เมื่อรับพระพุทธศาสนา ก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปไว้บนพื้นที่สูง พระธาตุดอยสุเทพฯ จึงเชื่อมความเชื่อระหว่างศาสนาผีกับพุทธไว้ด้วยกัน

ส่วนการบูชาใส่ขันดอกอินทขิล “แห่พระฝนแสนห่า” ใช้น้ำขมิ้นขอสายฝน ตั้งแต่ตำนานพญาแถน (เป็นผีฟ้า) จุดบั้งไฟเป็นสัญลักษณ์ เมื่อเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาบทบาทจึงเป็นของพระอินทร์

อ.ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้ยกตัวอย่างการ “เลี้ยงดงเจ้าหลวงคำแดง” แห่งดอยหลวงเชียงดาว ระบุว่า ดอยหลวงเชียงดาว ถือเป็น เทวบรรพต และจุดยุทธศาสตร์โบราณ ”เจ้าหลวงคำแดง“อารักษ์หลวงล้านนาผู้เป็นผีเจ้า

เจ้าหลวงคำแดง มาจากพะเยา เมืองเทิง สถาปนาให้เป็นใหญ่กว่าผี 44 ตน ตำนานเจ้าหลวงคำแดงเกี่ยวกับหมู่บ้านหลายแห่งล้วนเชื่อมโยงกับสถานที่หลายแห่งใน อ.เชียงดาว บริเวณดอยหลวงเชียงดาว บริเวณ ”ดง“เป็นป่าทึบ ยกให้เป็นเขตของเทพเจ้า” ส่วนบริเวณ”ขุนน้ำฮู“ จัดทำเหมืองฝาย กติการ่วมกัน เกิดพิธีระหว่างผีกับพุทธ

หอเจ้าหลวงคำแดง บริเวณถ้ำหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่

หอเจ้าหลวงคำแดง บริเวณถ้ำหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่

หอเจ้าหลวงคำแดง บริเวณถ้ำหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่

ผีเจ้าหลวงคำแดงถูกสถาปนาให้เป็นผีพิทักษ์พุทธศาสนา เจ้าหลวงคำแดงเป็นผีพุทธจะต้องรอพระเจ้าธรรมมิกราชมาโปรด จึงนำมาสู่ ”การเลี้ยงผี“ ซึ่งจัดขึ้นทุก 15 ค่ำเดือน 9 จุดมุ่งหมายคือ ขอความอุดมสมบูรณ์ “การมีฝน มีป่า มีน้ำ ทำให้เกิดชีวิต“

รศ.ดร.วรลักจก์ บุณยสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ได้มองการเลี้ยงดง เป็นภาพสะท้อนภูมิปัญญาการจัดการน้ำผ่านพิธีกรรม และได้ตั้งข้อสังเกต ผ่านงานวิจัยโครงการสิ่งแวดล้อมและระบบการจัดการน้ำเมืองล้านนาในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะ เชียงดาว กับเชียงใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในเมืองเชียงใหม่ ผ่านทางแม่น้ำปิง ดอยหลวงเชียงดาว และดอยสุเทพ-ดอยคำ

มองว่าพิธีกรรมเป็นเครื่องมือในการรักษาต้นธารแห่งทรัพยากรน้ำของส่วนรวม

เมื่อมอง”ดอยสุเทพ เป็นผีขุนน้ำ“ ”ปูแสะ-ย่าแสะ“ เมื่อไหว้สายน้ำ จะต้องช่วยกันดูแลโดยใช้พิธีกรรมเป็นเครื่องมือ ซึ่งตำแหน่งที่เลี้ยงดง มักจะเป็นจุดที่มีลำห้วยสองห้วยมาบรรจบกัน

รศ.ดร.วรลักจก์ บุณยสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่  อธิบายความเชื่อมโยงระบบน้ำดอยสุเทพและเมืองเชียงใหม่

รศ.ดร.วรลักจก์ บุณยสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ อธิบายความเชื่อมโยงระบบน้ำดอยสุเทพและเมืองเชียงใหม่

รศ.ดร.วรลักจก์ บุณยสุรัตน์ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ อธิบายความเชื่อมโยงระบบน้ำดอยสุเทพและเมืองเชียงใหม่

รศ.ดร.วรลักจก์ จึงตั้งข้อสังเกตจุดที่เลี้ยงปู่แสะในอดีตบริเวณคณะสถาปัตยกรรม ม.เชียงใหม่ น่าจะใกล้กับจุดบรรจบของน้ำ เช่นเดียวกับที่ ดอยคำ และดอยหลวงเชียงดาว

ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตน้ำที่ไหลจากดอยสุเทพ บริเวณเวียงเจ็ดลิน-เวียงสวนดอก-เวียงเชียงใหม่ ระบบน้ำเชื่อมโยงจากภูเขาของเมือง โดยเฉพาะเวียงเจ็ดลินจากการศึกษาค้นพบว่า มีลำน้ำ 7 สายไหลจากเวียงแห่งนี้ที่อยู่เชิงดอยสุเทพ

การเลี้ยงผีทำให้สภาพแวดล้อมมีความสมบูรณ์และสมดุล พิธีกรรมจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งรักษาต้นน้ำ

“ควาย”อาจเป็นตัวแทนที่บอกว่า เมื่อไหร่ที่ดูแลธรรมชาติดี ธรรมชาติก็จะให้คืนกลับมาให้ นี่เป็นภาพสะท้อนผ่านพิธีเลี้ยงดง ปู่แสะ-ย่าแสะที่ซ่อนอยู่ภายใต้พิธีกรรม

รายงาน: โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง