เร่งสอบสวนปมแท็กซี่เสียชีวิตในปั๊ม พบเคยมีอาการไอ เจ็บคอ น้ำหนักลด

สังคม
24 มิ.ย. 67
19:43
492
Logo Thai PBS
เร่งสอบสวนปมแท็กซี่เสียชีวิตในปั๊ม พบเคยมีอาการไอ เจ็บคอ น้ำหนักลด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เร่งสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต คนขับแท็กซี่เสียชีวิตในปั๊มน้ำมัน พบเคยมาหาหมอด้วยอาการไอ เจ็บคอ น้ำหนักลด ย้ำเตือนวัณโรค รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย

วันนี้ (24 มิ.ย.2567) หลังจากเกิดกรณีข่าว แท็กซี่เสียชีวิตในรถ หลังแวะจอดในปั๊มน้ำมัน และมีอาเจียนเป็นเลือดในห้องน้ำปั๊ม ก่อนจะเสียชีวิต กรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่และขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจนอย่างเร่งด่วน แต่เบื้องต้นจากการสืบค้นข้อมูล พบว่าผู้เสียชีวิตยังไม่พบประวัติการรักษาวัณโรคในระบบของโรงพยาบาลใด ๆ

ข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งหนึ่ง ใน กทม. ให้ข้อมูลว่า ประมาณ 5 วันก่อน ผู้เสียชีวิตได้เข้ารับบริการตรวจเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ด้วยอาการไอ เจ็บคอ น้ำหนักลด เป็นมา 1 เดือน ซึ่งแพทย์ได้ให้ยาตามอาการ และนัดมาตรวจเพิ่มเติม ในวันที่ 24 มิ.ย. แต่ผู้ป่วยได้เสียชีวิตก่อนได้รับการตรวจวินิจฉัยในวันนัดดังกล่าว

วัณโรคยังคงระบาดและยังเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 300 กว่าคนต่อวัน และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 40 คน ต่อวัน และประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทย ติดเชื้อวัณโรคแล้ว แต่จะมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ป่วยเป็นวัณโรค อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงจากโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ

วัณโรคเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อจากผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคที่เห็นได้ชัด คือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลด มีเหงื่อออกผิดปกติในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากมีอาการไอมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง ป้องกันภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิต

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขังหรือผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และคนพิการ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้ติดสุราเรื้อรัง บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคและกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค มีโอกาสที่จะติดเชื้อวัณโรคได้ หากสงสัยว่าตนเองสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค เช่นกรณี อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยนาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน/120 ชั่วโมงต่อเดือน

ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ โดยการกินยาต่อเนื่อง 6-8 เดือน

ทั้งนี้เราสามารถป้องกัน การป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ที่สำคัญวัณโรครักษาหาย และสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ หากได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งควรส่งเสริมการดูแลรักษาและให้กำลังใจผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการรักษา

อ่านข่าว : สธ.ยํ้าสถานที่แออัดต้องสวม "แมสก์" สงสัยป่วยโควิดเลี่ยงอยู่ใกล้กลุ่ม 608

"ล็อกบ้านใหญ่-เลือกนายกฯ อบจ.ปทุมฯ" สกัดวางยา (หมดอายุ) ก้าวไกล

"ภูมิธรรม" เลื่อนประกาศประมูลข้าว 10 ปี ขีดเส้น อคส. 7 วันเคลียร์ปม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง