วันนี้ (2 ก.ค.2567) เรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดูจะเป็นเรื่องที่ชาวบ้านตั้งตารอกันจริง ๆ ไม่ว่านายกฯ จะลงพื้นที่ไหน ก็มีแต่คนทวงถามว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ อย่างเมื่อวาน (1 ก.ค.2567) ที่ลงพื้นที่หลาย ๆ แห่งที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ได้กำลังใจกลับมาหลายกระบุงโกย แต่ก็มีรายงานว่า มีคุณตาคนหนึ่งตะโกนบอกนายกฯ ว่า "อย่าลืมเงินหมื่น" รอบนี้นายกฯ ตอบรับสั้น ๆ ว่า "ครับ" คำเดียว
แต่ว่าในการลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา น่าจะเป็นการตอบชัด ๆ อีกครั้งของนายกฯ ว่าดิจิทัลวอลเล็ต จะพร้อมใช้งานไตรมาส 4 ปีนี้ แต่กระบวนการถึงตอนนี้ อาจจะพูดได้ว่ายังไม่เริ่มต้นดีเลย ก่อนหน้านี้เราได้รับทราบกันแล้วว่า กรอบวงเงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท สำหรับประชาชน 50 ล้านคน จะมาจากส่วนไหนบ้าง
ทบทวนอีกครั้ง ครม.เห็นชอบวงเงินไปแล้วอย่างน้อย 2 แหล่ง คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท ที่ตอนแรกคาดว่า สำนักงบประมาณจะยกร่างหลังเปิดรับฟังความเห็นในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในวันนี้ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ส่วนอีกก้อน จะมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ที่จะอยู่กับก้อนงบกลางวงเงินกว่า 800,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังถูกแขวนอยู่ในการพิจารณาชั้นงบประมาณ เพราะรายละเอียดไม่มี โดยตามรายงานคือ ส่งกระดาษมาแผ่นเดียวเพื่อประกอบการของบเป็นแสนล้าน แต่ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน
ยังไม่รวมกับที่มีการตั้งข้อสังเกตโดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ว่า ตาม ม.22 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ถ้าเป็นงบกลาง หมายความว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรหน่วยงานรับผิดชอบได้ แต่ทางสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาชี้แจง เท่ากับเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเปล่า ดังนั้นก็ยังแขวนการพิจารณาไว้อยู่ ยังไม่คลอด
2 ก้อนแรก คือส่วนที่ ครม.เห็นชอบแหล่งวงเงิน
แต่อีกก้อนสุดท้าย อีกกว่า 170,000 ล้าน ที่จะเป็นการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือน่าจะเป็น ธกส. จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนออกมา น่าสนใจว่าจะมีเงินทันให้ใช้ในไตรมาส 4 หรือ 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้หรือไม่ เพราะตอนนี้เราอยู่ที่ไตรมาส 3 กันแล้ว
แต่ว่าทางเพื่อไทย โดยเลขาธิการพรรค คุณสรวงศ์ เทียนทอง ก็ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ กรณีที่งบดิจิทัลวอลเล็ต ยังถูกแขวน ว่าเมื่อกลับเข้าสู่การพิจารณาชั้นกรรมาธิการอีกครั้ง ก็ไม่น่าสะดุด เชื่อมั่นว่านายกฯ และรัฐมนตรีคลังทั้ง 3 จะผลักดันเป็นรูปธรรมได้ นี่คือ 1 ในนโยบานเรือธง ที่จะพยายามทำให้สำเร็จ แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว
และความรับผิดชอบที่ว่า ก็อาจต้องติดตาม เพราะนอกจากความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านอาจจะยื่นศาลปกครองพิจารณา หากว่ารัฐบาลพยายามจะผลักดันงบก้อนนี้จนถึงวาระ 3 แล้ว ยังมีกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เกาะติดเรื่องการจัดทำร่างงบประมาณปี 68 และพบว่าจะของบดิจิทัลวอลเล็ต โดยใช้กระดาษแผ่นเดียว จึงทำหนังสือแนบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ส่ง EMS ถึง ป.ป.ช.เพื่อขอให้ตรวจสอบนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ว่ามีการซ่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท แจกประชาชนบางกลุ่ม เป็นการเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่อีกด้วย
ถ้าเข็นนโยบายนี้ออกมาไม่ได้ทันตามสัญญา นอกจากความรับผิดชอบทางกฎหมายแล้ว ความรับผิดชอบทางการเมืองก็คงถูกทวงถามแน่ ๆ แต่ตอนนี้ ผลที่เกิดต่อความนิยมก็ค่อนข้างเห็นชัดแล้ว เพราะจากโพลคะแนนนิยมนายกฯ ก็หล่น ดัชนีการเมืองโดยสวนดุสิตโพล ก็ลดลงจากเดือนพฤษภาคม จาก 4.72 เหลือ 4.33 โดยความไม่ชัดเจนของดิจิทัลวอลเล็ต และปัญหาปากท้อง เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นการเมืองลดลงด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวเพิ่ม :
เปิดชื่อ ตศร.-กรรมการ 12 คนในองค์กรอิสระที่จะพ้นจากตำแหน่งปี 67
ศาล รธน.ยันคดียุบพรรคก้าวไกล - ถอดนายกฯ รู้ผลก่อน ก.ย.
"อนุทิน" ยินดี "ชาญ" คว้านายก อบจ.ปทุมธานี ย้ำ ภท.ไม่เกี่ยว สว.