หนึ่งภาพ แทนคำพูด ล้านคำ เป็นคำกล่าวไม่เกินจริง ภาพชาวบ้านมูโนะที่ยืนดุอาอ์ละหมาดขอพร บริเวณพื้นที่สร้างบ้านใหม่ ในตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา มีหลายมิติทับซ้อน จากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟระเบิด เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 ก.ค.2566 แรงระเบิดครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บกว่า 100 คน บ้านเรือน ร้านค้า กว่า 200 หลัง ได้รับความเสียหายหนัก หลายครอบครัวไร้ที่อยู่ทันที
ความโกลาหลในวันเกิดเหตุ เสียงสะอื้นให้ ความสูญเสีย ความพลัดพราก บาดเจ็บ พิการ ยังไม่รวมทรัพย์สิน อาคาร บ้านเรือนที่พังพินาศ แม้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะหลั่งไหลเข้าให้ความช่วยเหลือ แต่เป็นเพียงการบรรเทาโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้นๆ แต่กว่าชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่จะตั้งหลักได้ เวลาก็ล่วงเลยเกือบครบ 1 ปี
ดังนั้น การสวดดุอาอ์ละหมาดขอพรจากอัลเลาะห์ เพื่อเริ่มต้นใหม่ หรือภาษามลายูเรียกว่า บืนมูลา สือมูลา "bermula semula" ของชาวบ้านมูโนะ จึงเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับตัวเองและครอบครัว ได้เป็นอย่างดี
อ่านข่าว : "วิกฤตเรา เอื้อประโยชน์ใคร" คำถามจากบ้านมูโนะ
นิฟารา เปาะอาเดะ วัย 26 ปี เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ ชาวบ้านหมู่ 1 ที่อาศัยอยู่ในตลาดมูโนะ มีความหวังมากขึ้น ที่จะได้บ้านหลังใหม่ หลังจากองค์การบริหารส่วนตำบลมูโนะ (อบต.มูโนะ) ได้เรียกประชุมและแจ้งให้ทราบว่า จะมีการสร้างบ้านเรือนให้กับครอบครัวผู้ที่ได้รับความเสียหาย โดยให้นำหลักฐานและเอกสารไปตรวจสอบ ทำการรังวัดแนวเขตตามโฉนดที่ดิน เพื่อให้ช่างผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของบ้าน ทำสัญญาร่วมกัน หากใครดำเนินการด้านเอกสารเสร็จสิ้นแล้ว ก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที
"มันช้ามาก...กว่าเราจะได้ฤกษ์เริ่มสร้างบ้านหลังใหม่ ก็เกือบครบ 1 ปี การสร้างบ้าน จะมี 2 เลือก คือ ทาง อบต.ให้ชาวบ้าน จัดหาผู้รับเหมา สร้างบ้านเอง โดย อบต.ทำหน้าที่เป็นพยาน และดูการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ หรือให้ทางจังหวัด และ อบต.เป็นผู้ประสาน จัดหาช่างก่อสร้างให้ แล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน"
นิฟารา บอกว่า บ้านหลังเดิม ก่อนจะมีเหตุการณ์พลุระเบิด เป็นบ้านปูน 2 ชั้น ส่วนบ้านใหม่ที่จะสร้างอาจไม่เหมือนแปลนเก่า แต่รอไม่ได้ เนื่องจากปีหน้า พ่อใกล้จะเกษียณแล้ว จึงต้องเร่งทำให้เสร็จ เพื่อจะได้เข้าอยู่ได้ทัน หากปล่อยให้ล่าช้า ก็จะหาช่างสร้างบ้าน ยากมาก หลังจากให้นายช่างที่ดินเข้ามาทำรังวัดใหม่เสร็จ จึงจะเริ่มลงมือก่อสร้าง
ไม่ใช่เฉพาะครอบครัวของ "นิฟารา" ที่สวดดุอาอ์ขอพร ให้ผืนแผ่นดินที่กำลังจะก่อสร้างบ้านหลังใหม่ ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง มีแต่ความเป็นสิริมงคล กับผู้พักอาศัยในอนาคต แต่เพื่อนบ้าน ซึ่งได้ตกลงทำสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างอีก 39 ราย ต่างก็ทยอยทำพิธีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
บ้านของ "โมฮาหมัด แจมเซ็ด" เป็นอีกหลังหนึ่ง ที่ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จนชั้นบนเหลือแต่เสา ส่วนชั้นล่างยังพอพักอาศัยได้ ครอบครัวนี้สร้าง บ้านบนที่ดินของตัวเอง พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นบ้านสองชั้น ชั้นบนมี 12 ห้องนอน 12 ห้องน้ำ เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกมาก แต่ละคนมีห้องนอน และห้องส่วนตัว อยู่ใกล้ริมถนน และอยู่ห่างจากจุดที่โกดังพลุที่ระเบิดเพียงถนนกั้น
แต่วันนี้ บ้านของเขาได้มีการซ่อมแซมไปบ้างแล้ว และบริเวณด้านข้าง ซึ่งอยู่ติดถนนใกล้บ้าน ได้มีการทำทางเท้า เทปูนถนนทำ และติดตั้งเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ส่องสว่างแล้ว
อ่านข่าว : เสียงชาวบ้านมูโนะ "ค่าของคน" คนของใคร
ขณะที่ ด.ต.รูสลาม อาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมูโนะ เปิดเผย ความคืบหน้า ในการก่อสร้างบ้านเรือนให้ชาวบ้านหมู่ 1 ที่พังเสียหายทั้งหลังจากแรงระเบิดว่า เฉพาะในพื้นที่ตลาดมูโนะ มีทั้ง หมด 79 หลัง และมีการทำสัญญาก่อสร้างระหว่างเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว จำนวน 39 หลังคาเรือน กลุ่มนี้ผ่านการตรวจสอบเอกสารเสร็จสิ้นหมดแล้ว สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที อาจมีบางหลังที่ต้องเลื่อนตีผังการก่อสร้างออกไปก่อน
"ส่วนผู้เสียหาย 21 หลังคาเรือน ยังไม่ได้ยื่นแบบก่อสร้างเข้ามา สาเหตุไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ อบต. อาจเกิดจากความพร้อมเรื่องเอกสาร หลายรายที่ดินติดจำนอง และที่เหลืออีก 20 กว่าหลังคาเรือน อยู่ระหว่างการทยอยยื่นเอกสาร แต่ในส่วนของชาวบ้านรายที่ยื่นหลักฐานครบ ก็ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่กันหลายครอบครัวแล้ว โดยทาง อบต.จะทยอยเซ็นสัญญาก่อสร้างให้"
นายก อบต.มูโนะ บอกอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีบ้านเรือนราษฎรอีก 44 หลังที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ซ่อมแซมเสร็จแล้ว และทยอยเซ็นสัญญาก่อสร้าง สำหรับแบบแปลนและการก่อสร้างขึ้นอยู่กับผู้รับเหมา และชาวบ้านว่าจะตกลงกันอย่างไร ส่วนที่ยังเหลืออยู่ที่ทาง จ.นราธิวาส แจ้งว่าจะพิจารณาอนุมัติเงินมาให้ เพื่อที่ อบต.จะได้ทยอยได้เซ็นสัญญา
ส่วนเรื่องระบบสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางคมนาคม ถนน ระบบน้ำ ไฟ ได้มีการจัดการเรียบร้อยแล้ว …เหตุที่อบต.มูโนะ เข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อติดตามงานว่า ตรงปก และทำตามแบบที่สำนักโยธาฯจังหวัด กำหนดหรือไม่ หากทำถูกตามแบบ เราก็อนุมัติให้ผ่าน เพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถเบิกเงินจาก จ.นราธิวาส จะได้นำมาจ่ายให้ผู้รับเหมา เช่น งวดแรกจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินเท่าไหร่ ให้เขารับผิดชอบร่วมกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา
"เรากลัวว่า หากจ่ายเงินแล้ว ชาวบ้านกับผู้รับเหมาฮั้วกัน ทำไม่เสร็จสักที รัฐจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายให้ ...สำหรับที่ได้รับบริจาคกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงนั้น เชื่อว่าเพียงพอในการเยียวยาและสร้างบ้านให้ผู้เสียหาย"
ด.ต.รูสลาม ย้ำว่า ในส่วนผู้เดือดร้อนที่อาศัยบ้านที่เช่า ซึ่งที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์พลุระเบิด ปัจจุบัน รัฐยังจ่ายค่าเช่าบ้านให้ เช่นเดียวกับเจ้าของบ้าน 30 กว่าครอบครัว โดยส่วนใหญ่จะเช่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.มูโนะ เขตรอบนอก ไม่ได้อยู่ในตลาด เนื่องจากผู้ที่เช่าบ้านในตลาดมูโนะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง ไม่ได้มีอาชีพค้าขาย มีบางส่วนเท่านั้นที่เข้าไปค้าขายในตลาดโก-ลก
สำหรับโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนรัฐและเอกชน รวมทั้งมัสยิด นายก อบต.มูโนะ ยืนยัน จะมีการเยียวยาแน่นอน โดยทางจังหวัดฯ จะเป็นผู้พิจารณา ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่การพิจารณาอาจต้องรอ หลังจากเสร็จสิ้นการทำสัญญาก่อสร้างบ้านใหม่ระหว่าง ผู้ได้รับความเสียหายกับผู้รับเหมาก่อสร้างก่อน เนื่องจากต้องมีการจัดทำบัญชีความเสียหายให้รอบคอบ
"ดรามาที่มูโนะ เรื่องบ้านที่เสียหายซึ่งทำประกันภัยแล้ว รัฐ ไม่จ่ายเยียวยา ไม่จริง เช่น เขาได้รับเงินจากประกันแล้ว แต่ในส่วนของจังหวัดก็ฯจะต้องนำเงินกองทุนมาเฉลี่ยจ่ายเยียวยาให้ด้วย เพราะเราต้องเฉลี่ยเงินซ่อมแซมให้ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งทางจังหวัดฯ จะมอบหมายให้โยธาธิการจังหวัดเป็นผู้ประเมิน โดยใช้เงินกองทุนที่ได้รับบริจาคเข้ามา" ด.ต.รูสลาม กล่าว
และวันที่ 23 ก.ค.67 เวลา 08.30 น.จะมีการจัดพิธีละหมาดฮายัต ตรงบริเวณที่จะมีการก่อสร้างบ้านในตลาดมูโนะ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จะเป็นผู้แถลงเรื่องราวและการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งหมด
อ่านข่าว :
เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?
ดัน "หอมมะลิไทย" เจาะตลาดข้าวฟิลิปปินส์ ชิงส่วนแบ่งเวียดนาม