วิกฤตการเงิน "วัยทำงาน" แก่ก่อนรวย ขาดวินัยการออม

เศรษฐกิจ
19 ก.ค. 67
15:49
709
Logo Thai PBS
วิกฤตการเงิน  "วัยทำงาน" แก่ก่อนรวย ขาดวินัยการออม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิกฤติการเงินคนไทย พบ วัยทำงานอายุ 50 ปี+ เสี่ยงแก่ก่อนรวย กว่าครึ่งออมเงินไม่สำเร็จ แถมมีสินทรัพย์ไม่ถึง 100,000 บาท “คนรุ่นใหม่” สนลงทุน แต่ไม่มีทุน สนค. หนุนรัฐ-เอกชนจับมือแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ

วันนี้ (19 ก.ค.2567) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ถึง วิกฤตการเงินคนไทยหลังวัยเกษียณ ว่า สังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลครัวเรือนไทย ที่ส่วนใหญ่คนที่มีรายได้มากที่สุดมีอายุเกิน 50 ปี และรายได้ต่ำ

โดย 42 % ของครัวเรือนไทย พึ่งพารายได้นอกครัวเรือน เช่น เงินช่วยเหลือภาครัฐ และรายได้ไม่เป็นตัวเงิน หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้รับมา ส่งผลให้กันชนทางการเงินต่ำ หากมีเหตุฉุกเฉินหรือมีรายได้ลดลง นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งด้านความเปราะบางของครัวเรือนและภาระการคลัง

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ อายุ 51-60 ปี ส่วนใหญ่มีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ภาระหนี้ 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1,000,000 บาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง

ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า ปัญหาการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ ผลสำรวจ พบว่า ภาพรวมคนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนมีไม่ถึงครึ่ง และ1 ใน 4 ไม่สามารถออมได้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ

สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31 – 50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้

SCB EIC ประเมินว่า พฤติกรรมการออมส่งผลอย่างมากต่อ ปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจ พบว่า มีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ

โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

สำหรับผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่า คนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่

SCB EIC มองว่า นโยบายช่วยเหลือและกระตุ้นการออมต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ โดย กลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วน คือ กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงินการลงทุนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทาง Social media ต่าง ๆ

ส่วนกลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรช่วยออมและลดภาระผ่านช่องทางภาษีที่จูงใจ เช่น สิทธิลดหย่อนภาษี รวมถึงการต่ออายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาหารายได้นานขึ้น

ขณะที่กลุ่มที่ต้องเพิ่มแรงจูงใจในการออม กลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐและภาคการเงินควรเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เพราะมีความเข้าใจการลงทุนสูงกว่าและรับความเสี่ยงได้มากกว่า

และกลุ่มอายุมากกว่า 30 ปี รายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ภาครัฐควรส่งเสริมพฤติกรรมออมต่อเนื่องได้ถึงเป้าหมาย และเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น สำหรับวัยใกล้เกษียณ ภาครัฐควรช่วยลดความเสี่ยงฉุกเฉินให้เพิ่มเติม โดยช่วยจ่ายเบี้ยประกันความเสี่ยงที่จำเป็น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จากปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย มีสาเหตุการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ

ข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566 พบว่า จำนวนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13,064,929 สัดส่วนร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด (ประชากรทั้งหมดของประเทศไทย 66,052,615 คน)

และเป็นปีที่มีอัตราการเกิดของประชากรน้อยกว่าอัตราการตายต่อเนื่องเป็นปีที่สามนับจากปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์ในหลายประเทศที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรช้าลงพร้อมกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ผอ.สนค. กล่าวว่าอีกว่า ปัญหาของอัตราส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอาจไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในเชิงสัมคมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรเท่านั้น แต่ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งจาก ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ไทยต้องอาศัยการนำเข้าแรงงานในภาคการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการของประเทศเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้สูงอายุ รัฐบาลต้องแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งมารองรับสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าต้นทุนจากการขยายสวัสดิการและสิทธิสำหรับผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีและความน่าสนใจด้านการลงทุนของประเทศลดลง เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่รายได้ต่อหัวของประชากรที่ลดลง ทำให้ความน่าสนใจของไทยในฐานะตลาดขนาดใหญ่ของภูมิภาคในสายตาของนักลงทุนถูกลดระดับความสำคัญลง

รวมไปถึงการสะสมทุนในประเทศลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุหรือแรงงานในวัยเกษียณมักมีรายได้ลดลง และแนวโน้มในการใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีการออมน้อย ภาวะการออมในประเทศที่ลดลง จะส่งผลต่อการสะสมทุน ทำให้การพัฒนาประเทศช้ากว่าที่ควร

ผอ.สนค. กล่าววื่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มาตรการด้านการให้เงินช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการดำรงชีพ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มาตรการให้เงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
มาตรการส่งเสริมการทำงาน หรือการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

โดยสามารถนำเงินเดือนมาหักภาษีได้สองเท่า และ มาตรการส่งเสริมการออม หรือการจ่ายเงินสมทบเพื่อรองรับการเกษียณอายุ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะใช้รับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน โดย ขยายเวลาเกษียณอายุโดยสมัครใจ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ขาดแคลนบุคลากร เพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผู้สูงอายุขาดรายได้ในการดำรงชีพและเร่งปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุ จาก ภาระที่ต้องแบกรับ ให้เป็น สินทรัพย์มากประสบการณ์ โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการทำงานของผู้สูงอายุ เป็นต้น

 อ่านข่าว:

KKP เผยผลวิจัย "วัยแรงงานลด -สูงวัยทะลัก" ฉุด GDP ไทยโตต่ำ

"ราคาทอง" เช้านี้ เปิดตลาดร่วง 350 บาท "รูปพรรณ" ขายออก 42,100 บาท

ปิดตำนาน ข้าวสาร 10 ปี ส้มหล่น“ทรัพย์แสงทอง ไรซ์-สหธัญ ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง