28,881 คน คือ คนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย น้อยกว่า คนไทยที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกินกำหนด หรือ โอเวอร์สเตย์ ถึง 5 เท่า
ในจำนวนคนไทยที่โอเวอร์สเตย์ในเกาหลีใต้กว่า 150,000 คน หนึ่งในนั้น อาจนับรวมอดีตผีน้อยวัย 42 ปี ที่เพิ่งถูกทางการเกาหลีใต้จับและส่งกลับไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เสี่ยงเดินทางไปกับทัวร์ เพราะรอไม่ได้
ตอนนั้นช่องทางไหนที่มันไปได้เร็ว ไปได้เลย เราก็ยอม เป็นผีเราก็ยอม ค่าใช้จ่ายมันจี้เราอยู่ เราจะอยู่นิ่งไม่ได้
นี่คือเหตุผลที่หญิงวัย 42 ปี ตัดสินใจเดินทางไปทำงานแบบผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้เมื่อ 4 ปีก่อน
อดีตผีน้อยเกาหลีใต้
แม้ทราบดีว่าการไปทำงานผ่านกรมการจัดหางานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ที่ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ไล่ตั้งแต่สอบวัดความรู้ทางด้านภาษาเกาหลี หากผ่านแล้วต้องรอขึ้นทะเบียนอยู่ในลิสต์ระบบ EPS โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีนายจ้างเกาหลีใต้มาสุ่มเลือกหรือไม่ เป็นเหตุผลที่เธอไม่เลือกช่องทางที่ถูกกฎหมาย
4 ปี ระหว่างลักลอบทำงานที่เกาหลีใต้ ความเป็นอยู่ไม่ได้สะดวกสบาย ไม่มีสวัสดิการใดๆ แต่ด้วยค่าจ้างที่ได้เดือนละ 40,000-50,000 บาท บางเดือนอาจได้สูงถึงหลักแสน ทำให้เธอมองว่าคุ้มที่จะเสี่ยง จนกระทั่งถูกจับได้ที่บริเวณหอพักเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เธอยอมรับว่าถ้าวันนั้นไม่ถูกจับคงยังเป็น “ผีน้อย” อยู่เกาหลีใต้อีกหลายปี
วันนั้นกลับจากทำสวนมันหอม สภาพค่อนข้างมอม ตม. มาในชุดนอกเครื่องแบบ เขามองก็รู้แล้วว่าเราไม่ใช่คนเกาหลี เขามีเครื่องสแกนหน้า เหมือนโทรศัพท์นี่แหละ ยกขึ้นสแกนหน้าเรา มันเด้งเลยว่าคนนี้เข้าเกาหลีวันไหน เราไม่มีสิทธิปฏิเสธ เค้าจับได้เลย
สวนที่หญิงวัย 42 ปี ทำงานในประเทศเกาหลีใต้
เธอมาทำงานที่เกาหลีใต้ครั้งแรก ตอนอายุ 38 ปี ยังอยู่ในช่วงวัยที่สมัครทำงานแบบถูกกฎหมายด้วยระบบ EPS ได้ แต่ปัญหาเรื่องระยะเวลาที่อาจต้องรอนานกว่า 2 ปี และไม่มีการรับประกันว่าจะถูกนายจ้างเลือก ทำให้เธอรอไม่ไหว
พี่มีภาระค่อนข้างเยอะ เราจะรอตรงนั้นไม่ได้ ตรงไหนเข้ามาเร็วเราก็ยอมไป ต้องหารายได้ก่อน ถ้าคนที่ยังพออยู่ได้ ถ้าไปถูกต้องตามกฎหมายก็จะดี ทำงานปลอดภัย กรมแรงงานเค้าก็ดูแล แต่ว่าชีวิตของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน เรารอไม่ได้
สแกนระบบ EPS ส่งแรงงานไปเกาหลีใต้
สาธารณรัฐเกาหลีนำระบบอนุญาตจ้างงานสำหรับแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System for Foreign Workers หรือ EPS) มาใช้ครั้งแรกในปี 2547 ปัจจุบันมีประเทศที่ได้รับสิทธิในการจัดส่งแรงงานไปทำงานตามระบบนี้ 16 ประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในนั้น
เงื่อนไขของผู้สมัครผ่านระบบนี้ ก็คือ ต้องมีอายุตั้งแต่ 18-39 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติอาชญากรรม และไม่ใช่บุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้
แต่ละปีเกาหลีใต้จะแจ้งจำนวนโควตาแรงงานที่ต้องการมายังกรมการจัดหางาน โดยในปี 2567 ไทยได้โควตารวมกว่า 8,881 อัตรา แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 5,500 อัตรา และภาคบริการ 3,381 อัตรา
จากนั้นกรมฯ เปิดรับสมัครแรงงานเข้ารับการอบรม เพื่อสอบวัดความรู้ภาษาเกาหลี รายชื่อผู้ที่สอบผ่านจะถูกบันทึกเข้าระบบ EPS เพื่อให้นายจ้างเกาหลีใต้เข้ามาสุ่มเลือก คะแนนสอบแต่ละครั้งจะใช้ได้ 2 ปี หากไม่ได้รับเลือก แรงงานต้องสมัครสอบใหม่
เท่ากับว่าแม้ผ่านการทดสอบจนมีรายชื่อในบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือก ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้งานทำ ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 พบว่า ตัวเลขรายชื่อที่อยู่ใน wait list ของสำนักบริการพัฒนาบุคลากรแห่งเกาหลี ศูนย์ EPS ประจำประเทศไทย ยังมีแรงงานไทยรอให้นายจ้างเลือกอีกกว่า 7,700 คน
นายสุรศักดิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ยอมรับว่า ข้อจำกัดของระบบ EPS เป็นส่วนหนึ่งที่บีบให้แรงงานไทยเลือกไปทำงานนอกระบบ
ที่ผ่านมาทางกรมฯ เคยพยายามแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับรัฐบาลเกาหลี ถึงการพิจารณาคุณสมบัติ และทบทวนกฎเกณฑ์ของระบบ EPS
ทางกรมฯ กับทาง HRD เกาหลีประจำประเทศไทย ก็ได้มีการพูดคุยกันตลอด เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติในการสอบ หลักเกณฑ์ในการสอบ ว่าทำยังไงที่จะให้คนไทยเข้าไปทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายให้ได้มากที่สุด อาจจะลดคะแนนลง หรือหลักสูตรในการสอบอาจจะไม่ต้องถึงกับยากเกินไป
นายสุรศักดิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน
ขณะที่ นายไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากมีการปรับเปลี่ยนระบบนี้ให้ข้อสอบมีความยากง่ายตามแต่ประเภทงาน รวมถึงให้แรงงานได้รับเลือกเข้าทำงานตามลำดับ หรือ first come first served อาจช่วยให้จำนวนแรงงานที่ถูกบีบออกจากระบบลดลงได้
หลังจากที่สอบผ่านแล้วไม่ควรให้เขารอนานนัก ควรใช้กระบวนการ first come first served หมายความว่า สอบได้ ต้องให้ไปก่อน ไม่อยากให้นายจ้างลงมามีสิทธิ์เลือกอะไรเยอะ นายจ้างบางทีกำหนดเงื่อนไขเอาไว้เยอะเกิน แล้วบางทีรัฐบาลก็ยอมเยอะเกินไป
นายไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปี 2567 คนไทยโอเวอร์สเตย์กว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน
ข้อมูลจากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สาธารณรัฐเกาหลี ณ วันที่ 31 พ.ค. 2567 พบว่า มีคนไทยในเกาหลีใต้ทั้งหมด 190,117 คน แบ่งเป็นพำนักถูกกฎหมาย 43,307 คน ผิดกฎหมาย 145,810 คน
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล เก็บข้อมูลจำนวนคนไทยที่ทำงานแบบถูกกฎหมายพบว่ามีทั้งหมด 28,887 คน แบ่งเป็น เพศชาย 23,565 คน และเพศหญิง 5,322 คน