อนุกมธ.เปิดเอกสารซีพีเอฟ ระบุชื่อ 2 ขรก.รับซาก "ปลาหมอคางดำ" ปี 2551

สิ่งแวดล้อม
25 ก.ค. 67
20:20
1,885
Logo Thai PBS
อนุกมธ.เปิดเอกสารซีพีเอฟ ระบุชื่อ 2 ขรก.รับซาก "ปลาหมอคางดำ" ปี 2551
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ซีพีเอฟ” ไม่เข้าชี้แจง อนุกมธ.ปลาหมอคางดำ ทำหนังสือแจ้งติดภารกิจ ปธ.อนุฯ “หมอวาโย” ระบุมีเอกสารแจ้ง 4 หน้า เป็นขั้นตอนการขอนำเข้า การเลี้ยง พร้อมเอกสารขอนำเข้าและมีชื่อ 2 จนท. ในนั้นเป็น “อธิบดีกรมประมง” คนปัจจุบัน สมัยเป็นนิติกร คาดจะรู้เรื่องทั้งหมด

วันนี้ (25 ก.ค.2567) เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุม คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เป็นรองประธาน

เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง กรณีผลกระทบจากปลาหมอคางดำอีกครั้ง โดยในวันนี้ได้ผู้บริหารของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ CPF เข้าชี้แจงข้อมูล แต่แจ้งว่าติดภารกิจ

นพ.วาโยกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้เชิญ นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นครั้งที่ 2 แต่เนื่องจากซีพีเอฟแจ้งว่า ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากติดภารกิจ แต่ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเพื่อเป็นประโยชน์ เป็นหนังสือลงวันที่ 24 ก.ค.2567 จำนวน 3 หน้า กับเอกสารแนบ 1 แผ่น รวมเป็นเอกสาร 4 แผ่น

วันนี้เราได้เปิดโอกาสให้ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในสังคมขณะนี้ แต่ประธานบริษัทก็ปฏิเสธการเข้าชี้แจงทั้งสองครั้ง คิดว่าเราคงไม่ได้รับเกียรติอีกต่อไป

ขอสรุปข้อมูลเบื้องต้นก่อน ย่อหน้าแรกแจ้งว่าได้รับหนังสือแล้ว ย่อหน้าที่สอง ย้อนกลับไปปี 2553 วันที่ 22 ธ.ค.2553 นำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว ไล่เรียงมาว่า 2,000 ตัว ตาย 1,400 ตัว เหลือ 600 ตัว ผ่านไป 2 วัน เหลือ 400 ตัว ผ่านไปอาทิตย์หนึ่งเหลือ 200 ตัว ผ่านไป 2 อาทิตย์เหลือ 150 ตัว ผ่านไป 3 อาทิตย์ เหลือ 50 ตัว

ทางบริษัท ซีพีเอฟ ได้เปิดชื่อเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่อ้างว่าเป็นผู้ติดต่อประสานงานในการเก็บโหลปลา ซึ่งตอนแรกถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อวานซืน (23 ก.ค.2567) ที่เราไปกรมประมงกันมา เขาถมดำรายชื่อ เพราะเป็นประเด็น PDPA ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมด้วย เพราะว่าท่านไม่ได้อยู่ในที่นี้ เราคงไม่ได้เปิดเผยชื่อ และจะประสานกรมประมงไปว่า เจ้าหน้าที่คนนี้จะชี้แจงอย่างไร

แผ่นที่ 2 เล่าถึงกระบวนการว่า พอยุติเสร็จแล้วก็เอาไปฝัง โดยปูนขาว วันที่ 7 ม.ค.2554 แจ้งการตาย ทำลายซาก ไปที่เจ้าหน้าที่คนเดิม และนำส่งลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลีนให้กับท่านนี้

ปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เข้ามาตรวจสอบ จึงรายงานไป เรื่องบ่อพักน้ำ R 2 ซึ่งตรงกับรายงานของกรมประมง และอธิบายว่า บ่อพักน้ำนั้นเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งก็แน่นอนว่าดูดน้ำจากแหล่งธรรมชาติเข้ามา

สรุปสุดท้ายว่า บริษัทไม่มีการเลี้ยงและวิจัยปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่ปี 2564 แม้ว่าทางบริษัทมั่นใจว่า ไม่ได้เป็นต้นตอของการแพร่ระบาด แต่ก็มิได้นิ่งนอนใจ ก็เหมือนที่ได้แถลงข่าวไปเรื่องการรับซื้ออะไรต่าง ๆ ก็จบเพียงเท่านี้

แผ่นสุดท้าย แนบหนังสือเพิ่มมา อันนี้เป็นหนังสือแจ้งขออนุญาตนำเข้า แต่เลือกที่จะส่งแผ่นวันที่ 11 พ.ย.2551 มา จริง ๆ ได้รับอนุญาตเข้าตั้งแต่ปี 2549 แล้วก็มีใบแจ้งหลายรอบ แต่เลือกที่จะส่งแผ่นนี้มา ผมก็นั่งพิจารณาว่า ทำไมจึงส่งแผ่นนี้มา ก็ถึงบางอ้อว่า มีชื่อท่านนักวิชาการ ประมง 4 เบอร์โต๊ะที่ผมเคยบอกไว้เมื่อวันอังคาร ก็คือเปิดชื่อมา 1 ท่าน ซึ่งของกรมประมงเขาบอกเบอร์โต๊ะอย่างเดียว แต่ในใบปี 2551 มีชื่อด้วย

มีอีกชื่อที่สำคัญคือชื่อ ท่านบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ท่านปัจจุบัน ในฐานะนิติกร 7 รักษาการในตำแหน่ง... สรุปว่าในขณะนั้นอธิบดีอยู่นี่ และน่าจะพอทราบเรื่องด้วย และพบว่าท่านเป็นนิติกรนี่นา ท่านจบกฎหมาย ให้ทีมงานสืบค้นมา ท่านจบนิติศาสตร์บัณฑิต ตั้งแต่ปี 2533

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมวันนี้ ได้นำเสนอความเห็นถึงประเด็นที่ซีพีเอฟ ไม่ได้เดินทางมาด้วยตัวเอง และเห็นว่ามีหลายประเด็นทางข้อกฎหมาย ที่ต้องการคำตอบ โดยเฉพาะรายละเอียดการนำเข้า และกระบวนการวิธีวิจัยตั้งแต่เริ่มแรก ของซีพีเอฟ โดยที่ประชุมเสนอให้ใช้มาตรการทางกฎหมาย ในการเรียกข้อมูล รวมถึงการเชิญนักกฎหมาย ทั้งจากคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญ รวมถึงนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัย เพื่อให้ความเห็นในครั้งถัดไป

หลังเสร็จสิ้นการประชุม นพ.วาโยกล่าวว่า เราสงสัยว่า สรุปแล้วการวิจัยแล้วมันได้ผลหรือไม่ได้ผล การวิจัยเริ่มตั้งแต่เมื่อไร สิ้นสุดเมื่อไร แล้วปลาที่นำเข้ามานั้น เราควรจะต้องรู้ด้วยว่ามันมาจากบริษัทอะไร เพราะจริง ๆ เราอาจจะต้องเทส DNA Bank ที่นั่นได้

ดังนั้นเราจึงอยากเห็นว่า สรุปแล้วมันเป็นอย่างไร รวมถึงบ่อที่ใช้ในการเลี้ยง ว่าเป็นบ่อดินหรือบ่อปูน การเลี้ยงเป็นระบบเปิด หรือระบบปิด มาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ และในรายงานการวิจัย ต้องมีการเขียนเรื่องวิธีการควบคุม ไม่ให้มันหลุดรอดออกไป รวมถึงวิธีการทำลายและเอกสารต่าง ๆ ที่จบงานวิจัยได้ผลดีหรือไม่ดี และท่านสรุปผลการทดลองอย่างไร

ซึ่งเรื่องนี้ในเงื่อนไขของ IBC มันต้องมี proposal งานวิจัย ซึ่งเรื่องนี้ อนุ กมธ. ยังไม่เคยได้ ทั้งจากกรมประมงและยังไม่ได้ทั้งจากซีพีเอฟ บริษัทผู้ขอนำเข้าเลย ผมไม่เข้าใจว่ามันยากเย็นอะไรขนาดนั้น ไม่เข้าใจเหมือนกันแต่พยายามขออยู่

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่า เมื่อไม่ได้เอกสารเรื่องที่ต้องการจากซีพีเอฟ ก็คงเป็นไปตามที่บอก ว่า เราจะไม่เชิญซีพีเอฟอีก ก็คงเป็นอย่างนั้น คงไม่กล้าที่จะเชิญแล้ว แต่ไม่ได้ปิดโอกาส ก็ยังยินดีหากซีพีเอฟจะติดต่อกลับมา

ซีพีเอฟสะดวกวันไหน เวลาไหน ว่ามาเลย เดี๋ยวผมเปิดวาระการประชุมเป็นพิเศษให้ หรือจะให้ อนุ กมธ. ไปประชุมสัญจร แบบที่เคยไปที่กรมประมงก็ได้ หรือจะนัดให้ไปหาตอน 19.00 น. คณะผมก็จะไป ท่านว่าง 01.30 น. ผมก็จะไป 01.30 น. ไม่ว่าอะไรเลย ขอให้ท่านแจ้งแล้วบอกมา แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะได้รับความกรุณาเช่นว่าหรือเปล่า

นพ.กล่าวต่อว่า หากไม่ได้ข้อมูลอะไรมาจริง ๆ ต้องขอเชิญหน่วยงานทางกฎหมายต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ แล้วอาจจะต้องหาเจ้าภาพอื่นและต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายอื่น เช่น สิทธิ์และหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการเป็นต้น ในการขอ หรือหากมีใครจะเป็นเจ้าภาพดำเนินการตามกระบวนการตุลาการ หรือใช้หมายศาลไปดำเนินการ ก็ต้องว่ากันอีกที

อ่านข่าว : "นาก" ไม่ใช่คำตอบปราบ "ปลาหมอคางดำ" ห่วงควบคุมยาก

"ฝูงนาก" โผล่กิน "ปลาหมอคางดำ" ป่าชายเลนริมเจ้าพระยา

เปิดชื่อบอร์ด กยท.ทุ่มงบฯ ซื้อ “ปลาหมอคางดำ” ทำน้ำหมักชีวภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง