วันนี้ (30 ก.ค.2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำว่า อาจจะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และเป็นปัญหาคาราคาซังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่รัฐบาลก็ต้องถือว่ามีความเดือดร้อนของประชาชนจริงๆ
จึงถือเป็นภารกิจที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ และต้องเอาใจใส่ มีความจริงใจกับการแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า ที่ผ่านมาได้จัดการอย่างไรและจากนี้จะมีมาตรการอย่างไร
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยรายงานว่า ที่ผ่านมากรมประมง ได้พยายามแก้ไขปัญหาแต่ก็เอาไม่อยู่ ปรากฏว่ายังขาดการบูรณาการ เนื่องจากกรมประมงทำหน้าที่เพียงผู้เดียว ขาดการบูรณาการระหว่างภาคประชาสังคมและภาคเอกชน
จึงทำให้รอบนี้การไปแก้ไขปัญหาในบริบทที่ต่างกัน ได้เชิญนายกสมาคมประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและร่วมกันคิดแผนวางมาตรการในการแก้ไขปัญหา และตกผลึกเป็นมาตรการ 7 ข้อ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท และจะเอาปัญหาปลาหมอคางดำจะจบ ภายในปี 2570 โดยจะลดไปตามลำดับ โดย 7 มาตรการประกอบด้วย
1.เร่งการจับปลาหมอคางดำ คาดว่าจะลดปริมาณปลาหมอคางดำได้ประมาณ 4 ล้านกิโลกรัม ภายในกลางปีหน้า
2.นอกจากนี้จะส่งปลาผู้ล่าเช่น ปลากะพง ลงไปยังแหล่งน้ำที่พบการระบาด ซึ่งแต่ละแหล่งพื้นที่จะต่างชนิดไป
3.จะนำเอาปลาหมอคางดำที่จับได้บางส่วนจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำปุ๋ยชีวภาพ และทำปลาร้า หรือปลาป่น เพื่อให้ปลาหมดคางดำที่จับมาแล้วไม่สูญเปล่า มีช่องทางไปใช้ประโยชน์
4.ป้องกันการแพร่กระจายข้ามแหล่งน้ำ
5.ให้ความรู้กับประชาชนการสังเกตระวังป้องกัน
6.แผนระยะกลางและระยะยาวใช้เทคโนโลยีด้านการเหนี่ยวนำโครโมโซมไปหมอคางดำให้เป็นหมัน
7.คือในแหล่งน้ำช่วงที่ผ่านมามีปลาหมอคางดำไปคุกคามทำให้ระบบนิเวศเสีย กรมประมงมีบันทึกอยู่แล้วว่าแหล่งน้ำนั้นๆ มีอะไรอยู่บ้าง ในช่วงที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ทำให้สัตว์น้ำประจำถิ่นถูกทำลายไป กรมประมงจะนำจัดร้านคืนถิ่นฟื้นฟูความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
อ่านข่าว :
ครม. เคาะงบ 600 ล้าน สร้าง-ซ่อมแซมบ้านพักข้าราชการกลาโหม
“ชัยธวัช-พิธา” จ่อแถลงคดียุบพรรคก้าวไกล 2 ส.ค.นี้
ผอ.สำนักงบฯ ยันไร้ปัญหาดึงงบ 68 หน่วยงานอื่นใช้ดิจิทัลวอลเล็ต