กรมประมง ขอ DNA "ปลาหมอคางดำ" จากต้นทาง "กานา"

สังคม
3 ส.ค. 67
09:01
757
Logo Thai PBS
กรมประมง ขอ DNA "ปลาหมอคางดำ" จากต้นทาง "กานา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมประมง ส่งผลสอบปม "ปลาหมอคางดำ" ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ขณะที่อธิบดีฯ ทำหนังสือไปยังกานา ขอตัวอย่าง DNA ปลาหมอคางดำ เพื่อนำมาเทียบเคียงกัยพันธุกรรมที่ระบาดใน 17 จังหวัด

วันนี้ (3 ส.ค.2567) นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือไปยังประเทศกานา เพื่อขอชิ้นเนื้อหรือตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นต้นทางที่ภาคเอกชนขออนุญาตนำเข้ามาวิจัยในประเทศไทยในปี 2553

ทั้งนี้ จะนำตัวอย่างมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุกรรม เทียบเคียงกับปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายใน 17 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ตราด ชลบุรี และนนทบุรี

นายบัญชา ยืนยันว่า กรมประมงไม่หยุดดำเนินการในอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบหาสาเหตุของการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่รุกรานระบบนิเวศและสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรไทย

ส่งผลสอบ “หมอคางดำ” ระบาดให้กระทรวงเกษตรฯ แล้ว

ส่วนผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ดำเนินการภายใน 7 วัน ล่าสุดได้ส่งถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่เช้าวานนี้ (2 ส.ค.) เพื่อรายงานต่อ ร.อ.ธรรมนัส และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์

นายบัญชา กล่าวว่า การที่สภาทนายความเตรียมฟ้องกรมประมง และบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคำ ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหา กอบกู้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับมาจากปลาหมอคางดำให้ได้

ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้กับนายอรรถกร ซึ่งแจ้งว่าขอไม่ให้สัมภาษณ์ แต่วันนี้นายอรรถกรจะลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและชาวประมง ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเครื่องมือด้านการประเมินผลตอบแทนเชิงสังคม วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า รายได้ของประมง ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตั้งแต่ปี 2551-2561 มีมูลค่าสูงถึงปีละ 131 ล้านบาท หากภาครัฐปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำต่อไป เกษตรกรและชาวประมงท้องถิ่นจะสูญเสียรายได้ ยังไม่ครอบคลุมความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าว : อนุกมธ.ระดม “มือกฎหมาย” สางปมร้อน “ปลาหมอคางดำ” 

"ปลาหมอคางดำ" สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ตำบลเดียว 131 ล้าน/ปี 

"ฐากร" จ่อเรียกคุย 11 บริษัทส่งออก "ปลาหมอคางดำ" ปี 2556 

ด่วน! CPF เข้าแจงปม "ปลาหมอคางดำ" กมธ.อว. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง