ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้างนอก XX ข้างใน XY นักกีฬา "เพศกำกวม" ในโอลิมปิก

กีฬา
5 ส.ค. 67
14:18
5,194
Logo Thai PBS
ข้างนอก XX ข้างใน XY นักกีฬา "เพศกำกวม" ในโอลิมปิก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเด็นเพศกำกวมหรือ "Intersex" ของ "อิมาน เคลิฟ" นักชกจากแอลจีเรียไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป เมื่อต้องขึ้นชกกับนักกีฬาขวัญใจคนไทย "จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง" ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ในอดีตพบว่ามีนักกีฬาประเภทนี้ในโอลิมปิก มาดูว่าพวกเขาต้องเจอกับเรื่องอะไรบ้าง

ภาวะ Intersex เป็นความผิดปกติของการพัฒนาอวัยวะเพศ หรือ อวัยวะเพศมีกายภาพที่แตกต่างจากปกติ จนไม่สามารถระบุเพศชัดเจนในขณะแรกเกิดได้ เด็กที่เกิดมาจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้ง 2 เพศ ที่ไม่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงปริมาณฮอร์โมนเพศที่สร้าง และโครโมโซมเพศที่ไม่ตรงตามลักษณะกายภาพภายนอก แต่ความกำกวมทางเพศเหล่านี้ จะเริ่มปรากฏความชัดเจนเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ เช่น เริ่มเห็นสรีระ สัดส่วนแบบผู้หญิงชัดขึ้น ในรายที่ถูกระบุโดยแพทย์ว่าเป็นผู้ชายมาตั้งแต่กำเนิด หรือบางรายอาจแสดงลักษณะทางเพศชายแม้ว่าถูกระบุเป็นเพศหญิงมาก่อน 

ในด้านกีฬา ปัจจุบันยังไม่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการ เรื่องการกำหนดเพศของนักกีฬาที่มี 2 เพศให้เข้าร่วมการแข่งขัน แต่เป็นที่แน่ชัดว่านักกีฬาเพศกำกวมในการแข่งขันกีฬา มักเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้าง ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้ตัวคู่แข่ง แต่ยังย้อนมากระทบตัวของพวกเขาเอง

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1932 ถือเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาเพศกำกวมเข้าแข่งขันและได้รับเหรียญรางวัลด้วย โดยนักกีฬาโอลิมปิกเพศกำกวมส่วนใหญ่จะลงแข่งขันกรีฑา เวลาต่อมา "โอลิมปิก" ได้พยายามควบคุมการส่งนักกีฬาเพศกำกวมเข้าร่วม เช่น กรณีของนักกีฬาชาวเช็ก Zdeněk Koubek ที่เติบโตมาในฐานะเด็กผู้หญิงต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้ชาย ทำให้ทางโอลิมปิกกังวลถึงศักยภาพของนักกีฬาดังกล่าวที่จะถูกใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ของประเทศในสนามโอลิมปิก 

ทำให้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐอเมริกา Avery Brundage ได้กดดันคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้อนุญาตให้มีการตรวจร่างกายนักกีฬาทุกคนที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศ ในปี 1968 นักกีฬาหญิงทั้งหมดในโอลิมปิกต้องผ่านการยืนยันเพศตามกระบวนการโดยใช้วิธีตรวจโครโมโซม ในปี 1996 IOC ยกเลิกการทดสอบเพศ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักกีฬาที่ยังไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะเพศกำกวม แต่จะทดสอบต่อเมื่อมี "ข้อสงสัยที่ร้ายแรง" ขึ้นมาเท่านั้น

ปี 2012 IOC เปลี่ยนวิธีการตรวจยืนยันเพศ โดยใช้ปริมาณฮอร์โมนเพศชายเป็นตัววัด ซึ่งวิธีการนี้ได้รับเสียงครหาถึงความไม่น่าเชื่อถือและเลือกปฏิบัติ แต่ก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ ตั้งแต่ปี 2018 สหพันธ์กรีฑาโลกได้กำหนดให้นักกีฬาที่มีเพศกำกวมต้องรับประทานยาหรือเข้ารับการผ่าตัดจึงจะมีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเป็นการตัดโอกาสนักกีฬาหลายคนไปโดยปริยาย  

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และกีฬาระดับนานาชาติหลายคน สนับสนุนให้ยกเลิกการตรวจยืนยันเพศในกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอลิมปิก เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นเครื่องมือของการเลือกปฏิบัติ และการเหยียดเชื้อชาติ ลดทอนความเป็นมนุษย์ 

16 รายชื่ออดีตนักกีฬาโอลิมปิกที่เป็นเพศกำกวม 

1. สตานิสลาวา วาลาซีวิซ (หรือที่รู้จักในชื่อ สเตลลา วอลช์) นักวิ่ง-ขว้างจักรจากโปแลนด์ ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1932 เธอคว้าเหรียญทองในการวิ่ง 100 เมตร เธอถูกนักข่าวหนังสือพิมพ์โปแลนด์กล่าวหาว่าเป็นผู้ชายและถูกบังคับให้เข้ารับการตรวจอวัยวะเพศ ซึ่งยืนยันว่าเธอเป็นผู้หญิง แต่หลังจากการเสียชีวิตในปี 1980 ศพของเธอถูกชันสูตรและพบว่า "เธอเป็นอินเตอร์เซ็กซ์" 

เธอมีระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย แต่องคชาตไม่ทำงานและท่อปัสสาวะที่ไม่พัฒนา อัณฑะเล็ก ต่อมลูกหมากเล็ก เธอไม่มีอวัยวะเพศหญิง ไม่มีช่องคลอด มดลูก หรือรังไข่ รายงานระบุว่าวอลช์ยังมีภาวะผิดปกติทางพันธุกรรม เซลล์ส่วนใหญ่ของเธอมีโครโมโซม XY แต่บางส่วนมีโครโมโซม X0 

2. ไฮน์ริช ราทเยน นักกรีฑากระโดดสูงเยอรมนี ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1936 เขาถูกแพทย์-พยาบาลผดุงครรภ์บอกว่าเป็นเด็กผู้ชายเมื่อแรกเกิด แต่อีก 5 นาทีต่อมาก็บอกว่าเป็นเด็กผู้หญิง ครอบครัวของราทเยนเลี้ยงดูเขาแบบเด็กผู้หญิงมาตลอด แต่เมื่ออายุ 10 ขวบ เขาเริ่มรู้ตัวว่าเขาเป็นเด็กผู้ชาย แต่ไม่มีใครสนใจ ทุกคนยังเห็นเขาเป็นเด็กผู้หญิงมาตลอด

เมื่อโตขึ้นเขาได้รับการตรวจจากแพทย์และพบว่า เขาเป็นบุคคลเพศกำกวม เขาไม่มีอวัยวะเพศชายและไม่มีของเพศหญิงเช่นกัน เขาสามารถคว้าเหรียญทองกระโดดสูงในโอลิมปิกมาได้ ภายหลังเขาเปิดเผยว่าเป็นแผนการลับของนาซีและ "อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ให้สวมรอยเป็นผู้หญิงเพื่อนำความรุ่งโรจน์ทางกีฬามาสู่เยอรมนีในขณะนั้น

3. เอวา โคลบูคอฟสกา นักกรีฑาโปแลนด์ ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ผู้คว้าเหรียญทองและทองแดงในการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 เมตร และวิ่ง 100 เมตร ตามลำดับ เธอได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่เร็วที่สุดในโลก แต่ในเวลาต่อมา สถิติของเธอถูกยกเลิกโดยสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) หลังจากการทดสอบเพศในปี 1967 ระบุว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิง เพราะพบโครโมโซม Y ในเซลล์บางส่วน และพบโครโมโซม X บางส่วนที่ไม่ทำงาน แต่ในเวลาต่อมาผลการทดสอบถูกระบุว่า "ข้อมูลไม่เพียงพอ" 

ความเสียหายในชื่อเสียงของเอวา ทำให้เธอเกิดความอับอาย จน IOC ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการยืนยันเพศนักกีฬา และเก็บผลการทดสอบไว้เป็นความลับ  

4. เอดินันซี ซิลวา นักยูโดบราซิล ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1996, 2000, 2004 และ 2008 ซิลวาเกิดมาเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ แต่เข้ารับการผ่าตัดในช่วงทศวรรษ 1990 เพื่อให้สามารถแข่งขันกีฬาสตรีได้ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก เขาเข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิกถึง 4 ครั้ง 

5. เอริกา โคอิมบรา นักวอลเลย์บอลบราซิล ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2000, 2004 โคอิมบราเกิดมามีภาวะอินเตอร์เซ็กซ์ และเข้ารับการผ่าตัด เขาต้องผ่านการทดสอบทางเพศก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้แข่งขัน

6. ราเชล นาชูลา นักกรีฑาและนักฟุตบอลแซมเบีย ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008, 2024 นาชูลาเป็นนักกีฬารายแรก ๆ ที่ถูกตรวจเพศด้วยวิธีเทสต์ฮอร์โมน และพบว่าระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตามธรรมชาติสูงกว่าที่สมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกัน (CAF) ยอมรับ ทำให้เขาถูกแบนจากการแข่งขัน

7. ฟรานซีน นิยอนซาบา นักกรีฑาบุรุนดี ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012, 2016, 2020 หลังคว้าเหรียญเงินในโอลิมปิกแล้ว ปี 2019 เธอถูกประกาศห้ามลงแข่งขันกีฬาวิ่งหญิงเนื่องจากสหพันธ์กรีฑาโลกตรวจพบว่าเธอเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ที่มีโครโมโซม XY และระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง  

8. แคสเตอร์ เซเมนยา นักกรีฑาแอฟริกาใต้ ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012, 2016 คว้า 2 เหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกทั้ง 2 ครั้ง เมื่อแรกเกิด เซเมนยา ถูกกำหนดให้เป็นเพศหญิงแม้เกิดมาพร้อมกับความเป็นอินเตอร์เซ็กซ์ ที่ขาดเอนไซม์ 5α-Reductase 2 (5-ARD) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ส่งผลต่อมนุษย์ที่มีโครโมโซม XY เท่านั้น ทำให้ร่างกายไม่สามารถพัฒนาความเป็นชายได้อย่างสมบูรณ์ อวัยวะเพศภายนอก ดูคลุมเครือหรืออาจเห็นเป็นเพศหญิงตั้งแต่แรกเกิด 

เซเมนยา เล่าว่าเขาเกิดมาพร้อมกับช่องคลอดและอัณฑะภายในที่ไม่ลงถุง แต่เขาไม่มีมดลูกหรือท่อนำไข่และไม่มีประจำเดือน อัณฑะภายในของเขาผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตามธรรมชาติ ในระดับปกติของผู้ชาย ในปี 2019 เธอถูกบังคับให้ใช้ยาลงระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หากต้องการลงแข่งขัน ซึ่งเขาปฏิเสธและฟ้องร้อง โดยกล่าวว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 

9. ดูตี จันด์ นักกรีฑาอินเดีย ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2016, 2020 ในปี 2014 สหพันธ์กรีฑาอินเดียระบุว่าภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงทำให้เธอไม่มีสิทธิ์ลงแข่งขันในฐานะนักกีฬาหญิง ต่อมาเขายื่นอุทธรณ์ต่ออนุญาโตตุลาการกีฬาจนได้รับคำตัดสินว่า ไม่มีหลักฐานมากพอที่ทำให้เชื่อว่าการมีปริมาณเทสโทสเตอโรนที่สูงจะส่งผลให้ต่อประสิทธิภาพการเล่นกีฬาของผู้หญิง ทำให้จันด์สามารถกลับเข้าสู่วงการกีฬาได้

10. มาร์กาเร็ต วัมบูย นักกรีฑาเคนยา ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 วัมบุยมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง เขาปฏิเสธที่จะใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมน จึงถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันในปี 2020 

11. บาร์บารา บันดา นักฟุตบอลแซมเบีย ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020, 2024 

12. ราเชล กุนดานันจิ นักฟุตบอลแซมเบีย ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020, 2024 ทั้ง 2 ถูกแบนจากการแข่งขันในแอฟริกาเนื่องจากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตามธรรมชาติสูงกว่าที่สมาพันธ์ฟุตบอลแอฟริกัน (CAF) ยอมรับ ต่อมาพวกเขายอมกินยาลดระดับฮอร์โมน ทำให้ได้กลับมาปรากฏตัวในปี 2024 

13. เบียทริซ มาซิลิงกิ นักกรีฑานามิเบีย ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 

14. คริสติน มโบมา นักกรีฑานามิเบีย ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทั้ง 2 ถูกแบนจากสหพันธ์กรีฑาโลกเนื่องจากเป็น Intersex มีโคมโมโซม XY และมีระดับฮอร์โมรเทสโทสเตอโรนที่สูงเกินค่ามาตรฐาน

15. อามินาตู เซย์นี นักกรีฑาไนเจอร์ ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ถูกสั่งห้ามลงแข่งขันวิาง 800 และ 400 เมตร จากสหพันธ์กรีฑาโลกเนื่องจากมีระดับฮอร์โมรเทสโทสเตอโรนที่สูงเกินค่ามาตรฐาน แต่เธอสามารถลงแข่งวิ่ง 200 เมตรในโอลิมปิก 2020 ได้

16. เปโดร สปาจารี นักว่ายน้ำบราซิล ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 หลังจากทำลายสถิติการแข่งขันชิงแชมป์โลก FINA รุ่นจูเนียร์ ประเภทฟรีสไตล์ 100 เมตรในปี 2015 สปาจารีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไคลน์เฟลเตอร์ซึ่งเป็นภาวะโครโมโซม XXY ที่ส่งผลทำให้เขามีปัญหา ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายลดลงจนส่งผลเสียต่อร่างกาย สปาจารีต้องเข้ารับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเพื่อให้สามารถลงแข่งขันกีฬาได้ 

ส่วนนักกีฬาโอลิมปิก 2 คนล่าสุดในโอลิมปิก 2024 ที่เป็นประเด็นเรื่องเพศกำกวมคือ "หลิน หยู่ ถิง" กำปั้นชาวไต้หวัน รุ่น 57 กิโลกรัม และ "อิมาน เคลิฟ" กำปั้นชาวแอลจีเรีย รุ่น 66 กิโลกรัม ที่ต้องดวลหมัดลุ้นเข้ารอบชิงกับ กำปั้นสาวชาวไทย "จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง" ทั้ง ๆ ที่สมาคมมวยสากลนานาชาติ (IBA) เคยตัดสิทธิ์ เคลิฟ และ หยู่ ถิง จากการแข่งขันมวยสากลหญิงชิงแชมป์โลก ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2023 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) อนุญาตให้ทั้งสอง สาว? เข้าชิงชัยในศึกโอลิมปิก 2024 ได้

ส่งใจเชียร์ "จันทร์แจ่ม" โอลิมปิก 2024

นับถอยหลังคนไทยเตรียมส่งแรงใจเชียร์มวยหญิงคู่หยุดโลก จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง พบกับอิมาน เคลิฟ จากแอลจีเรีย ซึ่งจะดวลหมัดในเวลา 03.34 น.ตรงกับเช้ามืดวันที่ 7 ส.ค.นี้ตามเวลาประเทศไทย ถ่ายทอดสดทางช่อง 7HD ทั้งนี้จันทร์แจ่ม มีเหรียญทองแดงการันตีแล้ว หากชนะอิมาน เคลิฟ จะเข้าสู่รอบชิงเหรียญทองต่อไป 

อ่านข่าวเพิ่ม : 

รู้จัก "จันทร์แจ่ม" กับเหรียญมวยประวัติศาสตร์ "โอลิมปิก 2024"

เทพวิวลุ้นทอง! เอาชนะมืออันดับ 7 ของโลกโอลิมปิก 2024 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง