วันนี้ (4 ส.ค.2567) นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย พร้อมคณะลงพื้นที่นำน้ำหมักจากปลาหมอคางดำ มอบให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี หลัง กยท.ช่วยหามาตรการในการกำจัดปลาหมอคางดำ ที่ระบาดในขณะนี้ ซึ่งการนำปลาหมอคางดำ นำมาใช้เป็นน้ำหมักชีวภาพ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ยังเป็นการส่งเสริมชาวสวนยางในการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และเพิ่มผลผลิตน้ำยางให้กับเกษตรกรชาวสวนยางด้วย
ขณะที่ การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำที่พบการระบาดในหลายจังหวัด ซึ่งรัฐบาลแถลงมาตรการ 7 ข้อ ใช้งบประมาณ 450 ล้านบาทนั้น ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ออกมาตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ มาตรการใช้ปลานักล่า ที่ดูเหมือนจะเฉพาะเจาะจงไปที่ปลากะพง รัฐบาลไม่ได้ศึกษาสภาวะแวดล้อม ไม่ควรระบุเฉพาะปลากะพงขาว แต่อาจจะมีทั้งปลาชะโด ปลาช่อน หรือ ปลาอื่น ๆ ตามสภาวะการระบาดของแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ การป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง ควรชี้แจงว่า มีมาตรการใดบ้างในการป้องกันแหล่งน้ำข้างเคียง และที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้พูดถึง ความรับผิดชอบของส่วนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด ในแง่กฎหมายสิ่งแวดล้อม
ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกอีกว่า งบประมาณ 450 ล้านบาทที่ใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ ควรเป็นเรื่องที่ผู้ก่อปัญหาต้องรับภาระ ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 และการที่ออกมา บอกว่า จะหาตัวผู้กระทำความผิดก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้เวลา 7 วัน ขณะนี้เกินกำหนดมาแล้วหลายวัน ก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงมองว่ารัฐบาลควรแสดงความจริงใจ ทั้งการแก้ปัญหา และการหาตัวผู้ทำความผิด
อ่านข่าวอื่น :
เสียงสะท้อนผู้ประกอบการ "แพรับซื้อปลาหมอคางดำ" ได้ไม่คุ้มทุน