หาก"ทิพย์" ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ของเทวดา เช่น อาหารทิพย์ หรือ ดีวิเศษ อย่าง เทวดา เช่น ตาทิพย์ หูทิพย์, ดีวิเศษ เหนือปรกติธรรมดา หรือ เนื้อทิพย์ โลกทิพย์
ขณะที่ "ทิพย์" นิยามศัพท์โลกโซเชียลให้ความหมาย คือ การจิตนาการ หรือมโน เพื่อตอบสนองความรู้สึก อยากได้ ใคร่มี หรือเพื่อต้องการได้รับการยอมรับ ที่ปรากฏบ่อยครั้ง คือ การเข้าไปสวมบทบาทเป็น หมอทิพย์ ตำรวจทิพย์ ทหารทิพย์
รายล่าสุด คือ นายมงคล ปรีสุขเกษม "อัยการทิพย์" ซึ่งมีการอำพรางตัวในลักษณะเหมือน "ตัวจริง" เข้าไปอยู่ในโลกของกลุ่มข้าราชจริงๆ และยังตระเวนบรรยายให้ความรู้ และออกงานมอบของที่ระลึกตามหน่วยงานราชการ และสถานศึกษา
"สร้างเท็จ - โปรไฟล์ทิพย์"แอบอ้างในโลกออนไลน์
มีคำถามว่า หากพบร่าง "ทิพย์" แสดงตนอยู่ในตำแหน่งต่างๆ เช่นนี้แล้ว ประชาชนจะหวังพึ่งพาได้อย่างไร ? เมื่อมีการอุปโลกน์ตัวเอง แอบอ้างเป็นพนักงานอัยการ อาชีพ ที่เปรียบเสมือนทนายของแผ่นดิน ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน แต่กลับถูกนำอาชีพไปใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ สร้างความน่าเชื่อถือ
โดยเฉพาะ การสร้างโปรไฟล์เท็จผ่านโลกออนไลน์ของบุคคลหนึ่ง ที่สวมเครื่องแต่งกายชุดข้าราชการเป็นพนักงานอัยการ ประดับเข็มติดสถานะเต็มกลางหน้าอก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายของเหล่าบรรดาผู้กล้า ในหลักสูตรของตำรวจและทหาร ที่ต้องใช้ความสามารถในการฝ่าฟันอุปสรรค ฝึกความอดทนอย่างสูง เช่น อรินทราช สยบไพรี ร่มเอราวัณ หรือแม้กระทั่งบางเครื่องหมาย พนักงานอัยการตัวจริง ยังไม่สามารถนำมาติดได้
และนี่คือ พฤติกรรมซ้ำซากของ "นายมงคล" อัยการกำมะลอ ที่ใช้เครื่องแบบและชื่อขององค์กรสำนักงานอัยการสูงสุดตระเวนเดินสายเป็นวิทยากร บรรยายให้ความรู้ทางกฎหมายตามหน่วยงานราชการ และสถานศึกษาอย่างเปิดเผย โดยไม่มีใครทราบถึงความผิดปกติ ด้วยว่า ใช้มีการแอบเข้าไปใช้สถานที่หน้าห้องของอัยการตัวจริง
ไม่เพียงเท่านี้ "นายมงคล" ยังโชว์รูปภาพที่ตัวเองถ่ายคู่กับข้าราชการตำรวจระดับสูง และบุคคลที่อยู่ในแวดวงสังคม ตามงานต่าง ๆ เช่น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการแทรกตัวเข้าไปถ่ายรูปคู่ลักษณะแบบนี้กลับสวนทางกับความเป็นจริงที่พนักงานอัยการควรประพฤติตนให้เหมาะสม
"โป๊ะแตก" ตร.เข้าคุมตัวขณะบรรยายให้กับนักเรียน
หากพลิกประวัติ "นายมงคล" ตามข้อมูลอาชญากรรมของตำรวจ พบว่า อัยการทิพย์ผู้นี้ มีประวัติโชกโชนที่ไม่ธรรมดา เคยถูกดำเนินคดีอ้างเป็นพนักงานอัยการ ข่มขู่ตำรวจ และคุกคามอัยการหญิง ในวันที่ถูกจับกุม "นายมงคล" ได้ใช้สถานะของอัยการเข้าไปบรรยายให้ความรู้วิชากฎหมายให้กับนักเรียนภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.นนทบุรี ทั้งที่ไม่ได้เป็นพนักงานอัยการตัวจริง
เมื่อตำรวจนำหมายจับ เข้าควบคุมตัว "นายมงคล" สถานะอัยการทิพย์ จึงตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ในความผิดฐาน กระทำความผิดฐานกระทำโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง สวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สำนักงานอัยการสูงสุดโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ และผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ โดยพฤติกรรมเช่นนี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเสียหายของสำนักงานอัยการสูงสุด ไล่ตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปถึงระดับผู้บริหาร
นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เล่าพฤติกรรมของนายมงคล ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้เคยแอบอ้างเป็นที่ปรึกษาอัยการสูงสุด ข่มขู่จะทำร้ายดาบตำรวจนายหนึ่ง ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี จึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลตัดสินจำคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท แต่ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ จำคุก 15 วัน ปรับ 5,000 บาท โทษรอลงอาญา 2 ปี
แต่ยังไม่พ้นช่วงเวลาโทษรอลงอาญา 2 ปี นายมงคลได้สร้างวีรกรรมอีกครั้ง ก่อเหตุคุกคามอัยการหญิงท่านหนึ่งในเชิงชู้สาว และบุกเข้าไปที่บ้านฝ่ายหญิง ขณะแต่งกายแอบอ้างเป็นพนักงานอัยการ และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย
คดีนี้สำนักงานอัยการ ตั้งเรื่องร้องทุกข์ดำเนินคดี ข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และแต่งกายสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมาย ของเจ้าพนักงานโดยที่ไม่มีสิทธิ เพื่อให้คนอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ จึงเป็นที่มาของการนำหมายจับและเข้าควบคุมตัวนายมงคลในโรงเรียนขณะกำลังกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พฤติกรรมเหล่านี้ยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่เป็นคดีความอีกหลายๆเหตุการณ์
โฆษก อสส.แจงไม่มีระเบียบ ตั้งที่ปรึกษาในทางกฎหมาย
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้อธิบายถึงข้อระเบียบ กรณีการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพนักงานอัยการ ว่า จากการตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าไม่มีระเบียบในการแต่งตั้งที่ปรึกษาพนักงานอัยการ ไม่ว่ากรณีใด
มีแต่การตั้งคณะกรรมการ การมีส่วนร่วมภาคประชาชน โดยมีการคัดสรรบุคคลที่ได้รับการยอมรับตามคุณสมบัติผ่านคณะกรรมการ โดยจะออกคำสั่งหนังสือเวียนไปที่สำนักงานอัยการจากทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ เช่น การให้ความรู้ทางกฎหมาย หรือทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและสังคม ตามระเบียบคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด
"กรณีของนายมงคล ไม่ได้มีการดำเนินตามคำสั่งหนังสือเวียน ของสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน แต่เป็นการดำเนินการในนามส่วนตัว ไม่มีระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดรองรับ"
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สำนักงานอัยการสูงสุดเร่งทบทวน และหามาตรการ คัดเลือกบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมภาคประชาชนให้มากขึ้น และจะเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยยึดหลักภายใต้ระเบียบอย่างเคร่งครัด และคัดกรองบุคคลที่จะมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้ละเอียดขึ้น และหากใครกระทำผิดลักษณะนี้ จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และเร่งรัดการให้ได้รับโทษโดยเร็วเพื่อไม่ให้ประชาชนถูกหลอก และทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง
แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของกระบวนการยุติธรรม และถือว่ายังโชคดีที่อัยการกำมะลอคนนี้ ยังไม่ไปถึงขั้นหลอกรีดเงินชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ อ้างในการช่วยเหลือวิ่งเต้นคดี ...ความจริงการบรรยายให้ความรู้ทางกฎหมายหากร่ำเรียนมา ก็เป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์ต่อสังคม แต่ติดอยู่อย่างเดียว เหตุใดถึงต้องสวมใส่เครื่องแบบพนักงานอัยการ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองเป็นเพียงแค่ของทิพย์ ที่อย่างไรเสียไม่มีวันที่จะเป็นของจริงไปได้
รายงานพิเศษ : ชาติชาย ถุงเงิน ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมไทยพีบีเอส
อ่านข่าว :
รวบ "เจมส์-บางบอน" สะกดรอยขโมยคีย์การ์ดเข้าคอนโด ตร. 8 ครั้ง
ชายซิ่งเก๋งแซงไม่พ้น ชนรวด 5 คันย่านสุขุมวิท เจ็บสาหัส 1 คน
เครื่องบินเล็กตก จ.สมุทรสาคร นักบินเสียชีวิต 1 คน