พม.เดินหน้ารณรงค์ "หยุดให้ทาน" = "หยุดขอทาน"

สังคม
13 ส.ค. 67
15:15
3,510
Logo Thai PBS
พม.เดินหน้ารณรงค์ "หยุดให้ทาน" = "หยุดขอทาน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พม.เตรียมรณรงค์ หยุดให้ทานเท่ากับหยุดการขอทาน 16 ส.ค.นี้ หน้าหอศิลป์ ปทุมวัน

วันนี้ (13 ส.ค.2567) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขอทานในประเทศไทยระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ว่า สถานการณ์ปัญหาขอทาน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557 – 31 ก.ค.2567 พบผู้ขอทานทั้งสิ้น 7,635 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ทำการขอทานไทย ร้อยละ 65 และผู้ทำการขอทานต่างด้าว ร้อยละ 35

สำหรับปีงบประมาณ 2567 พบผู้ขอทานทั้งสิ้น 506 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ขอทานไทย 331 ราย (ร้อยละ 65) และผู้ขอทานต่างด้าว 175 ราย (ร้อยละ 35) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 ร้อยละ 20.47 ในจำนวนนี้เป็นผู้ขอทานซ้ำ ร้อยละ 24.28

นายวราวุธ กล่าวว่า พื้นที่ที่พบผู้ขอทานส่วนใหญ่ มีลักษณะกระจุกตัวในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่

และในปีงบประมาณ 2567 ยังพบขอทานมากที่สุดในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และลพบุรี และไม่พบผู้ขอทานใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี สตูล นครพนม ลำปาง น่าน เพชรบุรี ตาก และพังงา

ส่วนสาเหตุการกระทำการขอทาน 1.ข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ เกิดจากความพิการทางร่างกายหรือความบกพร่องทางสติปัญญา 2.ปัจจัยด้านการศึกษา ขาดโอกาสในการศึกษาที่จะไปประกอบอาชีพที่มั่นคง 3.ค่านิยมของชุมชนและแรงจูงใจว่าทำรายได้ดีโดยไม่ต้องลงทุน

4.อิทธิพลความเชื่อ การให้เงินขอทานเป็นการทำบุญ โดยปกติคนขอทาน มักมีพฤติกรรมที่น่าสงสาร บ้างมีข้อจำกัดด้านร่างกาย จิตใจ ที่เกิดจากความพิการ หรือความบกพร่องทางสติปัญญา หรือบางกรณีนำไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ และความเชื่อมโยงกับการกระทำผิดกฎหมาย

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้กฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมการขอทาน สร้างความเข้าใจในการให้ทาน การส่งเสริมทัศนคติใหม่ในการให้ทานของประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการขอทานในสังคมไทย และการให้โอกาสให้คนขอทานได้แสดงศักยภาพของตนเอง

ให้สามารถประกอบอาชีพ ใช้ความรู้ ทักษะ ความสามารถ และได้รับการยอมรับจากชุมชน สังคม กระทรวง พม. ร่วมกับ กทม. จัดโครงการรณรงค์สังคม สร้างการรับรู้กฎหมาย ว่าด้วยการควบคุมการขอทาน ภายใต้แนวคิด “ให้โอกาส เปลี่ยนชีวิต หยุดคิดก่อนให้ทาน” ในวันที่ 16 ส.ค.2567 เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า และมีภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมการขอทาน เช่น กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)

เข้าร่วมการเดินรณรงค์แจกสื่อประชาสัมพันธ์ 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษากัมพูชา บริเวณใจกลางสยามสี่แยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 และถนนพญาไท

นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว กระทรวง พม. ได้จัดชุดปฏิบัติการ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ทำการขอทาน จำนวน 5 ชุด และยังมีการจัดระเบียบผู้ทำการขอทานพร้อมกันทั่วประเทศไปพร้อมกันด้วย

อ่านข่าว : ผู้ป่วยลองโควิดทั่วโลก 400 ล้านคน เศรษฐกิจสูญ 1 ล้านล้านเหรียญ

"เศรษฐา" ปัดแผนสำรองยุบสภา-รอฟังคำตัดสิน 14 ส.ค.

เปิด 2 แนวทางคดีถอด "เศรษฐา" ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา 14 ส.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง