วันนี้ (21 ส.ค.2567) นายนพดล ศรีหทัย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว ไทยพีบีเอส ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กรณีวันที่ 16 ส.ค.67 บริเวณสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (บ้านอัมพวัน) พล.อ.ประวิตร ได้แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมโดยได้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยวิธีการใช้มือตบบริเวณศีรษะผู้สื่อข่าวอาวุโส พนักงานองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือแทน
ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวแล้ว พบว่าไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผู้สื่อข่าวกำลังปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ ส.ส.ท. และกระทำต่อหน้าธารกำนัล และการกระทำดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างแพร่หลายในทุกช่อง
ทางเนื่องจากไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะที่ต้องคุ้มครองผู้สื่อข่าว เพราะการทำงานของสื่อหลังจากนี้ที่มีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้นการข่มขู่ ทำร้ายเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของการทำงานของสื่อ และการยื่นในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐาน และเพื่อให้เกิดเป็นแบบอย่างการทำหน้าที่ของสื่อและบรรทัดฐานทางจริยธรรม
ไทยพีบีเอสในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงร้องเรียนมายังคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตร และขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเคารพไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดำรงไว้ซึ่งเกียรติ ศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร และยกระดับมาตรฐานจริยธรรมแก่รัฐสภาไทย
ส่วนการดำเนินคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายนั้น มองว่าหากดำเนินการจะมีผลต่อการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่ต้องทำงานร่วมกับแหล่งข่าว ซึ่งสอดคล้องกับเจตจำนงของผู้สื่อข่าวที่อยู่ในคลิปที่ไม่ต้องการดำเนินคดี
นพดล ศรีหทัย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว ไทยพีบีเอส
โดยเชื่อว่าการยื่นสอบในครั้งนี้คงไม่มีผลต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ และคงไม่ใช่เรื่องที่ไม่กล้าเดินหน้านำเสนอสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ ส่วนเรื่องการพูดคุยกันระหว่าง พล.อ.ประวิตรกับผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว ว่าเป็นการหยอกล้อนั้น นายนพดลกล่าวว่า ภาพที่ออกมาไม่ใช่การหยอกล้อและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสามารถดูออกว่า เป็นการหยอกล้อหรือข่มขู่ทำร้ายร่างกาย
อ่านข่าว : องค์กรวิชาชีพสื่อจ่อยื่นสอบจริยธรรม "พล.อ.ประวิตร" คุกคามสื่อ
ขณะที่นายอิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นหนังสือเพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ด้วย
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ได้ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐได้กระทำในลักษณะใช้กำลังคุกคามผู้สื่อข่าวระหว่างการขอสัมภาษณ์ภายหลังรับทราบมติการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 12 และ 13
อ่านข่าว : "ประวิตร" ฉุนถูกสื่อถามกรณี "แพทองธาร" เป็นนายกฯ
นายอิทธิพันธ์ เปิดเผยว่า การเข้ายื่นร้องเรียนครั้งนี้ ได้มีหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกล้องผู้ถูกกระทำเพื่อประกอบการพิจารณา และการยื่นครั้งนี้มองว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นการหยอกล้อ
นายสุปัน กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีการปรากฎคลิป ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์พล.อ.ประวิตร ในประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรี แต่พล.อ.ประวิตรกลับแสดงพฤติกรรมไม่พอใจ และเกรี้ยวกราด ซึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วการกระทำแบบนี้ ไม่ใช่การหยุมหัว แต่เป็นพฤติกรรมที่เกรี้ยวกราดและคุกคามสื่อ ซึ่งนี่ไม่ใช่พฤติกรรมครั้งแรกของนักการเมืองท่านนี้ ก่อนหน้านี้เคยมีการดูหมิ่นดูแคลนเพื่อนร่วมวิชาชีพมาก่อน
ดังนั้น จากการพิจารณาจึงยื่นคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองคนนี้เพราะนี่เป็นเหตุการณ์ เสมือนนิสัย ที่ทำต่อสื่อมวลชนในความผิดจริยธรรมข้อ 12 และ 13 ทั้งนี้การพิจารณาของคณะกรรมการสภาจะเป็นอย่างไรขอไม่ก้าวล่วงแต่ขอทราบผลการพิจารณาทุกขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับ และไม่ใช่เป็นการเร่งรัด แต่มองว่าเช่นเดียวกันหากสื่อ ถูกยื่นตรวจสอบจริยธรรมทางสมาคมก็จะตรวจสอบโดยใช้กรอบเวลา 30 วันและคาดว่าการตรวจสอบของสภาจะใช้เวลาประมาณเดียวกัน
ทั้งนี้ นอกจากที่สมาคมจะมายื่นกับสภาแล้วยังมีองค์กรภาคประชาสังคมเตรียมยื่นให้กับป.ป.ช.แล้วด้วย
นายสุปัน ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายคนมองว่าเจ้าทุกข์ไม่เอาเรื่อง ว่า เป็นการตีความในเรื่องของการทำร้ายร่างกายซึ่งเจ้าทุกข์จะต้องเป็นผู้ร้องแต่เรากำลังพูดถึงจริยธรรมและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่การทำหน้าที่จะต้องได้รับการปกป้อง และต้องตระหนักในส่วนนี้แต่ถ้าใครจะ เปลี่ยนประเด็นไปที่เรื่องของการถูกกระทำ ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกระทำ
"นี่คือปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เพื่อนร่วมวิชาชีพลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกันมากกว่าการออกแถลงการณ์ และด้วยการที่เป็นวิชาชีพสื่อสามารถทำได้แค่นั้นและนี่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นบรรทัดฐานให้กับนักการเมืองที่จะปฏิบัติต่อสื่อมวลชนให้ตระหนักว่าเราไม่ใช่คู่ขัดแย้งเราทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้าแหล่งข่าวหรือนักการเมืองไม่เต็มใจที่จะตอบ หรือไม่พร้อมที่จะตอบ ก็ขอให้บอกว่าไม่ตอบ อย่างล่าสุดอดีตนายกรัฐมนตรีที่ยิ้มแล้วเดินออกไปไม่เห็นจะต้องแสดงกิริยา ที่เกรี้ยวกราดและคุกคามกันขนาดนี้" นายสุปันกล่าว
นายสุปัน ยังกล่าวด้วยว่า การยื่นร้องครั้งนี้ยืนยันไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เพียงแค่ต้องการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการทำงานของเพื่อนร่วมอาชีพมากกว่าที่จะถูกโยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง และเรื่องนี้องค์กรวิชาชีพได้ปรึกษากันในทุกแง่ทุกมุม และได้มีการส่งคลิปให้กับคณะกรรมการไว้พิจารณาด้วย และการแสดงท่าทีล่าช้าเป็นเพราะต้องดูในทุกแง่ทุกมุม และต้องรอบคอบพอสมควรในกรอบกฎหมายและจริยธรรมที่เรามีอยู่
อ่านข่าว :