ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Negative Income Tax ภาษีเงินได้ที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ "ได้เงิน"

เศรษฐกิจ
23 ส.ค. 67
12:45
2,650
Logo Thai PBS
Negative Income Tax ภาษีเงินได้ที่ทำให้คนที่ไม่มีรายได้ "ได้เงิน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นแนวคิดที่เสนอขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง "มิลตัน ฟรีดแมน" เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทาง "รายได้" ในสังคมด้วยการให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้เลย แทนที่จะเก็บภาษีจากพวกเขา

Negative Income Tax หรือ NIT ได้รับการเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง "มิลตัน ฟรีดแมน" เจ้าของประโยคที่โด่งดัง "โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ" หรือ "There's no such thing as a free lunch" เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

จุดประสงค์เพื่อแทนที่ระบบสวัสดิการแบบดั้งเดิมที่ซับซ้อน ด้วยระบบที่ง่ายกว่าและส่งเสริมการทำงานมากขึ้น

แนวคิดของ Negative Income Tax (NIT) ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ฟรีดแมน มองว่าคนที่ทำงานแต่มีรายได้น้อยก็ควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐ เริ่มจากการกำหนดระดับรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ หากบุคคลใดมีรายได้น้อยกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาด เพื่อให้รายได้ของพวกเขาเพิ่มขึ้นไปถึงระดับขั้นต่ำนี้

หลักการของ NIT

  1. รัฐกำหนดระดับรายได้พื้นฐาน "ขั้นต่ำ" ที่เหมาะสมต่อการการดำรงชีวิต เช่น 10,000 บาท/เดือน (ตัวเลขสมมติ)
  2. หากบุคคลมีรายได้น้อยกว่าระดับนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยให้ เพื่อให้รายได้ของบุคคลนั้นถึงระดับที่กำหนด เช่น หากบุคคลมีรายได้ 7,000 บาท/เดือน รัฐบาลอาจจ่ายเพิ่ม 3,000 บาท เพื่อให้รายได้รวมเป็น 10,000 บาท
  3. เมื่อรายได้ของบุคคลเพิ่มขึ้น การชดเชยจากรัฐบาลจะลดลงตามสัดส่วน จนกระทั่งรายได้ถึงระดับที่กำหนดและไม่ต้องการการชดเชยอีกต่อไป

ข้อดีของ NIT

  1. ลดความยากจน เพราะมีการสนับสนุนรายได้พื้นฐานให้ผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อให้มีมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำที่เพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ
  2. กระตุ้นแรงจูงใจในการทำงาน NIT ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น แม้จะมีรายได้น้อยก็ยังได้รับการชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งต่างจากระบบสวัสดิการบางประเภทที่การทำงานเพิ่ม อาจทำให้สูญเสียสิทธิ์ในการรับสวัสดิการ
  3. ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้ความช่วยเหลือที่เป็นกลาง ไม่แบ่งแยก หรือสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อผู้ที่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากทุกคนสามารถได้รับการชดเชยตามรายได้ของตนเอง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคม โดยทำให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
  4. NIT สามารถปรับระดับการชดเชยตามสภาวะเศรษฐกิจและระดับรายได้ของประชาชน ทำให้ระบบสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบบสวัสดิการที่เป็นแบบคงที่ นอกจากนี้ NIT ยังสามารถนำไปปรับใช้ในประเทศต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา แต่ต้องออกแบบให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ

ข้อเสียของ NIT

  1. ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลสูงขึ้น เพราะระบบ NIT ทำให้รัฐบาลต้องหาเงินจำนวนมากในการจ่ายชดเชยรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะในช่วงแรกของการนำระบบมาใช้ ซึ่งอาจเป็นภาระทางการคลังอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด
  2. เกิดความเสี่ยงลดแรงจูงใจในการทำงาน แม้ว่า NIT จะถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คนทำงาน แต่บางคนอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องทำงานหนักหรือทำงานเพิ่ม เพราะรู้ว่ารัฐบาลจะชดเชยรายได้ให้ ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้คนลดชั่วโมงการทำงานหรือเลือกที่จะไม่ทำงานเลยก็ได้
  3. การบริหารจัดการที่ซับซ้อน การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำและการจัดการระบบชดเชยต้องการการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นเรื่องซับซ้อนและยากต่อการดำเนินการ โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่มีระบบภาษีและการจัดการสวัสดิการที่เข้มแข็ง
  4. "เดอะ แบก" กลุ่มคนทำงานที่เสียภาษี จะกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากระบบ NIT มากที่สุด เพราะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายภาษีเท่าเดิม หรือ อาจถูกรัฐตั้งอัตราภาษีที่มากกว่าเดิม เพราะต้องใช้เงินจ่ายชดเชยให้ผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้บั่นทองแรงจูงใจในการทำงานหรือการลงทุน
  5. แม้ว่ามีการคาดหวังว่า NIT จะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ แต่ผลกระทบที่แท้จริงอาจไม่ตรงตามที่คาดหวัง ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ 
  6. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม หากรัฐต้องใช้จ่ายเงินในจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุน NIT อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การเพิ่มหนี้สาธารณะ หรือการเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจมีความไม่เสถียรได้
  7. การกำหนดระดับรายได้ขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับ NIT เป็นเรื่องท้าทาย หากกำหนดต่ำเกินไป อาจไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาความยากจน แต่ถ้ากำหนดสูงเกินไป อาจเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

ประเทศใดบ้างที่ใช้ NIT

แนวคิด NIT ถูกนำเสนอและวิจารณ์กันในวงการเศรษฐศาสตร์มาหลายทศวรรษ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีประเทศใดที่นำระบบ NIT มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็มีบางประเทศที่ได้ทดลองใช้แนวคิดนี้ในบางพื้นที่หรือในบางกรณีเฉพาะ 

สหรัฐอเมริกา

ช่วงทศวรรษ 1960-1970 มีการทดลองโครงการ NIT ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ผลการทดลองพบว่า มีประชาชนเริ่มลดชั่วโมงการทำงานของตัวเองลง สื่อถึงผู้คนเริ่มรู้ว่า ทำงานน้อย ๆ ก็ได้เพราะมีเงินชดเชยจากรัฐเข้าช่วย จึงเป็นประเด็นที่ทำให้โครงการนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง

แคนาดา

ในทศวรรษ 1970 แคนาดามีการทดลองโครงการคล้าย NIT ที่เรียกว่า "Mincome" ในเมือง Dauphin ซึ่งก็ได้รับผลการทดลองที่คล้ายกับของสหรัฐฯ คือมีการลดชั่วโมงการทำงานลงเล็กน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีกำไรทางสังคมในด้านสุขภาพและการศึกษา

ฟินแลนด์

ในปี 2017-2018 รัฐบาลฟินแลนด์ได้ทำการทดลองให้เงินสนับสนุนพื้นฐาน (Universal Basic Income หรือ UBI) กับประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่ใช่ NIT โดยตรง แต่มีความคล้ายคลึงในแง่ของการให้รายได้พื้นฐานแก่ประชาชนโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสวัสดิการที่ซับซ้อน

เนเธอร์แลนด์

เมือง Utrecht ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับรายได้พื้นฐานในปี 2017 โดยมุ่งเน้นไปที่การให้รายได้พื้นฐานที่แน่นอนโดยไม่คำนึงถึงรายได้ที่มีอยู่เดิม เพื่อศึกษาเรื่องพฤติกรรมการทำงานและความเป็นอยู่ของประชาชน

สหราชอาณาจักร

มีโครงการที่คล้ายกับแนวคิด NIT เช่น Working Tax Credit และ Universal Credit ซึ่งเป็นการสนับสนุนรายได้ให้กับผู้ที่ทำงานแต่มีรายได้ต่ำ แม้จะไม่ใช่ NIT ในรูปแบบเต็มที่ แต่ก็เป็นความพยายามที่จะสร้างสวัสดิการที่ตอบสนองต่อรายได้ของประชาชน

บราซิล

Bolsa Família เป็นโครงการที่จ่ายเงินสนับสนุนให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องส่งลูก ๆ ไปเรียนหนังสือและรับการฉีดวัคซีนครบถ้วน แม้โครงการนี้จะไม่ใช่ NIT แต่ก็มีจุดมุ่งหมายในการลดความยากจนและสร้างโอกาสทางการศึกษาที่คล้ายคลึงกับเป้าหมายของ NIT

อิตาลี

ในปี 2019 อิตาลีได้เริ่มโครงการ "Reddito di Cittadinanza" ซึ่งเป็นระบบช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยโดยมีเงื่อนไขว่าผู้รับจะต้องหางานทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ NIT โดยตรง แต่มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนรายได้และการกระตุ้นการทำงาน

ประเทศแบบไหนที่เหมาะกับ NIT

NIT อาจเหมาะกับประเทศที่มีระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจที่มั่นคง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เสถียรภาพทางการเมือง และสังคมที่ยอมรับการปฏิรูปสวัสดิการ หากเงื่อนไขเหล่านี้พร้อม NIT อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความยากจนและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม

  • ประเทศที่มีระบบจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ทำให้รัฐสามารถนำรายได้จากภาษีไปสนับสนุน NIT ได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้สามารถจัดสรรงบประมาณในการจ่ายเงินชดเชยได้อย่างยั่งยืน
  • กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีโครงสร้างเศรษฐกิจและทรัพยากรเพียงพอสามารถสนับสนุน NIT ได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีรายได้จากภาษีมีสูง 
  • ประเทศกำลังพัฒนา NIT อาจช่วยแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการทำงาน หากมีระบบภาษีและสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพมากพอ
  • ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง NIT อาจเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชากรที่ยากจน 
  • ประเทศที่มีสังคมและการเมืองที่มั่นคง หากประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง โอกาสที่ NIT จะถูกนำมาใช้และรักษาไว้ได้ในระยะยาวก็มีมากขึ้น แต่ก็ต้องทำให้สังคมเข้าใจ เชื่อมั่น และยอมรับแนวคิด NIT ด้วย 
  • ประเทศที่ต้องการปฏิรูประบบสวัสดิการที่ซับซ้อนและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชากร NIT อาจถูกใช้เป็นทางเลือกในการปรับปรุงหรือแทนที่ระบบเดิม

ย้อนกลับไปวรรคทองของบิดาแห่ง NIT "มิลตัน ฟรีดแมน" โลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ ซึ่งก็เป็นจริง เพราะเงินชดเชยที่รัฐต้องหามาจ่าย ย่อมต้องแลกมาด้วยคำถามตัวโต ๆ ของ "เดอะ แบก" ชนชั้นที่จ่ายภาษีเงินได้ เพื่อให้คนอื่นได้เงินที่ตัวเองทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย

อ่านข่าวอื่น :

"ทักษิณ" มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร ไม่มีรัฐประหาร 100%

3 องค์กรธุรกิจนัดพบ "แพทองธาร" ถกปัญหาเร่งช่วย SMEs

"ทักษิณ" โชว์วิชั่นแก้หนี้-ฟื้นเศรษฐกิจ เฉลยดิจิทัลวอลเล็ตใครได้บ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง