ไม่ใช่เหตุบังเอิญทางการเมือง เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี บินเหินฟ้าไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย ในช่วงสายวันนี้ ( 27 ส.ค.2567) โดยวางโปรแกรมร่วมรับประทานอาหารกับผู้นำชุม ชนทุกหมู่บ้าน และมอบถุงยังชีพให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านบ้านปางคำ ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในพื้นที่ อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย และ อ.เทิง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หลังลงจากเครื่อง "ทักษิณ" และคณะเดินทางถึงสถานีขนส่งผู้โดยสาร อ.เทิง เพื่อมอบสิ่งของให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยหลายร้อยคน มีชาวบ้านเข้ามาต้อนรับและสวมกอดตามธรรมเนียม โดยอดีตนายกฯ ได้กล่าวทักทายด้วยน้ำเสียงออดอ้อนเป็นภาษาคำเมือง "ผมดูแก่ลงบ้างไหม ?" พร้อมขอโทษชาวบ้านที่มาช้ากว่ากำหนด 2 ชั่วโมง เนื่องจากต้องเปลี่ยนเครื่องบิน

วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รอรับ
วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รอรับ"ทักษิณ ชินวัตร"
จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังบ้านปางคำ เพื่อพบผู้นำชุมชนในพื้นที่ประสบภัย โดยมี สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยรอต้อนรับ ทั้ง "พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" , วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ พร้อมบิดา "วิสาร เตชะธีราวัฒน์" และ "ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช" ลูกสาว "ยงยุทธ ติยะไพรัช" อดีต สส.เชียงราย
หากพลิกปูม ย้อนกลับไปดูความเกรียงไกรของพรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งอดีต ในพื้นที่ภาคเหนือถือเป็นสม รภูมิรบสำคัญของ "ทักษิณ-เพื่อไทย" การเลือกตั้งที่ผ่านมา มักจะกวาด สส.เขตเกลี้ยงยกแผง แบบแลนด์สไลด์
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน แม้ว่า "เพื่อไทย" ยังขายยี่ห้อได้ แต่ในยุคที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยสลับตัวเป็น "แพทองธาร ชินวัตร" มนต์ที่เคยขลังก็เสื่อมลง โดยเห็นชัดเจนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.เชียงราย "เพื่อไทย" ถูก "ก้าวไกล" หายใจรดต้นคอโดยได้ สส.ไป 4 เขต ขณะที่พรรคก้าวไกลได้ สส. 3 เขต จากทั้งหมด 7 เขตเลือกตั้ง
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย "ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช" ในเขตเลือกตั้งที่ 2, "วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์" เขตเลือกตั้งที่ 4, "เทอดชาติ ชัยพงษ์", เขตเลือกตั้งที่ 5 และ "พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" เขตเลือกตั้งที่ 7
พรรคก้าวไกล ได้ สส.เขตเลือกตั้งที่ 1 คือ "ชิตวัน ชินอนุวัฒน์", ฐากูร ยะแสง เขตเลือกตั้งที่ 3 และ "จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม" เขตเลือกตั้งที่ 6 อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ดังกล่าว แม้พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้รับเลือกเข้ามา

อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย
อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย
สำหรับ สนามการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "บ้านใหญ่" ยังเป็นกำลังหลักสำคัญที่พรรคการเมืองใหญ่ ต่างจับจ้องให้พยายามให้ย้ายค่ายเข้ามาอยู่ในร่มเงาเมื่อปี 2563 สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ ส่งลูกสาว "อทิตาธร" ลงสมัครนายก อบจ.เชียงราย แข่งกับ "วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์" ที่ค่ายเพื่อไทยส่งลงสนาม ปรากฏว่า "อทิตาธร" เอาชนะตัวแทนจาก 2 ตระกูล "ติยะไพรัช-เตชะธีราวัฒน์" ได้สำเร็จ
ต่อมาในปี 2566 มีการเลือกตั้งระดับประเทศ ยงยุทธ ได้ส่งลูกสาว "ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช" ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2, ส่วน วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ก็ส่งลูกสาว "วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์" ลงสมัครเลือกตั้ง และได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยกันทั้งคู่ พร้อมแชมป์เก่า "พิเชษฐ์" และ สส.หน้าใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยส่งเข้าประกวด "เทอดชาติ ชัยพงษ์"

สมรภูมิรบในสนามระดับประเทศ ภายใต้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ยังไม่ได้เริ่มต้น หลัง "เศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ คนที่ 30 ต้องสิ้นสุดหน้าที่หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จากความผิดจริยธรรมร้ายแรง สนามรบระดับท้องถิ่น การชิงตำแหน่งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 และจะข้ามยาวถึงปี 2568 ก็คุกรุ่น ไม่แผ่วในทุกจังหวัด
ไม่ยกเว้นแม้แต่ในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชิงชัยเก้าอี้นายก อบจ.ในปี 2568 โดยพื้นที่ 3 อำเภอหลัก ที่ประสบภาวะวิกฤตจากอุทกภัยน้ำท่วมหนัก คือ อ.เทิง, อ.ขุนตาล และ อ.พญาเม็งราย เป็นฐานการเมืองหลักของตระกูลวันไชยธนวงศ์ ซึ่งมี "อทิตาธร วันไชยธนวงศ์" นายก อบจ.เชียงราย เป็นผู้ดูแล
"อทิตาธร" เป็นลูกสาวของ สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต สส.เชียงราย 6 สมัย แม้จะเคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน แต่ในภายหลังได้เข้าร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน เช่นเดียวกับหลานชาย "รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์" อดีต สส.เชียงราย ที่ผละจากค่ายเดิมมาซบอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน

แม้จะแพ้เลือกตั้ง แต่ "รังสรรค์" ก็มีตำแหน่งทางการเมือง โดยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในค่ายสีน้ำเงินของ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นเมื่อพื้นที่เกิดปัญหาภัยพิบัติ อบจ.เชียงราย จึงเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่
ดังนั้นเพื่อรักษาป้อมค่ายและฐานที่มั่น ไม่ให้ถูกเจาะจากค่ายสีน้ำเงิน ที่พยายามเข้ายึดหัวหาด "บ้านใหญ่" วันไชยธนวงศ์ ทางพรรคเพื่อไทย จึงต้องเปิดเกมให้ "ทักษิณ" เดินทางไปซับน้ำตาชาวบ้านอย่างเร่งด่วน แบบวันเดย์ทริป
ท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดว่า ในการชิงชัยนายก อบจ.เชียงรายในปีหน้า พรรคเพื่อไทยจะส่ง "วิสาร เตชะธีราวัฒน์" บิดาของวิสาระดี สส.เชียงราย เขต 4 ลงสมัครนายก อบจ.เชียงราย สู้ศึกกับ "ภูมิใจไทย" และคนในของ "ตระกูลวันไชยธนวงศ์"
การลงพื้นที่ จ.เชียงราย ในวันนี้ของ "ทักษิณ" โดยมี 3 สส.ของพรรคเพื่อไทย ที่ผนึกกำลังบ้านใหญ่ 2 ตระกูล "ติยะไพรัช-เตชะธีราวัฒน์" จึงไม่ต่างจากการเปิดเกมรุกเพื่อชิงฐานเสียงและความได้เปรียบ ไว้เป็นอาวุธในการสู้ศึกในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ที่มาถึงในอีกไม่นานนี้
อ่านข่าวอื่น :
"ทักษิณ" เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมเทิง ชี้ปัญหาน้ำต้องแก้ทั้งระบบ
"ภูมิธรรม" ไม่รู้ พปชร.พ้นพรรคร่วม ลั่นอำนาจ นายกฯ เลือก รมต.