ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน

สิ่งแวดล้อม
5 ก.ย. 67
10:38
4,799
Logo Thai PBS
ฟ้องเอาผิด “ปลาหมอคางดำ” ระบาด เรียกค่าเสียหาย 2.4 พันล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตัวแทนชาวบ้านพร้อมด้วยสภาทนายความ ยื่นฟ้องคดีแพ่งและคดีปกครอง กับผู้ก่อให้เกิดผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ทั้งบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ พร้อมเรียกค่าเสียหายมูลค่ากว่า 2,400 ล้านบาท

วันนี้ (5 ก.ย.2567) นายปัญญา โตกทอง พร้อมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ กว่า 10 คน ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขต อ.อัมพวา บางคนที และ อ.เมืองสมุทรสงคราม กว่า 1,400 คน เดินทางไปที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ กับทนายจากสภาทนายความฯ เพื่อยื่นฟ้องบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือบริษัท CPF พร้อมกรรมการบริหารรวม 9 คน ในคดีสิ่งแวดล้อม

ซึ่งขั้นตอนในการดำเนินคดี จะเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการ ขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้บริษัท CPF แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทน ที่กลุ่มประมงเรียกร้อง แยกออกเป็น 2 กลุ่ม

1) กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตรา ไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวนสมาชิกกว่า 1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

2) กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวัน ในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ.2560-2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่ เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท

รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขต จ.สมุทรสงคราม เรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

นอกจากนี้ ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพ ประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

ประกอบด้วย 1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6.รมว.เกษตรและสหกรณ์ 7.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8.อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

9.คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11.รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

13.คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16.กระทรวงมหาดไทย 17.รมว.มหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง

ซึ่งผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน ได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงายของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้อง ตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือบริษัท CPF หรือ ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย

อ่านข่าว :

"สายสุนีย์ จ๊ะนะ" คว้าเหรียญทองที่ 2 วีลแชร์ฟันดาบ เหรียญที่ 5 ทัพพาราลิมปิกไทย

ตลาดน้อยเสริมกระสอบทราย 1พันถุง รับมือล้นตลิ่งริมเจ้าพระยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง