วันนี้ (5 ก.ย.2567) ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่าเนื่องจากน้ำจากแม่น้ำยม จ.สุโขทัย แม่น้ำยม น่าน มาถึงชัยนาทแล้ว การบริหารจัดการน้ำ ที่เขื่อนชัยนาทจะใช้การหน่วงน้ำและการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งพยายามนำน้ำเหนือที่ไหลจากนครสวรรค์ เข้าระบบคลองทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีฝนตกในพื้นที่ด้วย
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน
ดังนั้นการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจะอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำ โผงเผง หัวเวียง เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนริมแม่น้ำน้อย ประกอบกับน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำป่าสักมาสมทบที่ อ.บางไทร ทำให้น้ำเฉลี่ยที่บางไทรวันนี้น้ำขึ้นลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตร สูงสุด 1,800 ลูกบาศก์เมตร
อีกทั้งช่วงวันที่ 1-5 ก.ย.ที่ผ่านมาเกิดน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งในพื้นที่ จ.นนทบุรี และ กรุงเทพมหานคร บางจุดที่เป็นชุมชนริมน้ำ แต่เป็นการท่วมเพียง 1-2 ชั่วโมง
ขณะที่ในช่วงวันที่ 6-7 ก.ย.ประเมินทิศทางของพายุไต้ฝุ่นยางิจะเคลื่อนตัวมาทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และคาดว่าจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม แม้พายุไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่อาจมีอิทธิพลที่จะส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในวันนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านตอนกลางของประเทศ จึงคาดว่าในช่วง 7 วันข้างหน้านี้ จะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำอาจเข้ามาเติมน้ำท้ายเขื่อนได้
โดยในวันนี้จะประชุมร่วมกันของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบ จากการประเมินพายุโซนร้อนยางิ ที่กำลังจะเข้ามาอาจจะส่งผลกระทบทำให้ฝนตก อาจจะมาเติมน้ำท้ายเขื่อนได้ อาจมีผลกระทบทำให้ลำน้ำมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ต้องระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่มากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยามีหน้าที่หน่วงน้ำ ไม่ได้หน้าที่ในการกักเก็บน้ำ
แต่ถึงอย่างไรก็ตามจะไม่กระทบต่อกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคันกั้นน้ำ แต่จะกระทบชุมชนริมน้ำ ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำซึ่งจะกระทบช่วงน้ำทะเลหนุน อีกทั้งในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง และพายุที่จะเข้ามาอีก 1-2 ลูก ในช่วงกลางเดือน ก.ย.จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด
ดร.ธเนศร์ ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องฝนตกท้ายเขื่อน หรือบริเวณที่เกิดอุทกภัยไปแล้ว เช่น ลุ่มน้ำยม ฝนอาจจะตกที่เดิม ซึ่งเท่ากับเป็นการเติมน้ำให้ในพื้นที่ แต่ต้องเฝ้าระวัง ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะภาคเหนือตอนบนต้องหลังเดือน ก.ย.ไปแล้วสถานการณ์ถึงจะคลี่คลาย
ซึ่งการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา คาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในวันนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะพยายามหน่วงน้ำให้มากที่สุด ซึ่งจะค่อยๆ ระบาย จะให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด
ส่วนการระบายน้ำลงทุ่งหลังจากวันที่ 15 ก.ย. นั้น ดร.ธเนศร์ ระบุว่าการระบายน้ำเป็นการระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา ผ่านแม่น้ำเส้นกลางลงอ่าวไทย เพราะจะระบายได้เร็ว หลังจากนั้นจะนำน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน ซึ่งการระบายน้ำลงทุ่งรับน้ำให้เป็นทางเลือกสุดท้ายเพราะเสี่ยงต่อความเดือดร้อนของประชาชนในบริเวณกว้าง
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่เป็นคลองรอยต่อระหว่างกรุงเทพกับชลประทานในการระบายน้ำ พยายามที่จะพร่องน้ำรอ ระบบคลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองแสนแสบ คลองบางขนาก คลองรังสิต เพื่อให้น้ำฝนที่ตกในพื้นที่ลงสู่คลองให้เร็วที่สุด ในเขตที่อยู่ในฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ก่อนสูบออกทะเล
ดร.ธเนศร์ ยังกล่าวยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมเหมือนเช่นปี 2554 ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบปี 2554 มีช่องว่างในเขื่อนเหลือประมาณกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปี 2567 มีช่วงว่างในเขื่อน 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2554 ประเทศไทยมีพายุ ถึง 5 ลูก เดือน มิ.ย. พายุ , เดือน ก.ค. พายุนกเตน , เดือน ก.ย.ไห่ถาง , เดือน ต.ค.พายุเนสาด และปลาย ต.ค.พายุนาลแก
แต่ในปี 2567 จะมีพายุยางิเข้ามาแบบเฉียดๆ ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ซึ่งจำนวนพายุต่างกัน ปริมาณฝนก็ต่างกัน ปี 2554 สูงค่าเฉลี่ย 30% และการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาสูงถึง 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกระทบตั้งแต่สิงห์บุรี อ่างทอง ขณะที่ปีนี้การระบายน้ำอยู่ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ ดร.ธเนศร์ กล่าวว่าเป็นการคาดการณ์ภายใต้สภาวะ 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งต้องดูที่ปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก และภาคกลางต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. จนถึงสิ้นเดือน ต.ค.นี้
อ่านข่าว :
ตลาดน้อยเสริมกระสอบทราย 1พันถุง รับมือล้นตลิ่งริมเจ้าพระยา
สภาพอากาศวันนี้ ทั่วทุกภาคมีฝน เตือน "เหนือ-อีสาน" 7-8 ก.ย. ฝนตกหนัก