แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย จะเข้ามาปฎิบัติหน้าที่เต็มตัว หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น ในวันที่ 13 ก.ย. และในเวทีสุดยอดการประชุมอาเซียนครั้งที่ 44แและ 45 ซึ่งลาวจัดพร้อมกันกับผู้นำ 21 คน ตามกำหนดการจะจัดขึ้นที่นครเวียงจันทน์ ช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ "แพทองธาร" ในฐานะผู้นำประเทศจะเข้าร่วมประชุมต้องแสดงบทบาทและความเป็นผู้นำให้ประจักษ์ต่อหน้าผู้นำจากประเทศกลุ่มชาติสมาชิก
กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เสนอบทวิเคราะห์ อย่างน่าสนใจ
ระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีโอกาสแสดงความเป็นผู้นำให้ประเทศกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนได้ประจักษ์ เป็นครั้งแรกที่ นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ถือเป็นครั้งแรกในการเยือนเวทีสุดยอดการประชุมอาเซียน ท่ามกลางผู้นำประเทศ 21 คน ซึ่งจะกำหนดชะตา ว่า แพทองธาร ในฐานะผู้นำประเทศ จะมีความสามารถในระดับหมู่หรือจ่า นับเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสเอาการ หลังจากยกเลิกการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้
แพทองธาร มีกำหนดการจะเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ย.2567 ทันทีหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในสัปดาห์นี้ (11-12 ก.ย.) ท่ามกลางผู้นำกว่า 193 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมประชุมในเวทีนี้ถูกเลื่อนออกไป
การประชุมที่นครเวียงจันทน์ ที่ปรึกษาด้านโยบายต่างประเทศของ แพทองธาร จะต้องเตรียมตัวอย่างอย่างรอบคอบ เนื่องจากผู้นำในประเทศอาเซียนได้เตรียมข้อหารือเกี่ยวกับความท้าทายที่มีอยู่และที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยมีพันธกิจและการประชุมที่สำคัญมาก นายกรัฐมนตรีหน้าใหม่ของไทยมีเวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมงที่จะแสดงสุนทรพจน์ ในเวทีผู้นำอาเซียนในวันที่ 9 ต.ค.2567 โดย 90 นาทีแรกจะเป็นช่วงเปิดการประชุม และพิธีเปิดซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผู้นำทุกประเทศสามารถเตรียมการได้ก่อนล่วงหน้า
หลังจากพักรับประทานอาหารว่าง ช่วงเวลาที่เหลืออีก 90 นาที เป็นเวลาสำคัญที่สุด เพราะจะได้พบปะผู้นำที่อาวุโสมากกว่า ยกเว้น "ฮุน มาเน็ต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่วัยต่างกันไม่มาก (46 ปี)
นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ในวันที่ 11 ต.ค.2567 ซึ่งผู้นำจากกลุ่มประเทศสมาชิก 18 ประเทศ จะหารือเกี่ยวกับประเด็นระดับโลก โดยมีประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่และมหาอำนาจขนาดกลางเข้าร่วมประชุม เช่น จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ หากนายกรัฐมนตรีไทยต้องการที่จะโต้แย้งข้อคิดเห็นของผู้นำเหล่านี้ ต้องมั่นใจว่า สิ่งที่เสนอจะเป็นประโยชน์ต่อองค์รวมอย่างแท้จริง
การประชุมดังกล่าว มีความแตกต่างจากเวทีการเมืองในประเทศ ไม่สามารถจะกล่าวอะไรก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระดับโลกหรือระดับภูมิภาค จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดวังคำพูด โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษ และแพทองธาร ไม่ควรเดินซ้ำรอย หรือถอดแบบการใช้คำกล่าวของพ่อและอาเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พบข้อผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจจากการใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงควรใช้ล่าม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ศัพท์อย่างไม่เป็นทางการหลุดรอดในเวที
ในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน มีการระมัดระวังในการให้ทรรศนะต่อปัญหาการต่างประเทศ เรียนรู้ความบกพร่อง การใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่วของนายเศรษฐา แสดงถึงบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นต่อผู้นำโลกและผู้บริหารระดับสูง
ถึงกระนั้นในประเด็นการต่างประเทศ นายเศรษฐากลับปฏิบัติได้อย่างไม่น่าอภิรมย์นัก อาทิ ทรรศนะต่อวิกฤตฉนวนกาซา และล่าสุด คือ ทรรศนะต่อพรรคก้าวไกลที่ดูไม่สมเหตุสมผลและซื่อเกินไป
สำหรับวาระสำคัญของการประชุม 7 วาระที่จะเกิดขึ้น บนเวทีดังกล่าว คาดการณ์ว่า แพทองธาร จะแสดงทัศนะและกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมใหญ่ระดับทวิภาคีของทุกประเทศ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นการประชุมนอกรอบ และไม่มีการจัดบันทึกการประชุม ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ภูมิ รัฐศาสตร์ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ การคุ้มครองทางการค้าและอุปสรรคทางการค้า ความผันแปรของห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางประชากร
สำหรับวิกฤต ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของ 7 ข้อ ความท้าทายที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนา 4 ประการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียน คือ วิกฤตการณ์เมียนมา สงครามยูเครน ปมขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส และคู่ขัดแย้งสหรัฐอเมริกา-จีน
ในประเด็นเมียนมา ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีเส้นเขตแดนติดต่อกันยาวที่สุด ไทยถูกวิพากษ์ เรื่องบทบาทการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพอย่างมาก ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างแสดงความผิดหวัง โดยระบุว่า ไทยขาดภาวะความเป็นผู้นำในส่วนนี้
และแพทองธาร สามารถแสดงจุดยืน ได้ด้วยการมีนโยบายต่อประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจน ซึ่งแผนงานในเมียนมาของไทยต้องแข็งกร้าวและดึงพันธมิตรในระหว่างประเทศ ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากกว่านี้
ความขัดแย้งภายในประเทศล่าสุด ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการตามแผนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระยะที่ 2 ไม่นานมานี้ ประเทศไทยได้บริจาคเงินจำนวน 9,000,000 บาท ให้กับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) เพื่อสนับสนุนโครงการช่วยเหลือประชากรที่ได้รับผลกระทบในเมียนมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีไทยจะได้รับแต้มต่อด้านการทูตที่สำคัญ หากระบุ อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร ในอีกไม่กี่สัปดาห์ หรืออีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับฉันทามติ 5 ประการ ของอาเซียน โดยคู่เจรจาที่อยู่ในนครเวียงจันทน์ต่างกระตือรือร้นที่จะที่ทราบว่า รัฐบาลชุดที่ 2 นำภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะนำเสนอประเด็นในเวทีดังกล่าว
ส่วนเรื่องสงครามยูเครน แพทองธาร จะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติพื้นฐาน ปมขัดแย้งของชาติสมาชิกอาเซียนว่า มีความแตกต่างด้านทรรศนะและจุดยืน การประนามรัสเซียเกิดขึ้นใน 8 ชาติสมาชิกอาเซียน ขณะที่ลาวและเวียดนามงดออกเสียง สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่คว่ำบาตรรัสเซีย ในทางกลับกัน รัฐบาลทหารเมียนมาแสดงอย่างเปิดเผย ต่อการสนับสนุนวิธีการของรัสเซีย ขณะที่ไทยไม่สนับสนุนสงครามและเรียกร้องการหยุดยิง กล่าวได้ว่า ยังมีเป้าหมายที่คลุมเครือ แม้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหยื่อสงครามเพื่อบรรเทาทุกข์ยังคงมีให้เห็นจากประเทศไทย
และไม่ว่าจะมีแรงกดดันอย่างไร แต่ไทยก็ยังแสดงออกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การเข้าร่วมการประชุมสันติ ภาพครั้งแรกในสวิตเซอร์แลนด์ และการตัดสินใจล่าสุดในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ในสัปดาห์เดียวกันของไทย สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางสร้างสมดุลในภูมิภาค
สำหรับประเด็นข้อขัดแย้งที่กาซา แพทองธาร อาจต้องทำตามข้อตกลงอาเซียน ว่าด้วยการเรียกร้องให้หยุดความรุนแรงและความทรมานของผู้คน โดยเฉพาะการปกป้องแรงงานจากชาติสมาชิก ไทย และ ฟิลิปปินส์ มีแรงงานจำนวนมากในอิสราเอล ภายใต้การนำของมาเลเซียในปีหน้า แสดงจุดยืนและทัศนคติของอาเซียนต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และความสัมพันธ์โดยรวมกับอาเซียน ให้ชัดเจนมากขึ้น
ประเด็นท้ายสุด คือ ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐอเมริกา-จีน ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน และเป็นประเด็นสำคัญลำดับที่ 1 ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ซึ่ง "สหรัฐอเมริกา" ในฐานะประเทศมหาอำนาจมานานกว่า 70 ปี ส่วน "จีน" คือขั้วอำนาจใหม่ที่จะมาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองโลก ซึ่งการเมืองโลกในปัจจุบัน เป็นแบบหลายขั้วอำนาจ และอาจทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดความความไม่พอใจ เฉกเช่น ทั่วทุกมุมโลก
ไทยกำลังเผชิญกับสถานะที่ขัดแย้งกันในตนเอง กระนั้นก็ตามไทยถือเป็นประเทศที่ "ดวงดี" จากการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบยืดหยุ่น และอยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศมหาอำนาจ
แนวทางดังกล่าวอาจไม่สามารถเอาชนะใจและความคิดของผู้คนได้ทั้งหมด เนื่องจากจุดยืนของไทยมักถูกมองว่าคลุมเครือและเป็นไม้หลักปักขี้เลน ทว่าจากมุมมองของไทย การรักษาสถานะไว้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายต่อการคว่ำบาตรย่อมเพียงพอ
ในขณะที่ความขัดแย้งของทั้งสองขั้วอำนาจยังดำเนินไป ไทยต้องทำให้มั่นใจว่าประเทศสมาชิกจะเข้าใจวิถีและโวหารทางการทูตของเรา โดยประเมินได้จากการสนับสนุนนโยบายของ 2 ประเทศมหาอำนาจ ทั้งอิทธิพลที่มีต่อประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน และในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย อาจแสดงปฏิกิริยาอย่างแข็งกร้าวต่อทรรศนะและจุดยืนที่ขัดต่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะบรรยากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในปัจจุบัน
อ่านข่าวเพิ่ม :