ยาเสพติด เป็น ปัญหาใหญ่ระดับชาติ มาหลายยุคหลายสมัย ทว่า แต่ละรัฐบาลก็มีนโยบายในเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป ซึ่งรัฐบาลแพทองธาร บรรจุเรื่องนี้ ให้เป็น "ความท้าทาย" ในประการที่ 3 ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ
นโยบายเร่งด่วน ลำดับที่ 8 ทำทันที
ปัญหาที่กระทบต่อสังคมและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลอีก 2 ประเด็นปัญหา คือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและอาชญากรรมออนไลน์
นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่าย ด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้นควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษา
ผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และ การฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม
คำกล่าวของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย ที่กล่าวแถลงนโยบายกลางสภาฯ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567
การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร ตามที่นายกฯ แพทองธาร ได้กล่าวไว้ จะสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน อาจอยู่ที่ว่า กำหนดให้อะไรเป็นตัวชี้วัด ถ้าเป็นสถิติการปราบปรามจับกุม ปัจจุบันมีแนวโน้มสกัดกั้น ปราบปรามตรวจยึดยาเสพติดได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ในขณะที่การบำบัด รักษาฟื้นฟู มีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ขณะที่สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชหรือยาเสพติด ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตมีผู้ป่วยในฐานระบบเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่ม "ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด" สะสมเพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 100,000 คน และในปี 2567 สะสมมากถึง 521,341 คน เพิ่มจากปี 2566 มากกว่า 190,000 คน
ความท้าทาย ทำผลงานให้ดีกว่ารัฐบาลเศรษฐา
ย้อนกลับไปดูนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของ รัฐบาลเศรษฐา ในวันที่ 11 ก.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวแถลงนโยบาย อันเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไว้ว่า
"เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย" สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับเข้าสู่สังคมและพัฒนาความสามารถให้เข้าสู่ภาคแรงงาน ส่วนผู้ผลิตและผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการ "ยึดทรัพย์" เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดพร้อมดำเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย และดึงประชาชนออกจากวงจรการค้ายาเสพติดอย่างถาวร นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินแนวทางนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ"
นายเศรษฐา ยังได้มอบนโยบายต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ส. ในฐานะที่เป็นกลไกทางนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ โดยเน้นย้ำเห็นผลงานเชิงประจักษ์ภายใน 1 ปี ทั้งการสกัดกั้น ปราบปรามและบำบัดฟื้นฟู
การประกาศพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ มีการสนับ สนุนงบประมาณ ซื้อยุทโธปกรณ์เสริมความแข็งแกร่งให้เจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนให้สามารถเฝ้าระวังและสกัดกั้นการลักลอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจจะไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากนายกฯ แพทองธาร ต้องการจะทำผลงานด้านการปราปบรามยาเสพติดให้ดีกว่า รัฐบาลเศรษฐา เพราะกลไกที่มีอยู่เดิมนับว่า มาถูกทางแล้ว
พลิกนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลในอดีต
ปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัยที่ 2 บรรจุการแก้ปัญหายาเสพติดและความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เอาไว้ในลำดับที่ 9 ของนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง
ขณะที่ในปี 2557 รัฐบาล คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึง การแก้ไขปัญหายาเสพติด เอาไว้ในนโยบายที่ 2 การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ
โดยกำหนดให้ปัญหายาเสพติด การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ การกระทำอันเป็นโจรสลัด การก่อการร้ายสากลและอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขโดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และจัดการปัญหาอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ เช่น ปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล การปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2554 เห็นได้ชัดว่า ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด คือ ยกระดับให้เป็น "วาระแห่งชาติ" กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก
กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็น "วาระแห่งชาติ" โดยยึดหลักนิติธรรมในการปราบปราม ลงโทษผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้มีอิทธิพล และผู้ประพฤติมิชอบ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดหลัก ผู้เสพคือผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม
พร้อมทั้งมีกลไกติดตามช่วยเหลืออย่างเป็นระบบดำเนินการอย่างจริงจังในการป้องกันปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือเชิงรุกกับต่างประเทศ ในการควบคุมและสกัดกั้นยาเสพติด สารเคมี และสารตั้งต้น ในการผลิตยาเสพติดที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินการป้องกันกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไปไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับยาเสพติด
ส่วนรัฐบาลก่อนหน้า คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งในช่วงปี 2551 เป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะมีการชุมนุมทางการเมือง มีความเห็นต่างในการบริหารประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นโยบายเร่งด่วนจึงมุ่งเน้นไปที่การคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองและแก้ไขสภาพเศรษฐกิจ แต่นโยบายปราบปรามยาเสพติดนั้น วางไว้ในหมวดนโยบายตามระยะการบริหารราชการแผ่นดิน (นโยบายปกติทั่วไป)
อีกรัฐบาลที่มีนโยบายการปราบปรามยาเสพติดอย่างเด่นชัดและเรียกว่า เป็นต้นแบบของพรรคเพื่อไทย มาจนถึงปัจจุบัน คือ รัฐบาลทักษิณ ในปี 2546 รัฐบาลทักษิณ ดำเนินยุทธศาสตร์ ประกาศสงครามขั้นเด็ดขาดกับยาเสพติด และ กำหนดนโยบาย ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ต่อเนื่องในสมัยที่ 2 ของการเป็นรัฐบาล
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงจากนโยบายเด็ดขาดของ ทักษิณ ชินวัตร คือ การปราบปรามและเกิดการ วิสามัญฆาตกรรม ผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด พุ่งสูงแบบไม่เคยปรากฏมาก่อนซึ่งนั่นก็เป็น บทเรียนสำคัญ ที่รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย พยายามหลีกเลี่ยง ไม่เดินซ้ำร้อย โดยมุ่งไปที่การสกัดกั้น ตรวจยึดและบำบัดฟื้นฟูผู้เสพติด
น่าจับตาไม่น้อยว่า รัฐบาลแพทองธาร จะสร้างผลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด ออกมาในรูปแบบใด ทั้งเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนไปก็เป็นตัวแปรสำคัญ แต่ นโยบายมรดก ของพรรคเพื่อไทย ก็เป็นแต้มต่อให้ แพทองธารอยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้ คือ ประชาชน
รายงานพิเศษโดย : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม ไทยพีบีเอส
อ่านข่าวเพิ่ม :
วัดราชบพิธฯ ห้ามทำพิธีแต่งงานในพระอารามหลวง
เลื่อนรายงานตัว! ปม สพม.สระแก้วชื่อ "ครูเบญ" ล่องหน