ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดงบ "หอกระจายข่าว" สัญญาณเตือนภัย ชาวบ้านพึ่งได้จริงหรือ ?

ภัยพิบัติ
23 ก.ย. 67
16:32
398
Logo Thai PBS
เปิดงบ "หอกระจายข่าว" สัญญาณเตือนภัย ชาวบ้านพึ่งได้จริงหรือ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.- ก.ย. 67 นี้ นอกจากปัญหาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ประเด็นจากการแจ้งเตือนภัยพิบัติจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) สังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ถูกตั้งคำถามว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ในการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ "จุดเสี่ยง"

หากนับเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณของ ปภ. ประจำปี 2566 พบว่า ศภช. มีสัดส่วนใช้จ่ายงบประมาณมากที่สุดถึง 84,122 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.57

หนึ่งในช่องทางแจ้งเตือนที่ถูกตั้งคำถาม คือ แอปพลิเคชันเตือนภัย ที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งระบบโครงข่ายและความแรงของสัญญาณอาจไม่ได้ครอบคลุมในชนบทห่างไกล หรือ พื้นที่จุดเสี่ยง หน้าด่านแรก ๆ ที่จะประสบกับปัญหาอุทกภัยก่อนที่น้ำจะทะลักเข้าเขตเมือง

อ่านข่าว: ปภ.เริ่มแล้ว ส่ง SMS แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 24 ชม.

นอกจากแอปพลิเคชันเตือนภัยแล้ว “หอกระจายข่าว” เป็นอีกหนึ่งช่องทางเตือนภัย ซึ่งติดตั้งอยู่แทบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และทุกครั้งเมื่อพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ก็ถูกตั้งคำถามว่า มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับงบประมาณที่รัฐทุ่มลงไปหรือไม่ ?

หอกระจายข่าว สื่อสาร "ประชาธิปไตย" สู่ "เตือนภัยพิบัติ"

หอกระจายข่าว เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลจากภาครัฐสู่ประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้านมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ราวปี 2481) โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องหลัก ๆ 3 หน่วย ได้แก่

  1. กระทรวงมหาดไทย ติดตั้งหอกระจายข่าวเพื่อแพร่กระจายนโยบายภาครัฐ

  2. กระทรวงสาธารณสุข ติดตั้งเพื่อสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี

  3. กระทรวงศึกษาธิการ ติดตั้งเพื่อให้การศึกษานอกโรงเรียน

โดยทั้งหมดดำเนินการผ่าน "กรมประชาสัมพันธ์" ที่ถือครองคลื่นความถี่และการส่งสัญญาณออกอากาศ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เครื่องมือสื่อสารมีมากขึ้น ประชาชนสามารถรับรู้ข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง หอกระจายข่าวมีบทบาทน้อยลง ไม่มีการใช้งาน ขาดการซ่อมแซม ข้อมูลจากรายงานวิจัย การพัฒนาหอกระจายข่าวสารเพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชน ระบุว่า ช่วงปี 2542 จำนวนหอกระจายข่าวมีทั้งหมด 63,989 หอ แต่ใช้งานได้จริง 16,009 หอ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.02 จากจำนวนที่ใช้งานได้

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ต่อมา มติ ครม. วันที่ 2 ก.ย. 2546 ว่าด้วยแนวทางพัฒนาแบบยั่งยืนให้หอกระจายข่าวเป็นสื่อของชุมชน พิจารณาบูรณาการในภาพรวมทั้งในเรื่องการจัดตั้งงบประมาณใช้หอกระจายข่าว และการดูแลและซ่อมบำรุงหอกระจายข่าวให้สามารถใช้การได้อยู่เสมอ

ทั้งยังให้มีการโอนหอกระจายข่าว ให้ขึ้นตรงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และให้การงบประมาณสนับสนุนไปอยู่ที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย

ที่สำคัญ ตามมติ ครม. ได้วางพันธกิจที่สำคัญไว้ว่า “ให้ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือสำนักงาน กกต.ในการใช้หอกระจายข่าวเพื่อดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือให้ความรู้เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งแก่ประชาชน และให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณาดำเนินการให้วิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีที่เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว หรือจะเข้ามาอยู่ในระบบในอนาคต ให้การสนับสนุนสำนักงาน กกต. ในการใช้สื่อดังกล่าวเพื่อดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือการให้ความรู้เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งแก่ประชาชนด้วย

กล่าวคือ หอกระจายข่าวที่ มติ ครม. ต้องการให้ปรับปรุงซ่อมแซมขึ้นมาใหม่นั้น เป็นไปเพื่อการเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในระบอบการปกครองและระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก

แม้ว่าจะมีการจัดเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วในปี 2544 แต่ประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รับข่าวสารและความเข้าใจมากเพียงพอเกี่ยวกับระบอบและระบบดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540

ไม่นาน ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินงานหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านและชุมชน พ.ศ. 2547 ได้เกิดขึ้น ใจความสำคัญอยู่ที่ หมวด 3 การบริหารการดำเนินงาน ข้อ 16 ที่ระบุว่า “การใช้หอกระจายข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหารการดำเนินงานหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านและชุมชน”

เปิดงบหอกระจายข่าว หลังเหตุการณ์ "สึนามิ" 2547

ในปี 2547 หลังเกิดเหตุการณ์ “สึนามิ” ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเกินกว่า 13,000 คน ทำให้พันธกิจหลักการใช้งานหอกระจายข่าวเปลี่ยนแปลงไป มุ่งสู่การเป็นสื่อกลางในการ “แจ้งเตือนภัยพิบัติ” ของผู้คนในพื้นที่ประสบภัย

มติ ครม. วันที่ 12 ก.ค. 2548 ได้ระบุถึงการติดตั้งระบบการเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย (หอกระจายข่าว) บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน (6 จังหวัดภาคใต้) จำนวน 62 แห่ง ได้แก่ จังหวัดพังงา จำนวน 16 แห่ง จังหวัดภูเก็ต จำนวน 4 แห่ง จังหวัดกระบี่ จำนวน 12 แห่ง จังหวัดตรัง จำนวน 11 แห่ง จังหวัดสตูล จำนวน 14 แห่ง และจังหวัดระนอง จำนวน 5 แห่ง วงเงิน 138.78 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากงบกลาง

และใน มติ ครม. 6 ก.ย. 2548 ระบุเพิ่มเติมว่า จังหวัดที่ประสบภัยสึนามิร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และภาคเอกชนได้ดำเนินการจัดสร้างหอกระจายข่าวอีกจำนวน 64 จุด

ทั้งนี้ จำนวนหอกระจายข่าวที่ใช้งานได้ของประเทศไทยหลังปี 2548 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

จากข้อมูลของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 - 2565 ในส่วนของกรมการปกครอง พบว่า แต่ละปี จะมีงบประมาณการก่อสร้างหอกระจายข่าวทั่วประเทศรวม 250 - 500 แห่ง และในปี 2564 จำนวนหอกระจายข่าวมีทั้งหมด 81,318 หอ ใช้การได้ 73,793 คิดเป็นอัตราร้อยละ 90.7 ถือได้ว่า สัดส่วนการใช้งานได้ต่อจำนวนของหอกระจายข่าวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 จากปี 2542 เลยทีเดียว

สถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับหอกระจายข่าวและหอเตือนภัยทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2558 - 2567 (ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567) ได้ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณในส่วนการก่อสร้างหอกระจายข่าวมีประมาณ 917 ล้านบาท คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 จากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดที่จำนวน 1,296 ล้านบาท ส่วนโครงการการซ่อมแซมหอกระจ่ายข่าวมีจำนวน 3,587 โครงการ จำนวนประมาณ 321 ล้านบาท คิดเป็นกว่าร้อยละ 25 จากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด

ส่วนใหญ่งบประมาณสองส่วนนี้จะลงไปที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักประมาณ 1,186 ล้านบาท (ก่อสร้าง 893 ล้านบาท และซ่อมแซม 293 ล้านบาท) คิดเป็นอัตราร้อยละ 92 จากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด

สอดคล้องกับข้อมูลใน หนังสือคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี (กตน.) ถึงกระทรวงมหาดไทย ปี 2564 ได้ชี้ให้เห็นถึงงบประมาณการซ่อมแซมหอกระจายข่าวว่ามีประมาณ 214 ล้านบาท รวมทั้งมีงบประมาณเพิ่มในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างระบบวิทยุสื่อสารอีกราว 4,317 ล้านบาท

ผสมผสาน ระบบสัญญาณเตือนภัย "หอกระจายข่าว"

แม้งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ด้านการเตือนภัยจะมุ่งไปที่หอกระจายข่าว และมีภารกิจเตือนภัยเพิ่มเติมเข้ามา แต่หน้าที่หลักยังเป็นเรื่องการแพร่กระจายข่าวสารทั่วไปจากภาครัฐ ทำให้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่ในโครงข่ายของหอกระจายข่าว ไม่ได้ออกแบบมาให้แจ้งเตือนภัยพิบัติอย่างแท้จริง

ข้อมูลของ ศภช. ระบุว่า ข้อมูลจุดติดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (CSC) ที่ใช้รับสัญญาณการเตือนภัยจาก ปภ. หากเกิดภัยพิบัติ มีจำนวน 675 แห่งทั่วประเทศ ส่วนหอกระจายข่าวที่สามารถรับสัญญาณ CSC ได้นั้นมีจำนวน 674 หอ

หมายความว่า จำนวนหอกระจายข่าวทั้งหมดในประเทศ 81,318 หอ เป็นหอกระจายข่าวที่รับสัญญาณเตือนภัยพิบัติอย่างทันที มีจำนวนเพียง 674 หอ คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.83 เท่านั้น จึงทำให้การแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านหอกระจายข่าว เกิดปัญหา คือ มีจำนวนมากก็จริง แต่การรับสัญญาณกลับทำได้น้อย

แม้งบประมาณการติดตั้ง ปรับปรุง และซ่อมแซมหอกระจายข่าวไร้สายทางไกลอัตโนมัติ จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากสถิติโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับหอกระจายข่าวและหอเตือนภัยทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2558 - 2567 (ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567) พบว่า มีมากถึง 999 โครงการ รวมประมาณ 284 ล้านบาท แต่เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) ที่ใช้สำหรับส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบไร้สายนั้น มีจำนวน 165 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.20

นอกจากนี้ พบว่า ข้อมูลจุดติดตั้งหอเตือนภัย (Warning Tower) ที่เน้นแจ้งเตือนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นประจำในท้องถิ่น อาทิ อุทกภัย ดินโคลนถล่ม หรือวาตภัย มีเพียง 354 หอทั่วประเทศ ซึ่งรวมอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยพิบัติโดยตรงที่สนับสนุนหอกระจายข่าวเพียง 1,537 แห่ง คิดเป็นอัตราร้อยละ 1.89 จากจำนวนหอกระจายข่าวทั้งหมด

แหล่งข่าวของ ปภ. ระบุว่า การแจ้งเตือนภัยพิบัติมีการบูรณาการ ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งแบบเก่าที่เป็นการประกาศแบบเสียงตามสาย และแบบใหม่ที่เป็นระบบแจ้งเตือนแบบไร้สายโดยตรง แม้จะมีน้อย แต่ต้องใช้งานแบบผสมผสานกัน

“ปภ. จะมีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ให้ประชาชนรับทราบตลอด ผ่านทุกช่องทางเป็นระบบผสมผสาน ซึ่งทั่วโลกจะใช้ระบบนี้เหมือนกันหมด มีทั้งสมัยใหม่ และระบบที่เหมือนจะตกยุค แต่ต้องใช้ให้ครบทั้งหมด ทั้ง ข้อมูล ตัวระบบ และผู้รับสาร ควบคู่กัน”

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

“การตื่นตัว” ของชาวบ้านในพื้นที่อุทกภัย

ปัญหาหลักที่สำคัญในประเด็นการเตือนภัย นอกจากจำนวนและประสิทธิภาพของหอกระจายข่าวและอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยพิบัติแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ “การรับสารการแจ้งเตือนภัยพิบัติของประชาชน” ที่บางครั้งขาดการตื่นตัวและความตระหนักในพื้นที่ประสบภัย

“สำหรับพื้นที่จุดเสี่ยง ก็ต้องใช้ ส่วนพื้นที่เราก็แจ้งเตือนถี่ แต่ประชาชนบางครั้งเหมือนคุ้นชิน ก็จะไม่ได้ให้ความสนใจ แต่สำหรับบางพื้นที่เราก็ต้องย้ำบ่อย” แหล่งข่าวจาก ปภ. กล่าว

ไม่เพียงแต่หอกระจายข่าวเท่านั้น แต่รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่เป็นอีกเครื่องมือหลัก ในการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูล และแนวโน้มของสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่ประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.หนองคาย เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติของเทศบาลเมืองหนองคาย นอกจากประสานงานไปยังท้องถิ่น และการใช้หอกระจายข่าวแล้ว ยังมีการใช้รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ตระเวนขับรอบเมืองเพื่อแจ้งเตือนไปยังหมู่บ้านที่อาจจะไม่มีหอกระจายข่าว หรืออยู่ในสภาพชำรุดเสียหายให้รับทราบ

ที่มา: เทศบาลเมืองหนองคาย

ที่มา: เทศบาลเมืองหนองคาย

ที่มา: เทศบาลเมืองหนองคาย

เช่นเดียวกับพื้นที่ประสบอุทกภัยเป็นประจำ เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ได้มีการแจ้งเตือนภัยพิบัติในลักษณะเดียวกัน ทวีศักดิ์ พงษ์ปราโมชย์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า พื้นที่นี้ ยังไม่ถึงขั้นภัยพิบัติเฉียบพลัน จึงไม่มีหอเตือนภัย แต่เทศบาลฯจะทราบล่วงหน้าจากการติดตามสถานการณ์ข่าวและข้อมูลในพื้นที่ใกล้เคียง โดยติดตั้งจุดกระจายเสียงครอบคลุมทุกพื้นทั้งหมด ยกเว้นใช้งานไม่ได้ หรือเสีย จึงจะใช้รถวิ่งแจ้งเตือนแทน

จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นท้องถิ่นที่น้ำท่วมบ่อยหรือนาน ๆ จะเกิดน้ำท่วม วิธีการแจ้งเตือนภัยพิบัติ จะมีลักษณะเดียวกัน คือ ใช้วิธีการที่หลากหลาย ไม่ได้ใช้หอกระจายข่าวอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการให้ข้อมูลภัยพิบัติแก่หอกระจายข่าว เพราะหอกระจายข่าวแม้ อปท. จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก แต่ยังมีเทศบาล และกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก

“หอกระจายข่าว ไม่แน่ใจว่ามีกี่แห่ง ไม่ทราบข้อมูลจากท้องถิ่น แต่ละท้องถิ่นมีคำสั่งจากผู้ว่าฯ ไม่เกี่ยวกับเทศบาลเมือง … ไม่ทราบว่าชำรุดหรือไม่ … ของเทศบาลเมืองเรามี 43 ชุมชน” เจ้าหน้าที่จากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดหนองคาย สะท้อนข้อเท็จจริง

อ่านข่าว:

รัฐล้มเหลว ? สัญญาณแจ้งเตือนภัยพิบัติ รับมืออุทกภัยล่วงหน้า

ภูมิธรรมเล็ง "ช่อง NBT" แม่งานปรับผังเตือนน้ำท่วมประชาชน

"แม่สาย" น้ำท่วมหนัก คำถามใหญ่แจ้งเตือนภัยหน้าที่ใคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง