"กรุงศรีฯ" แนะลงทุนตราสารหนี้ลดเสี่ยง ชี้ตลาดทุนทั่วโลกยังผันผวน

เศรษฐกิจ
25 ก.ย. 67
17:49
10
Logo Thai PBS
"กรุงศรีฯ" แนะลงทุนตราสารหนี้ลดเสี่ยง ชี้ตลาดทุนทั่วโลกยังผันผวน
กรุงศรีฯ ชี้ ตลาดลงทุนทั่วโลกช่วง Q 4/67 ยังผันผวน แนะรอปัจจัยฝั่งสหรัฐฯ พร้อมตั้งรับดอกเบี้ยขาลง แนะลงทุนหุ้นกลุ่มอสังหฯ-การแพทย์ ได้ประโยชน์จากเฟดลอดอกเบี้ย

วันนี้ ( 25 ก.ย.2567) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์สถานการณ์การลงทุนทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปียังคงผันผวนต่อเนื่องเนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ประกอบกับการรอความชัดเจนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเฟดจะมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงภายในปีนี้ และเป็นการเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลง มองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศยังคงน่าสนใจ ส่วนการลงทุนในหุ้นเน้นกลุ่มปลอดภัยและได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของเฟดซึ่งได้แก่ กลุ่มหุ้นโลกที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้มั่นคง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และการแพทย์

นายวิรัตน์ วิทยศรีธาดา, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์และที่ปรึกษาการลงทุน และหัวหน้าทีม Krungsri Investment Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ปัจจัยการลงทุนที่ควรจับตามองในช่วงไตรมาส 4/2567 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนต่อเนื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการดำเนินดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 0.25% ไปสู่ 5.5% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เห็นการหมุนเงินจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดเงิน ตราสารหนี้

ขณะที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาลง คาดว่าในการประชุมเดือนก.ย.นี้ เฟดจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และจะมีการปรับต่อเนื่องจาก 5% ในสิ้นปี 2567 ลดลงเหลือ 4% และ 3% ในช่วงปี 2568 – 2569 สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามเพิ่มเติม คือ การย้ายเงินออกจากตลาดเงิน หลังจากเฟด ปรับลดดอกเบี้ย

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ช่วงปีหน้าอยู่ที่ 30% แม้ว่ายังอยู่ในระดับต่ำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเช่นกัน ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าผลการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แต่หากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าอาจก่อให้เกิดประเด็นเรื่องการตั้งกำแพงภาษี คล้ายกับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ขณะที่นโยบายของกมลา แฮร์รีส พยายามจะปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% ซึ่งไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรเชื่อว่าต่างมีนัยยะหรือผลกระทบที่แตกต่างทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและตลาดหุ้น

ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่สามารถที่จะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน ทำให้เริ่มมีการปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงสู่ระดับ 4.8% การลงทุนในจีนยังคงต้องรอการฟื้นตัวของราคาบ้าน และการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศผ่านการนอกจากนี้ การลงทุนในเวียดนามยังคงน่าสนใจด้วยเช่นกัน

ด้านนายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด กล่าวว่า ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วง 1–2 ปีข้างหน้า หลังจากเฟดปรับลดดอกเบี้ย

สำหรับการลงทุนยังคงแนะนำตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีอายุยาวกว่าตราสารหนี้ไทย และมีทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้ว่าตราสารหนี้จะปรับตัวขึ้นมากแล้ว แต่หากพิจารณาจากทิศทางดอกเบี้ยที่น่าจะปรับลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า นับว่ายังอยู่ในวงจรที่ค่อนข้างดีสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ อันดับถัดมา

สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของดอกเบี้ย คือ ค่าเงิน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐที่มีการอ่อนค่าลง จากแนวโน้มดอกเบี้ยมีการปรับลดลง และการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐยังส่งผลต่อราคาทองด้วยเช่นกัน

สำหรับตลาดหุ้นไทย นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า จะปรับตัวดีขึ้น มีปัจจัยหนุนจากเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างประเทศ และกองทุนวายุภักษ์ที่คาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้ามาช่วยหนุนการปรับตัวของตลาดหุ้นไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยว

นางสาวกมลพันธ์ เฉลิมสกุลรัตน์ รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตและน่าจับตามอง คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภูเก็ตโดยเฉพาะ House Residence ที่มีจำนวนห้องเพิ่มขึ้น และธุรกิจท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่มีอัตราการเติบโตสูง สามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

โดยในอนาคตจะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาเปิดสาขาที่ภูเก็ต ส่วนธุรกิจ สุดท้ายที่น่าจับตามอง คือ ธุรกิจที่ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น การขยายถนน การเพิ่มสนามบินนานาชาติ การสร้างระบบรถไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

สำหรับ ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ต รวมถึงโอกาสทางธุรกิจในภูเก็ต ว่า ช่วงเดือนม.ค – ก.ค.2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมายังภูเก็ตกว่า 7.6 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศแล้วกว่า 284,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% และคนไทย 30%

ทั้งนี้ ได้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีไว้ที่ 14 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 400,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ภูเก็ตกลายเป็น Smart City ศูนย์กลางของเรือสำราญ รวมถึงคอนเสิร์ต หรือการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ รวมไปถึงผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเขตปกครองตัวเองพิเศษเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อ่านข่าว:

หอการค้า ชี้บาทแข็ง ฉุด "ส่งออก-ท่องเที่ยว" เสียหาย 1.3 แสนล้าน

สำรวจตัวเลข "ค่าแรงขั้นต่ำ" ใน-นอก กลุ่มประเทศอาเซียน

ค่าเงินบาทแข็ง ส.อ.ท. หวั่นกระทบ "ส่งออก-ท่องเที่ยว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง