เปิดใจ "ประสาน" เจ้าของเพจดัง "มนุษย์ต่างวัย ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว"

ไลฟ์สไตล์
4 ต.ค. 67
12:15
28
Logo Thai PBS
เปิดใจ "ประสาน" เจ้าของเพจดัง "มนุษย์ต่างวัย ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“สังคมสูงวัย” ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ รวมทั้งประเทศไทย กลายเป็นโจทย์ที่ยากในการรับมือความเปลี่ยนแปลง สวนกระแสกับอัตราการเกิดคนรุ่นใหม่ที่น้อยลง.. การอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจระหว่างวัย เป็นอีกโจทย์ที่ยาก ขณะที่ความท้าทายที่จะต้องสร้างศักยภาพให้กับคนสูงวัย กับการสร้างการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ …ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น สนทนากับ “ประสาน อิงคนันท์” อดีตผู้ดำเนินรายการสารคดี “กบนอกกะลา” และ “คนค้นฅน” ซึ่งใช้ความรู้การเขียนบท กำกับสารคดีอย่างมืออาชีพ ผันตัวมาทำงานออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้คนที่ต่างวัยกัน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างความรับรู้และเข้าใจ ลดการแบ่งแยกของวัยในสังคมชื่อว่า “มนุษย์ต่างวัย”

จุดเริ่มต้น “เพจมนุษย์ต่างวัย”

ประสาน เล่าย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ได้เปลี่ยนผ่านจากการทำงานโทรทัศน์เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมองหาคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมทั้งเรื่อง “Green” (สิ่งแวดล้อม) หรือ “Gray” (ผู้สูงอายุ) เนื่องด้วยมีโอกาสได้ทำเกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะในช่วงระยะเวลาของการทำรายการโทรทัศน์ ที่มีความน่าหลากหลายที่น่าสนใจ และยังเป็นเทรนด์ระดับประเทศ สุดท้ายก็มาจบที่ “Gray”

“คิดว่า จะทำอะไรได้บ้าง พอหันกลับมาดูก็พบว่า เวลาสังคมไทยพูดถึงสังคมสูงวัย จะพูดถึงปัญหาต่าง ๆ สุขภาพ งบประมาณ คนกำลังขาดแคลน ความเปราะบาง ความยากจน เป็นกลุ่มที่เป็นภาระของสังคม ทัศนคติของคนทั่วไปจะมองแบบนี้”

หากจะทำคอนเทนต์ให้เป็นที่สนใจ นอกจากการสร้างความรับรู้ เปลี่ยนทัศคติของสังคมจาก “สังคมผู้สูงอายุ” เป็น “สังคมอายุยืน” และสร้างเรื่องราวของคนทุกช่วงอายุให้เชื่อมโยงเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตามเทรนด์โลกปัจจุบันที่ไม่ได้แบ่งแยกกันที่อายุ แต่แบ่งกันที่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

คนอายุ 60 ปี อาจจะมีไลฟ์สไตล์เหมือนคนอายุ 40 ปีได้ เพราะยังแข็งแรง ดังนั้นประเด็นสูงวัย ไม่ได้เจาะจงเรื่องของคนแก่ เรื่องสวัสดิการรัฐอย่างเดียว แต่ต้องคิดว่า กำลังมีกลุ่มที่สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เราควรจะทำงานร่วมกับเขา

“มนุษย์ต่างวัย แค่ต่างวัย แต่ไม่ได้มาจากต่างด้าว” กลายเป็นคอนเซ็ปของจุดเริ่มต้นเพจมนุษย์ต่างวัย ความยากขึ้นเมื่อเป็นช่วงการเมืองค่อนข้างแรง จึงต้องมาตีโจทย์อีกว่า ..เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ การแบ่งแยกเจเนอเรชั่นก็รุนแรง.. แล้วเราจะอยู่อย่างไร ?

จึงเป็นแนวคิดที่โยงเรื่องราว และชวนคนในสังคมออกแบบร่วมกัน… หากวันหนึ่งคุณมีอายุยืนยาว คุณจะดีไซน์ชีวิตแบบไหน มากกว่าที่เราจะอยู่กับคำว่า “แก่แล้วจน แก่แล้วไม่มีเงินใช้” ดังนั้นเราต้องออกแบบชีวิต สุขภาพ การเงิน การงาน การมีความสุขที่เป็นพื้นฐานชีวิต

สำหรับรูปแบบเพจมนุษย์ต่างวัยที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในขณะนี้คือ “Facebook มนุษย์ต่างวัย” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดตามมีประมาณ 1 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอายุประมาณ 35-40 ปีขึ้นไป ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุอย่างเดียว เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะต้องดูแลผู้สูงวัย และต้องเริ่มคิดถึงตัวเองที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต โดยเนื้อหาของสื่อออนไลน์มีตั้งแต่การเป็นคนมีอายุสุขภาพดีแข็งแรง มีไลฟ์สไตล์ที่ดี ทัศนคติที่ดี

“บางคนเริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่อายุ 30 ปี เขาดูเสร็จก็มีความคิดว่า ทำอย่างไรฉันจะเป็นแบบนั้นได้บ้าง หรือบางครั้งเขาก็แทกให้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า พูดเองไม่ได้ เพราะอีกสถานะหนึ่งเขาเป็นลูกด้วย จึงต้องการชุดความรู้บางอย่าง เรามีคู่มือในการเลี้ยงลูกมากมายไปหมด แต่กลับไม่มีคู่มือที่ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเลย จึงทำให้เชิงความสัมพันธ์ของการดูแลกันในครอบครัวมีความไม่เข้าใจกัน”

ส่วนการแปลงชุดข้อมูลจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ ทำวิจัยสอบถาม และการใช้ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) TDRI ด้วยความที่ข้อมูลเหล่านี้ด้วยยิ่งพูดถึงเรื่องผู้สูงอายุก็จะเข้าถึงยาก จึงมาใช้ความถนัดของตัวเองเป็นคนทำสารคดี เล่าเรื่องคนได้ จึงใช้คนเป็นตัวนำเรื่อง “เอาข้อมูลนี้ ไปแปลงเป็นคนให้เป็นตัวละครเพื่อเล่าในประเด็นเชิงสังคม”

เมื่อการเข้าถึงง่ายขึ้น คนติดตามเพิ่มขึ้น ก็เริ่มลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างล่าสุดได้ทำงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันเรื่องอาชีพ คนสูงวัย “โดยมีหลักคิดของชีวิตเมื่ออายุมากขึ้นจะคิดไม่กี่อย่าง การเงินพอใช้ไหม.. มีงานอะไรที่ฉันยังทำได้บ้าง.. สุขภาพฉันเป็นอย่างไร.. ความสัมพันธ์ของฉันกับคนในครอบครัวและคนช่วงวัยอื่นจะเป็นอย่างไร.. ฉันมีคุณค่ากับใครไหม..”

“อาชีพ” คือ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนสูงวัยรู้สึกว่าตัวเองยังมีค่า การที่ได้ออกจากบ้านไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ กลับมา โดยไม่ต้องใช้เงินเก็บ นอกจากทำให้รู้สึกว่า ได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นแล้ว ยังส่งผลให้สุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้นไปด้วย “มนุษย์ต่างวัย” เรียกโปรเจคนี้ว่า “ชีวิตซีซั่น 2” เพราะเราจะรู้สึกว่าชีวิตมันมีหลายซีซั่น พอหมดไปหนึ่งซีซั่น คุณจะต้องเป็นนักเรียนสำหรับการเริ่มต้นซีซั่นใหม่ของชีวิต

จากการเก็บข้อมูล พบว่า ทั้งผู้ที่เกษียณไปแล้วและคนยังทำงานอยู่ แต่ได้มองอนาคตหลังเกษียณ ส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้ ประสบการณ์ ยังอยากทำงาน แต่ต้องเป็นงานอิสระ และไม่ต้องเดินทางทุกวัน จึงมองว่า “อาชีพที่ปรึกษา” คือ งานที่ถนัด ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน HR คอนเทนต์ การบริหาร กฎหมาย ธุรกิจ สอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจ SME บางแห่งต้องการที่ปรึกษาด้านการเงิน ด้านภาษี ด้านกฎหมาย แต่ไม่ได้มีงบประมาณมากที่จะไปว่าจ้าง แต่ถ้าเป็นครั้งๆ ไป กลุ่มเกษียณเหล่านี้ก็คือทางออกที่เหมาะสม

ดังนั้น “มนุษย์ต่างวัย” จึงจัดอบรมด้านเทคโนโลยี ออนไลน์ต่าง ๆ ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทักษะให้กับผู้สงอายุเหล่านี้สามารถเป็นที่ปรึกษาได้เหมาะสมกับสังคมเทคโนโลยีปัจจุบัน

“ถ้าเราสามารถสร้างคนสูงวัยกลุ่มนี้ได้ ให้ทำงานเป็นครั้งๆ ไป และเราก็มาจับคู่กับธุรกิจ SME ที่กำลังหาคน เราก็จะช่วยได้ทั้งสองฝั่ง ถือว่า เป็นก้าวที่หนึ่ง ก้าวที่สองที่เรากำลังดำเนินการอยู่”

“ช่วงที่สอนเรื่องออนไลน์ต่าง ๆ รู้สึกว่า จะยากเกินไปหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าเขาสนุก มันเหมือนเขาได้อ่านข่าวว่า มันมีเอไอ แต่พอได้ลองเรียน ทดลองทำ และที่น่าสนใจ คือ เวลาที่เราจัดห้องเรียนที่มีคนอายุไล่ๆ กัน อายุ 45-50 ปี ความรู้สึกสบายใจในการเรียนเกิดขึ้น แต่ถ้าสมมุติเขาไปเสียเงินลงเรียน และต้องไปเรียนกับคนรุ่นอื่น เขาจะรู้สึกกังวลใจ ว่าเขาจะตามทันไหม และพอเรียนเสร็จมันก็จะรู้สึกสนุก”

ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม

ประสาน บอกว่า ความรู้สึกตั้งแต่เริ่มทำเพจ -ปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปี เหมือนได้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนควบคู่กับการขับเคลื่อนประเด็นเชิงสังคม เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากโทรทัศน์มาเป็นออนไลน์ที่จะต้องคิดคอนเทนต์ให้เร็วขึ้นและเข้าถึงคนดูให้มากที่สุด

...ในตอนแรกของการเปลี่ยนผ่านจากรายการโทรทัศน์มาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ยังไม่มีความเข้าใจอะไรมาก แต่ก็อาศัยการเรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ และใช้ประ สบการณ์ของตัวเองเพิ่มเข้าไปจนเกิดความลงตัว ทันสมัย แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยจะเน้นกลุ่มคนในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ ที่เป็นกลุ่มคน “พฤฒพลัง” (Active Ageing) เพราะหากขับเคลื่อนมากไปจะไม่สามารถที่จะไปเพิ่มเติมศักยภาพได้ไม่ครบ...

ส่วนหนึ่งได้ทำงานกับภาคเอกชน มีบริษัทต่าง ๆ ให้ความสนใจร่วมเป็นสปอนเซอร์มาเรื่อย ๆ ทำให้เห็นการขับเคลื่อนของเอกชนที่อาจจะไม่เคยเห็น เช่น บริษัทเกม ก็เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของคนสูงวัย โดยให้เหตุผลเพื่อให้ผู้ใหญ่มีความเข้าใจในบุตรหลานของตัวเอง เพราะผู้ใหญ่ไม่รู้จักเกมทำให้เกิดปัญหากับเด็กที่อยู่ในบ้าน และให้ความรู้ว่าคนเล่นเกมบางคนก็สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งผู้สูงอายุบางคนที่ได้เริ่มเล่นเกมก็สนุก และก็เข้ากลับบุตรหลานที่บ้าน “เหมือนเป็นการเปิดโลกสองด้านให้เข้าใจกันและกันมากขึ้นของคนต่างวัย”

“เคยมีสถานีโทรทัศน์ NHK มาดูตัวอย่างจากเรา เพราะประเทศเขามีปัญหาเยอะมาก ผมเคยถามเขาว่า.. ญี่ปุ่นคือต้นแบบไม่ใช่เหรอ เขาบอกว่า ‘ใช่’ แต่ว่าไม่คนทำสื่อที่เจาะจงคนสูงอายุแบบนี้”

“ถูกทอดทิ้ง”ปัญหาคนสูงวัย

ประเทศญี่ปุ่น และหลายประเทศจะเห็นข่าวคนสูงอายุต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเสียชีวิตในบ้าน เพราะลูกหลานทอดทิ้ง “ประสาน” บอกว่า ส่วนนี้จะทำเป็นเทรนด์ต่างประเทศให้เห็นว่าในอนาคตประเทศไทยก็อาจจะเกิดขึ้น แต่สามารถป้องกันได้

โดย“เพจมนุษย์ต่างวัย” สร้างสื่อออนไลน์ โดยใช้บุคคลจากเรื่องจริงมาเดินเรื่องให้เห็นถึงความสำคัญของการกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่โดยไม่ทิ้งตัวตน เช่น ดีไซเนอร์ ที่เข้ามาทำงานกทม.วันหนึ่งมีความคิดอยากจะกลับไปอยู่ดูแลพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด ก็ได้ใช้ความรู้ของตัวเองออกแบบดีไซด์ผลิตภัณฑ์ เขียง ซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ของพ่อแม่ คือ การตัดไม้ทำเขียง โดยสร้างมูลค่าเพิ่ม ออกแบบจากเขียงธรรมดาให้เป็นถาดรองกาแฟ

หากคิดในมุมนี้ จะเห็นว่าถ้าเอาวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ผสมกับคนเก่า ก็จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย นอกจากจะได้กลับมาอยู่ดูแลพ่อแม่ไม่ให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวแล้ว ยังทำให้คนสูงอายุได้เห็นคุณค่าในตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์ เรื่องตายเป็นเรื่องต้องเตรียม ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว จะใช้วิธีสร้างการตระหนักให้เห็นถึงความตายที่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และสามารถวางแผนได้ มีตัวอย่างของคุณแม่ ที่ค่อย ๆ วางแผนเรื่องการออกแบบชีวิต การเตรียมตัวตายกับลูก ๆ โดยสั่งไว้ว่า อยากได้รูปหน้าศพเป็นอย่างไร ธุรกรรมทางการเงิน การโอนถ่ายทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อลดขั้นตอนหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว …กลายเป็นว่าคอนเทนต์นี้ได้รับความสนใจมากทุกครั้งที่ทำ นั้นแสดงให้เห็นว่าคนเราในปัจจุบันมีความเข้าใจ และยอมรับในเรื่องตาย และพร้อมเตรียมตัวกันเยอะมาก

เส้นทางเดินต่อของเพจ “มนุษย์ต่างวัย”

ประสาน บอกว่า ตอนเริ่มต้นทำเพจใหม่ ๆ ยังไม่ค่อยมั่นใจ ถามตัวเองเหมือนกันว่า การที่เราทำแบบนี้ 3 เดือนแล้วจบไหม จะไหวไหม จะมีคนดูไหม หรือแม้กระทั่งว่า 3 เดือนแล้ว มันจะหมดประเด็นที่จะเล่นหรือเปล่า ปรากฏว่าทำไปทำมาได้ 5 ปี

สิ่งที่วางแผนนับจากนี้จะเน้นในเรื่องของการฝึกอบรมให้กับองค์กรใหญ่ ๆ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ในการดูแลคนในองค์กรได้อย่างมีศักยภาพ เพราะในปัจจุบันหลายองค์กรกำลังเจอกับปัญหาการทำงานที่มีคิดต่างระหว่างช่วงวัย ให้ไปในทิศทางเดียวกันที่ว่า “..เราต่าง เหมือนกัน.. เพราะบางครั้งเราทะเลาะกันเรื่องหนึ่ง แต่อาจจะมีอีกหลายเรื่องที่เราเหมือนกัน”

“เรื่องสังคมสูงวัย คุยด้านเดียวไม่ได้ มันเชื่อมโยงกับหลากหลายปัจจัย ต้องคุยให้เขาเห็นว่าเชื่อมโยงกับคนอื่นอย่างไรได้บ้าง ต้องให้เขารู้สึกว่ามันเป็นแค่อีกช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงอายุไหน คุณออกแบบได้ ดีไซน์ได้ ถ้าเราคุยกันประเด็นนี้ สิ่งที่มองว่า มันจะซีเรียสในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจจะพอช่วยได้ แต่แน่นอนบางส่วนมันต้องมีภาครัฐ มาช่วยดูแล แต่หน้าที่เราคือทำกับคนที่มีศักยภาพ ให้ดูแลตัวเอง”

พบกับ:รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

อ่านข่าว : กทม.พร้อมเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ 

แพทย์เผยคนไทยอายุยืนติดอันดับ 5 โลก แต่บั้นปลายโรครุมเร้า 

สูตรลับชีวิตหลังเกษียณ! เตรียมวางแผนสุขภาพ-การเงิน-จิตใจ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง