ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดภาพ "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" เหนือฟ้าเมืองไทย

Logo Thai PBS
เปิดภาพ "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" เหนือฟ้าเมืองไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดภาพ "ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส" เหนือท้องฟ้าเมืองไทย ในวันใกล้โลกที่สุด 70.6 ล้านกิโลเมตร เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา สวยงามมองเห็นด้วยตาเปล่า ยังคงมองเห็นได้ถึงปลายต.ค.นี้

วันนี้ (14 ต.ค.2567) เพจเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เผยภาพดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ในวันใกล้โลกที่สุด บันทึกเมื่อช่วงหัวค่ำ วันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา  อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

ปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตก พาดสว่างเหนือฟ้า จ.เชียงใหม่ หากท้องฟ้าใสไร้เมฆ และอยู่ในพื้นที่ที่มีแสงรบกวนน้อย สามารถเห็นหางของดาวหางได้ด้วยตาเปล่า สวยงามมาก ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ได้กลับมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ สังเกตได้ทางทิศตะวันตก ทันทีที่ท้องฟ้ามืดสนิท โดยจะอยู่บริเวณทางขวาของดาวศุกร์ (ดาวที่ปรากฏสว่างที่สุดในช่วงนี้ทางทิศตะวันตก)

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) เป็นช่วงที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลกที่สุด ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ปรากฏสว่าง และอยู่สูงจากขอบฟ้าพอสมควร จึงเป็นวันที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ แต่เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงมรสุม ท้องฟ้ามีเมฆมากในหลายพื้นที่ จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการชมดาวหาง

หลังจากนี้ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส จะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ แต่จะยังคงสังเกตการณ์ได้จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนต.ค. เนื่องจากดาวหางจะปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานขึ้น ทำให้มีเวลาสังเกตการณ์มากขึ้น

สำหรับผู้สนใจติดตามดาวหางได้ทุกวันในช่วงค่ำ ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นต้นไป เมื่อทราบตำแหน่งคร่าวๆ แล้ว ให้สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะเป็นดาวสว่างที่มีหางเป็นฝ้าจางๆ ยืดยาวออกมาบนท้องฟ้า หากใช้กล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตาสังเกตการณ์จะช่วยยืนยันลักษณะ และเห็นดาวหางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากบันทึกภาพด้วยการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ จะถ่ายติดหางที่ยาวออกมา

ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) หรือ ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2566 โดยนักดาราศาสตร์จากหอดูดาวจื่อจินซาน (紫金山天文台) ประเทศจีน และระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS ประเทศแอฟริกาใต้ นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ และพบว่าความสว่างปรากฏมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนต่อมาได้กลายเป็นดาวหางอันโดดเด่นแห่งปี พ.ศ.2567

อ่านข่าว

ตร.เปิด 3 ช่องทางแจ้งความ "ดิไอคอนกรุ๊ป" ยอดเสียหาย 740 คน

เฮซบอลลาห์ โจมตีอิสราเอล เสียชีวิต 4 เจ็บ 60 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง