ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีต นศ.มทร.กรุงเทพฯ ร้องหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องบิน "ไม่ตรงปก"

สังคม
29 ต.ค. 67
20:02
9,516
Logo Thai PBS
อดีต นศ.มทร.กรุงเทพฯ ร้องหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องบิน "ไม่ตรงปก"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อดีตนักศึกษาหลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ยื่นหนังสือร้องเรียนกระทรวง อว. อ้างว่าหลักสูตรไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ซึ่งมหาวิทยาลัยระบุว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะได้ใบรับรองจากต่างประเทศ แต่ไม่เป็นไปตามนั้น

วันนี้ (29 ต.ค.2567) อดีตนักศึกษาหลักสูตรการช่างซ่อมอากาศยาน ประกาศนียบัตรชุดวิชา หรือ Non-Deegree มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เปิดเผยระหว่างเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับกระทรวง อว. อ้างว่าหลักสูตรไม่เป็นไปตามโฆษณาช่องทางต่าง ๆ

ในใบปลิวโฆษณา ระบุว่าหลักสูตรนี้จะได้รับใบรับรองมาตรฐานยุโรป หรือ ใบเซอร์ EASA ขององค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยทางการบินของสหภาพยุโรป สมัครงานที่ไหนก็ได้ในโลก เป็นสอนภาษาอังกฤษ และอุปกรณ์ทันสมัย ค่าเทอมตลอดหลักสูตร 490,000 บาท

แต่อดีตนักศึกษาที่เข้าร้องเรียน ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเมื่อรวมกับค่าชุดและอุปกรณ์อื่น ๆ ต้องจ่ายหลักล้าน ส่วนการเรียนผู้สอนบางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ อุปกรณ์ไม่ทันสมัย และไม่ได้ใบรับรองตามที่กล่าวอ้าง

หลังผ่านหลักสูตรนี้ ได้เพียงใบรับรองจากบริษัทฝึกอบรมที่เป็นแฟรนไชส์รับจ้างฝึกอบรม จากสถาบันการบินแห่งหนึ่งในเยอรมนี ใช้สมัครงานโดยตรงไม่ได้ทำให้เสียเวลาและโอกาส อยากได้เงินคืน

สำหรับผู้ที่อ้างเป็นผู้เสียหาย วันนี้มีประมาณ 20 คน รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผู้ที่นำอดีตนักศึกษามาร้องเรียน ระบุด้วยว่านอกจากยื่นเรื่อง อว. ยังแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงไว้ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ด้วย

ด้าน ชฎาภรณ์ พงศ์ทองเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรการบิน ระบุว่า ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยได้ดำเนินหลักสูตรตามมาตรฐานการบิน และได้รับการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือนหรือไม่

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบกับ บุญช่วย เจริญผล รองอธิการบดี มทร.กรุงเทพ ยืนยันว่า หลักสูตรได้มาตรฐาน บุคลากรถูกส่งไปฝึกอบรมกับบริษัท Aero Bildung ประเทศเยอรมนี ซึ่งหลักสูตร Non Degree เปิดขึ้นในปี 2559-2561 มีการสอน 13 โมดูล ที่ได้รับการรับรองจาก EASA

ผู้ที่เรียนจบ จะได้รับใบรับรองของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งอาจมีคนเข้าใจผิด ใบประกอบวิชาชีพนั้นต้องไปฝึกอบรมเพิ่มกับสถาบันการบินอีก 2 ปี ซึ่งหากผ่านทั้ง 2 ส่วน จึงจะไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ของ EASA ได้

รองอธิการบดี มทร.กรุงเทพ ระบุว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือชี้แจงกับทาง อว.แล้ว ยืนยันพร้อมชี้แจงในทุกกรณี พร้อมอ้างว่า ที่มีครูผู้สอนใช้ภาษาไทย เป็นการเน้นย้ำให้นักศึกษาเข้าใจลึกซึ้ง แม้จะมีคำชี้แจงดังกล่าว แต่พบว่าเอกสารที่อดีตนักศึกษานำมาร้องเรียนกับกระทรวง อว. และ เอกสารที่มหาวิทยาลัย เปิดเผยต่อไทยพีบีเอส มีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกัน

อ่านข่าวอื่น :

บัตรทองรับฟรี "ชุดตรวจพยาธิใบไม้ในตับ" ป้องกัน "มะเร็งท่อน้ำดี"

ปลัด ทส.ยัน "แพนด้ายักษ์" คู่ใหม่มาไทยแน่ปี 68

"กบ ไมโคร-ลูกตาล" ชี้แจงหลังมีชื่อใน 7 แม่ข่ายถูกทนายบอสพอลยื่นเอาผิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง