ทอล์กออฟเดอะทาวน์ข้ามคืนหลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ประกาศกลางเวทีในงานสัมมนาหนึ่งว่า รัฐบาลมีแนวคิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% และปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ขรมทั้งเมืองว่า รัฐบาลเพื่อไทย ถังแตกจนต้องใช้วิธีนี้รีดภาษีประชาชนเลยหรือ
ล่าสุดนายพิชัยออกมาแก้เกี้ยวว่า ยังอยู่แค่ขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากหลายประเทศมีการปรับขึ้นภาษี ขณะที่ไทยยังคงใช้ฐานการเก็บภาษีอยู่ที่ 7% แม้ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติปรับขึ้นจาก 7% เป็น 10% ยังต้องขอกลับมติมาใช้ 7% เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช่จ่ายของประชาชน จึงต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อน
นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง
การโยนหินถามทาง แทบหาทางกลับบ้านไม่ถูก ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คนตกงานจำนวนไม่น้อย หลังบริษัทเลิกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อนโบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีก็ไม่พร้อมจะรับเผือกร้อนไว้ในมือ โดยโบ้ยว่า ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีคลังพิจารณา
ข้อมูลจากสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ไทย เริ่มมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2535 ตามกฎหมายที่ออกไว้ครั้งแรก การจัดเก็บภาษีของไทย คือ 10% ไม่ใช่ 7% แบบที่จ่ายทุกวันนี้ โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แบ่งออกเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจริง 9% ภาษีท้องถิ่น 1%
ส่วนเหตุผลที่เก็บเพียง 7% จากตั้งไว้ที่ 10% เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีเพื่อภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจริง ลดจาก 9% เหลือ 6.3% ส่วนภาษีท้องถิ่น ลดจาก 1% เหลือ 0.7% รวมกันเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้กัน 7% และใช้มาจนถึงปัจจุบัน คนไทยจึงคุ้นชินกับตัวเลข ภาษี 7% กระทั่งเข้าสู่รัฐบาลเพื่อไทย 2 ที่มีแผนจะปรับโครงสร้างภาษี 15-15-15
เก็บ VAT เพิ่มภาระคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีจริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ราคาสินค้าและบริการจะต้องปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 15% ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร น้ำมัน หรือบริการสาธารณูปโภค ซึ่งกลุ่มรายได้น้อยได้รับผลกระทบหนักสุด
ด้วยว่า รายได้ส่วนใหญ่ต้องใช้ไปกับสินค้าและบริการพื้นฐาน เมื่อการบริโภคลดลงประชาชนลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยหรือบริการที่ไม่จำเป็น ก็จะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังภาคธุรกิจ ที่ต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับภาษี ส่งผลให้ยอดขายลดลง ผู้ประกอบการรายย่อยอาจเสียเปรียบในการแข่งขัน ผู้บริโภคลดความต้องการสินค้าและบริการ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจ เลวร้ายสุดอาจถึงขึ้นปิดกิจการเพราะไปต่อไม่ไหว
ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ธุรกิจบางส่วนอาจต้องปิดตัวลงหรือลดขนาดกิจการ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดภาษีสินค้าจำเป็น หรือให้สวัสดิการเพิ่มเติม คนรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่า
การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% ควรดำเนินการอย่างระมัดระวัง พร้อมมาตรการลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
นักวิชาการชี้ "ขึ้นภาษี" เศรษฐกิจไทยต้องเข้มแข็ง
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอ การค้าไทย กล่าวกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า การเสนอขึ้นภาษีเป็น 15 กระทรวงการคลังต้องมอง 2 มุม ประเด็นแรก ไทยมีรายได้หลักจาก "ภาษี" ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะถูกหักภาษีทันที่ 7% ดังนั้นการเพิ่มภาษีจาก 7% เป็น 10% ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำไปจัดสรรในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามนโยบาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ของภาครัฐ
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
แต่ในทางกลับกันการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ การเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จากเดิมซื้อสินค้าในราคา 10 บาท อาจจะต้องจ่ายในราคา 20 กว่าบาท ซึ่งเมื่อราคาสินค้าดีดตัวแพงขึ้นค่าครองชีพของประชาชนก็เพิ่มสูงตาม
เช่นนั้นประเทศไทยควรขึ้นภาษีหรือไม่ ? ผอ.ยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ในอดีตไทยมีภาษี ที่ 10% และหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรัฐบาลมีการปรับลดภาษีลง เหลือ 7% เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน หลังจากนั้นไทยไม่เคยขึ้นภาษี เป็นการต่อภาษี 7% มาทุกปี เพราะในแต่ละปีจะมีการขออนุมัติใช้อัตราภาษีที่ 7% ทำให้คนไทยจำว่าภาษีของไทย
หลังจากที่ไทย ยืนภาษีที่ 7% มายาวนาน รัฐบาลปัจจุบันก็กลับมาทบทวนว่าถึงเวลาที่จะขึ้นภาษีเพื่อหารายได้เข้ารัฐ แต่แทนที่จะปรับจาก 7% เป็น 10% ก็ขึ้นไปที่15% แบบก้าวกระโดด ในมุมมอง ควรกลับไปที่ 10% เพื่อทดสอบระบบว่า เงินเฟ้อจะพุ่งสูงหรือไม่ กระทบกับค่าครองชีพของคนไทยอย่างไรบ้าง เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งภาคประชาชนและธุรกิจ
นอกจากนี้การปรับขึ้นภาษีควรปรับขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง แต่ในตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากพอ ทำให้เกิดมุมมองที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ว่าจริง ๆ ควรชะลอออกไปหรือไม่
เนื่องจากการปรับภาษีจาก 7% เป็น 10% อาจจะดีและไม่ดีในมุมมองเดียวกัน ผู้ประกอบการ แม้การขึ้นภาษีจะเป็นผลดีกับธุรกิจ แต่ในแง่ของประชาชนหากสินค้าราคาแพงขึ้นเขาอาจจะชะลอการใช้จ่ายก็อาจจะกระทบภาคธุรกิจ อาจจะมีการชะลอในช่วงแรก แต่ถ้าทุกอย่างปรับตัวได้ก็คงจะเป็นเหมือนกับชินชา
ภาษี 15% กระทบ "มนุษย์เงินเดือน-รากหญ้า"
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี คงหนีไม่พ้น กลุ่มมนุษย์เงินเดือน และกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่รากหญ้ามีเงินเดือนน้อย จะมีโอกาสในการเข้าถึงสินค้าต่าง ๆ ยากขึ้น และได้รับกระทบมากสุด เพราะอาจจะเข้าไม่ถึงบางสินค้าที่จากเดิมเคยเข้าถึง
ส่วนมนุษย์เงินเดือน กระทบในแง่ของรายได้เท่าเดิมไม่ได้ปรับตามฐานภาษีที่เพิ่มขึ้น เช่น เงินในกระเป๋ามี 100 บาท หักภาษี 7% เหลือเงินในกระเป๋า 93 บาท แต่ถ้าขึ้นภาษี 15% เงินในกระเป๋าเหลือ 85 บาท นั้นหมายความว่าเงินในกระเป๋าลดลงแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น
ผอ.สถาบันยุทธศาสตร์การค้า ฯชี้ว่า ส่วนข้อเสนอจัดเก็บภาษีคนรวยนั้น ภาครัฐต้องศึกษาอย่างจริงจังว่า จะเก็บภาษีคนรวยอย่างไร และแบบไหนเรียกว่าคนรวย ต้อง "นิยาม" คำว่า "คนรวย" ให้ชัด ในต่างประเทศการเก็บภาษีคนรวยก็ยังไม่ชัดเจน เช่น นาย ก. มีธุรกิจพันล้าน แต่ว่าธุรกิจนาย ก. มีหนี้สินอยู่ หรือหุ้นในบริษัทใหญ่ขาดทุนตลอด คำถามคือ นาย ก. รวยหรือ จน แต่นาย ก. มีเงินใช้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องกำหนดฐานภาษี หรือรายได้ว่าคนรวยแบบอย่างไรก็ต้องมาดี defend กัน ซึ่งต้องศึกษาว่า อะไรคือ รวย-จน
การปรับขึ้นภาษีต้องดูไทม์ไลน์ เพราะปี 2568 ปัจจัยเศรษฐกิจยังผันผวนค่อนข้างชัด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก นโยบายทรัมป์ที่จะเอาอย่างไรกับจีน ผลกระทบที่มีกับจีนจะเป็นอย่างไรและจะกระทบกับประเทศอื่น ๆอย่างไร ปัจจัยสำคัญของไทย คือ การส่งออก ถามว่าปีหน้าควรขึ้นภาษีหรือไม่ ต้องดูปัจจัยทางเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไรก่อน
ส่วนแนวคิดลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ของกระทรวงคลัง แน่นอนว่า เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจเต็ม ๆ หากธุรกิจไหนที่เข้าสู่ระบบภาษีจากเดิมต้องเสีย 30% แต่หากมีรายได้เกินก็เสียภาษีเพียง 15% ทำให้ต้นทุนสินค้าลดลง ซึ่งธุรกิจก็ต้องลดราคาสินค้าก็จะไปถัวกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% ที่ผู้บริโภคจะต้อง แต่คำถาม คือ มีบริษัทไหนเข้าสู่ระบบบ้าง สินค้าส่วนใหญ่ ที่ผลิตออกมาอยู่ในระบบมากน้อยแค่ไหน คือ คำถามที่จะเกิดตามมา
อดีตขุนคลังแนะรัฐควรปรับภาษีคนรวยมากกว่าคนจน
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพส เฟซบุ๊กระบุถึง แนวคิดที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งตรงกับที่ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เคยแย้มในเวทีหาเสียง อบจ.ที่ผ่านมาถึงการ ขึ้นภาษีแวตเป็น 15-25%, ลดภาษีนิติบุคคล 20% เหลือ 15%, ดันจีดีพีปี 2568 โต 5%, ทำงบขาดดุลกระตุ้นลงทุน, ให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย, ทำค่าเงินบาทให้อ่อนดันส่งออก
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
ถ้าเป็นแนวคิดจริง เห็นว่าเป็นการปรับภาษีเพื่อคนรวยมากกว่าคนจน เพราะการขึ้นภาษีแวตจะกระทบคนจนกว้างขวาง รัฐบาลแจกเงินฟรีอุดหนุนการบริโภคแบบมือเติบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกระทั่งมาถึงวันนี้ คงตาสว่างแล้วว่า ทำให้กระเป๋าฉีก จึงต้องสาละวนหารายได้เพิ่ม เพื่อมาฉุดรั้งไม่ให้ขาดดุลงบประมาณปีนี้และปีต่อ ๆไปดิ่งลงเหว
ผมเตือนว่าการขึ้นภาษีแวตจะกระทบคนจนอย่างกว้างขวาง ทั้งจากปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังที่รุนแรงขึ้น และจะนำไปสู่เงินเฟ้อ ยิ่งจะทำให้ความหวังที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยเลือนลางรวมทั้งเมื่อกำลังซื้อประชาชนลดลง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามจะกระตุ้นให้ตัวเลขสูงขึ้น ก็จะกลับแผ่วลง
เห็นด้วยที่จะต้องขึ้นภาษีแวตเพื่อเริ่มกระบวนการใช้คืนหนี้สาธารณะ แต่ควรจะขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น 1% และควรจะใช้โอกาสนี้ ปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเพิ่มภาษีแวตสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นขั้นบันใด อาจจะสูงขึ้นเป็น 15% เป็นต้น
อดีตขุนคลัง ระบุอีกว่า การปรับลดภาษีนิติบุคคลเพื่อคนรวย คุณทักษิณเคยพูดบนเวทีว่า ไทยจำเป็นต้องลดภาษีนิติบุคคลเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น โดยลดลงไปเท่ากับอัตราของประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้ว OECD
แนวคิดว่าไทยต้องลดภาษีนิติบุคคลให้เท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในไทยนั้น จะถูกต้อง ก็ต่อเมื่อไทยมีสภาพเศรษฐกิจสังคมเท่ากับประเทศเหล่านั้น
ที่มา:https://www.facebook.com/share/p/1ERpRCNZ3g/?mibextid=WC7FNe
ส่องประเทศเก็บภาษีมากกว่า15% - ต่ำกว่า7%
มีข้อมูลระบุว่า ประเทศที่มีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ที่ประมาณ 15% คือ นิวซีแลนด์ (New Zealand) ภาษีมูลค่าเพิ่มเรียกว่า GST (Goods and Services Tax) ซึ่งอยู่ที่ 15%, แอฟริกาใต้ (South Africa) มี VAT อัตรา 15%, มอลตา (Malta) ภาษีมูลค่าเพิ่มในมอลตาอยู่ที่ 15% สำหรับบางบริการ เช่น การท่องเที่ยว, เซเชลส์ (Seychelles) มีอัตรา VAT 15% แต่ทั้งนี้ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละประเทศอาจมีข้อยกเว้นหรืออัตราที่ลดลงสำหรับสินค้าและบริการบางประเภท เช่น อาหาร ยา หรือบริการด้านสุขภาพ
ส่วนประเทศที่มีการเก็บภาษีต่ำกว่า 7% เช่น แคนาดา (Canada) อัตราภาษี GST (Goods and Services Tax): 5%, ญี่ปุ่น (Japan) อัตราภาษี VAT หรือ Consumption Tax: 5% (ก่อนปี 2014) ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 10% แต่สำหรับสินค้าและบริการบางประเภท เช่น อาหาร จะยังเก็บในอัตรา 8%, ซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia) อัตรา VAT: 5% (เริ่มใช้ในปี 2018) เพิ่มเป็น 15% ในปี 2020 เพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล, สิงคโปร์ (Singapore) อัตรา GST: 7% (แต่จะเพิ่มเป็น 8% ในปี 2023 และ 9% ในปี 2024) และไต้หวัน (Taiwan) อัตราภาษี VAT: 5%
นับจากนี้คงต้องรอดูทิศทางของรัฐบาลแพทองธารว่าจะเดินหน้าขึ้นภาษี 15% หรือยอมถอยไปตั้งหลักใหม่ แล้วแสวงหารายได้ทางอื่นแทน เพราะการปรับขึ้นภาษี 15% ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ และอาจส่งผลให้รัฐบาลอาจจะอยู่ไม่ครบเทอม
อ่านข่าว:
ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ชี้การค้าโลกเผชิญรุนแรง คาดเศรษฐกิจไทยโต2.9%
“ไทย” มิตรแท้ทุกประเทศ “สหรัฐฯ” ขุมทรัพย์ ขยายส่งออกไทย
ศึกสิบทิศ “ข้าวไทย” 2568 “สต็อก” โลกล้น เขย่าธุรกิจวงการค้า