ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"รถพุ่มพวง" ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

สังคม
11 ธ.ค. 67
07:40
589
Logo Thai PBS
"รถพุ่มพวง" ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จากพื้นที่รกร้าง สู่เกษตรแปลงรวมโอกาสสำหรับครัวเรือนยากจนปลูกพืชผักเพื่อให้มีแหล่งอาหารในครัวเรือน ต่อยอดขยายเป็นรถมอเตอร์ไซด์พุ่มพวง กระจายสินค้าของสมาชิก

จุดเริ่มต้นจากพื้นที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ รกร้าง เป็นพื้นที่ทิ้งขยะ วัยรุ่นมั่วสุม สู่โครงการเกษตรสร้างสุขเกษตรแปลงรวม พัฒนาและจัดสรรให้ครัวเรือนคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ทำเกษตร โอกาสสำหรับครัวเรือนเปราะบางหรือครัวเรือนยากจนบ้านนาเกียรตินิยม ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์

โดยโมเดลแก้จน ทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภายใต้การสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผ่านการใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับศักยภาพบริบทของชุมชนท้องถิ่นและครัวเรือนยากจน และพลังหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคี หวังช่วยเหลือให้หลุดพ้นออกจากกับดักความยากจน ด้วยการปลูกพืชผักเพื่อให้มีแหล่งอาหารในครัวเรือน ให้พออยู่พอกิน ลดรายจ่าย ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาขยายเป็นรถมอเตอร์ไซด์พุ่มพวง กระจายสินค้าของชุมชน สู่ผู้บริโภคชุมชนข้างเคียง

ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น

ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น

ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น

ต.สะแกโพรง มีครัวเรือนคนจนมากเป็นลำดับที่ 1

ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น และหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า พื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม หมู่ 17 ต.สะแกโพรง ได้เข้าร่วมโครงการบูรณาการความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จนเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567

โดยในปี 2564 จากการค้นหากลุ่มเป้าหมายครัวเรือนเปราะบาง หรือครัวเรือนยากจน ที่ผ่านการสอบทานในระบบ PPP Connext ผลจากการสอบทานข้อมูลพบว่าจาก 23 อำเภอของบุรีรัมย์ อ.เมือง มีครัวเรือนยากจนสูงอันดับ 1 และ ต.สะแกโพรง มีครัวเรือนคนจนมากเป็นลำดับที่ 1 ของ อ.เมือง คือมีจำนวน 734 ครัวเรือน มีคนจนอาศัยอยู่ จำนวน 3,299 คน และพื้นที่ ต.สะแกโพรง ยังพบว่า บ้านนาเกียรตินิยม มีครัวเรือนคนจนอาศัยอยู่มากถึง 51 ครัวเรือน จำนวนคนจน 198 คน เป็นคนจนที่จัดอยู่ในกลุ่มอยู่ยากและอยู่พอได้ซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน

“โครงการแก้จนอยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่ต้องทำโดยทีมวิจัย ต้องมีอะไรที่แตกต่างจากการแก้จนทั่วไป แต่สิ่งที่สำคัญคือความต่อเนื่องและสามารถส่งไม่ต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้”

อ่านข่าว : ชุบชีวิตคนจน "ผักอินทรีย์แปลงรวม" จ.สุรินทร์ ตามแนวทางบ้าน-วัด-โรงเรียน

“คนจน” มีแสงสว่าง มีที่ยืนทางสังคม

ดร.พิสมัย ระบุว่า เป้าหมายแรกคือ ทำอย่างไรที่ทำให้คนจนของ จ.บุรีรัมย์ สามารถมีแสงสว่าง มีที่ยืนทางสังคม ไม่ได้มองว่าต้องทำให้ชาวบ้านมีรายได้มีอาชีพ แต่มองว่าคนจน กลุ่มเปราะบาง ได้เห็นตัวตนและทำให้ชาวบ้านมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

“เพราะฉะนั้นโครงการแก้จนของบุรีรัมย์ จึงมองของเรื่องการเกื้อกูลกัน เกื้อกูลกันของคนบุรีรัมย์ บุรีรัมย์เรื่องของเศรษฐกิจสุดโต่ง เรื่องรากหญ้าสุดเตี้ยเช่นกัน ทำอย่างไรให้ลดช่องว่างนี้ให้ได้ ที่จะทำให้ครัวเรือนยากจน เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบุรีรัมย์”

จุดเด่นของสะแกโพรง คือชาวบ้านมีทักษะการทำเกษตร และในหมู่บ้านยังมีพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 4 ไร่ และมีแหล่งน้ำซึ่งสามารถใช้เพื่อการเกษตรได้ เมื่อนักวิจัยได้นำข้อมูลเข้าหารือกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ จึงได้รับความร่วมจากผู้นำชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ และได้รับสมัครครัวเรือนคนจนกลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์และสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 37 ครัวเรือน

ยกระดับทุน 5 ด้านให้ 37 ครัวเรือนยากจน

ผลการดำเนินงานพื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม สามารถยกระดับทุนดำรงชีพ 5 ด้าน ให้กับครัวเรือนยากจน 37 ครัวเรือน ให้ดีขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ

ด้านที่ 1 การยกระดับทุนมนุษย์ ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้และทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ด้วยการ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ ทำสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลง ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ การเผาถ่านและทำน้ำส้มควันไม้ และการจัดกิจกรรมการศึกษาดูงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้มีความหวังและเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน

ด้านที่ 2 การยกระดับทุนทางสังคม มีการรวมกลุ่มสมาชิกเกษตรแปลงรวม และการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเกษตรสร้างสุข มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เกิดสังคมเอื้ออาทร แบ่งปัน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ด้านที่ 3 การยกระดับทุนทางเศรษฐกิจ มีการใช้พื้นที่สาธารณะและพื้นที่รอบครัวเรือน ปลูกพืช ผัก สามารถลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มจากการขายพืชผักในเกษตรแปลงรวม

ด้านที่ 4 การยกระดับทุนทรัพยากรธรรมชาติ ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ 4 ไร่ จัดเป็นพื้นที่แปลงรวม เพื่อปลูกพืช ผัก พัฒนาสิ่งแวดล้อม ได้ใช้แหล่งน้ำของชุมชน เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มคุณค่า

ด้านที่ 5 การยกระดับทุนทางกายภาพ มีการจัดสรรและพัฒนาพื้นที่ ให้ครัวเรือนคนจนมีที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ครัวเรือนละ 1 แปลง ซึ่งสามารถเป็นสิทธิ ให้ลูกหลานในครอบครัวเป็นพื้นที่ทำกินต่อ ๆ กันไปได้

“และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง รูปธรรมความสำเร็จแปลงรวมสร้างสุขที่เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางสังคมให้กับครัวเรือนยากจนและกลุ่มเปราะบาง”

คนบุรีรัมย์ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งคนที่มีความเป็นอยู่ที่ดี และคนที่จำเป็นต้องดูแล เพราะทรัพยากรบุรีรัมย์มีจำกัด แต่ความคิดสร้างสรรค์คนบุรีรัมย์ไม่จำกัด และความคิดสร้างสรรค์ของทุกคน คือความคิดที่สำคัญสำหรับมาเติมเต็มในเรื่องการดูแลคน ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย และทุกสถานะ

เอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 17 บ้านนาเกียรตินิยม ต.สะแกโพรง

เอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 17 บ้านนาเกียรตินิยม ต.สะแกโพรง

เอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 17 บ้านนาเกียรตินิยม ต.สะแกโพรง

พื้นที่สร้างสัมพันธ์ในชุมชน

เอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 17 บ้านนาเกียรตินิยม ต.สะแกโพรง ระบุว่า อยากพัฒนาพื้นที่รกร้าง ให้เกิดประโยชน์สำหรับพื้นที่ สำหรับโครงการเกษตรสร้างสุขเริ่มต้นจากการประชาคม และชาวบ้านเห็นไปแนวทางเดียวกัน จนได้มีครัวเรือนยากจนเข้าร่วมโครงการ 37 ครัวเรือน และได้มีการส่งเสริมให้ความรู้ และสิ่งที่สำคัญคือการพาชาวบ้านทำเพื่อให้เกิดกำลังใจ

ผลของการทำเกษตรแปลงรวม ทำให้ชาวบ้านมีความสุขมากขึ้นจากเดิมในปี 2561 ที่ประสบปัญหาโควิด-19 ที่ประชาชนต้องอยู่ภายในบ้าน

คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านเลี้ยงหลาน เพราะลูกต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด ทำให้มีการพูดคุยกับชาวบ้านมากขึ้น ทำให้หลายครัวเรือนต้องเจอกับภาวะซึมเศร้า แต่เกษตรแปลงรวมเป็นช่วยที่ช่วยเพิ่มความสุขให้กับชาวบ้าน โดยได้มีการพูดคุยกับเพื่อนบ้านมากขึ้น

“ผักที่ปลูกได้ไม่ใช่แค่เพียงขายเท่านั้น แต่ยังใช้ผักในการไปช่วยงานบุญงานกุศลในหมู่บ้าน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่ละครั้ง”

ยังลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จากการซื้อผัก และเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างแปลงใกล้เคียง โดยลดค่าใช้จ่าย เดือนละ 900 บาท และมีอาหารบริโภคในครัวเรือน และครอบครัวคนจนมีรายได้ เพิ่ม เดือนละ 1,200 บาท

อีกทั้งชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนบนฐานทรัพยากรของตนเอง เกิดกลุ่มทางสังคมเกื้อกูลและพื้นที่การเรียนรู้ แบ่งปันสร้างความมั่นคงทางอาหาร เกิดการสร้างงานและอาชีพให้กับคนจน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจน

จำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

จำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

จำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

เกษตรแปลงรวมโอกาสของชุมชน ต่อยอดขยายพื้นที่

นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เกษตรแปลงรวมเป็นโอกาสของชุมชน เป็นโมเดลที่จะสามารถไปรองรับกับพื้นที่สาธารณะ ประกอบกับมีครอบครัวคนจนที่มีทักษะด้านการเกษตร

เชื่อว่าความยากจนยังไม่สามารถหมดไปได้ โดยภาวะเศรษฐกิจ โดยระบบ ด้วยความซับซ้อนของสังคม แต่การทำเครือข่ายให้เข็มแข็ง ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดความยั่งยืน และเชื่อมโยงไประดับภูมิภาค

“โมเดลรถพุ่งพวงยังเป็นกระบอกเสียง และเป็นออเดอร์ให้กับสินค้าปลายทาง เป็นลักษณะความผูกพันระหว่างพ่อค้ากับผู้ผลิต”

สุรศักดิ์ มุมทอง

สุรศักดิ์ มุมทอง

สุรศักดิ์ มุมทอง

ผู้ผลิตผักรายย่อยสู่คนขายรถพุ่งพวง

“รถพุ่มพวงแก้จน” เป็นโมเดลแก้จนที่สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ที่เน้นการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

“พี่ยาว” สุรศักดิ์ มุมทอง หนึ่งในสมาชิกโครงการปลูกผักแปลงรวม ที่กลายเป็นคนขายผักรถพุ่มพวง ควบคู่กับการปลูกผักบนพื้นที่ที่ได้จัดสรร 4 แปลง

พี่ยาวเล่าว่าแต่เดิมพี่ยาวทำงานโรงงานในเมืองหลวงแต่ช่วงโควิด-19 เลยตัดสินใจที่จะกลับมาอยู่บ้านเกิด กว่า 20 ปีที่ทำงานเกี่ยวกับโรงงานเครื่องจักร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ต้องกลับมาอยู่บ้านเกิดโดยไร้ทุนสำรอง

ประจวบเหมาะกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์มีโครงการปลูกผักแปลงรวม และได้รับการสนับสนุนตั้งแต่ปรับพื้นที่ ระบบน้ำ เมล็ดพันธุ์ ซึ่งพี่ยาวได้รับการจัดสรรแปลงผักมา 4 แปลง ครั้งแรกเริ่มปลูกพริก เพราะคิดว่าทุกหลังคาเรือนต้องกินพริก และเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในบรรดาสินค้าทั้งหมด ตามมาด้วย คะน้า กวางตุ้ง ต้นหอม ผักชี ส่วนสมาชิกรายอื่นๆ ส่วนใหญ่จะปลูกผักที่ใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน ไม่ว่า จะเป็น หอม กระเทียม ผักชีลาว ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว ฯลฯ

กระทั่งได้ผลผลิตมีคุณภาพ ถูกยกระดับสู่มาตรฐาน GAP เริ่มได้รับความสนใจจากพ่อค้าที่เดินทางมารับซื้อ แต่การเข้ามารับซื้อนั้นทำให้สมาชิกมองว่าถูกกดราคา พี่ยาวจึงเริ่มหันมาเป็นผู้ขายเอง เพราะไม่อยากให้ผักปลอดสารพิษถูกกดราคา

พี่ยาวเริ่มโดยการรับซื้อผักจากชาวบ้าน ไปจำหน่ายในราคาถุงละ 20 บาท โดยได้ส่วนแบ่งถุงละ 3 บาท และให้ชาวบ้าน 17 บาท

“แรกๆ ไม่กล้าขายเพราะไม่เคยขายของมาก่อน แต่ก็ขับรถไป แวะตามชุมชนต่างๆ บ้าง มีคนเรียกซื้อบ้าง พอขายไปเรื่อยๆ เริ่มมีคนรู้จักตอนนี้ขายดีไม่เหลือผักกลับมาเลย”

กว่า 1 ปีที่พี่ยาวใช้รถมอเตอร์ไซต์พ่วงเป็นร้านค้าเคลื่อนที่ไปยังชุมชนหมู่บ้านต่างๆ จนมีลูกค้าประจำและร้านอาหารที่คอยอสั่งผักจากพี่ยาวเป็นประจำเพราะมั่นใจว่าได้รับประทานผักที่ปลอดภัยมีความแตกต่างจากผักในท้องตลาด

เมื่อได้เงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 10,000 บาท พี่ยาวจึงนำเงินมาต่อเติมหลังคารถพ่วง เพราะผักที่ขายจะโดนแดด เหี่ยวเร็ว ที่ยาวต้องคอยรดน้ำและเอาผ้าคลุมไว้ ซึ่งค่าต่อเติมหลังคา รวมกับค่าช่างหมดไปประมาณ 4,000 บาท ส่วนที่เหลือพี่ยาวเก็บไว้เป็นทุนในการซื้อผักและเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ซึ่งอาทิตย์หนึ่งพี่ยาวจะออกขายผักประมาณ 3 วัน ขึ้นอยู่กับผักของสมาชิกที่ออกผลผลิตในช่วงนั้น ขายตั้งแต่ 13.00-18.00 น. กำไรต่อวัน 500-600 บาท

มีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ได้อยู่กับครอบครัว มีอาชีพ มีรายได้ และอากาศสดชื่น สุขภาพก็ดี

อ่านข่าว : 

น้ำผึ้งชันโรงเสม็ดขาว สุดยอด Superfood ต้านโรคอัลไซเมอร์-มะเร็ง

โมเดลแก้จน เติมความรู้-สร้างอาชีพ ลดรุนแรงชายแดนใต้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง