ยังไม่ทันประดาบ ทุกองคาพยพของกองทัพก็เงียบกริบ เสมือนน้ำไร้คลื่น เมื่อ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกับคณะ ได้ "ลองของ” เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ... ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น
ท่ามกลางแรงกระเพื่อมใต้น้ำ ทหารยังไม่ขยับ แต่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคฝ่ายค้านครึ่งหนึ่งของ “พรรคพลังประชารัฐ” ต่างออกมาดาหน้าคัดค้าน เต็มสูบ โดยเฉพาะ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรี ระบุ ไม่เห็นด้วย หากสกัดแต่งตั้งบัญชีโยกย้ายผบ.เหล่าทัพ เพื่อป้องกันการปฏิวัติ
“เงื่อนไขปฏิวัติ มีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมือง เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ... ดีที่สุด ก็ต้องทำตัวให้ดี ซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าลงถนน ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ”
ขณะที่ “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ มองว่า การเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ ในกระทรวงกลาโหม ต้องพิจารณาให้รอบคอบ กองทัพถือเป็นสถาบันหลักของชาติที่เกี่ยวกับความมั่นคง และไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
“เราเห็นด้วยกับการทำให้กองทัพมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงโดยเฉพาะการให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกิจการของกระทรวงกลาโหม”
ด้านพรรคพลังประชารัฐ ส่ง “พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย” โฆษกพรรคฯ ออกมาชำแหละร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เน้นแก้มาตรา 25 เป็นหลัก เพื่อให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอำนาจเหนือผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยอ้างว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวก ทั้งที่ข้อเท็จจริง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ย่อมต้องรู้จักศักยภาพและประสิทธิภาพของกำลังพลใต้การบังคับบัญชา มากกว่าฝ่ายการเมือง
“รัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8 ระบุชัด “ พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” และตามมาตรา 27 พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดชัดว่า “ การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลดำรงตำ แหน่งให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง” สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล โดยไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง”
หากพลิกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พบว่า เป็นกฎหมายเดิมที่มีบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 และเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 และมีการใช้ต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
แต่พลันที่สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการเสนอปรับเพิ่มเติมในหลายประเด็น และถูกชำแหละออกมา จึงมีหลายฝ่ายตั้งคำถามและจับตาพรรคเพื่อไทยว่า ต้องการลดทอนอำนาจของ “กองทัพ” ให้อยู่ภายใต้อำนาจ “ฝ่ายการเมือง” หรือไม่ โดยเฉพาะขั้นตอนการปรับโครงสร้างกลาโหม และมีการตั้ง “กฎเหล็ก” สกัดการเคลื่อนกำลังพลเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ รัฐประหาร
เช่น ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งให้นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่ก่อการกบฏหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างรอการสอบสวนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งให้พักราชการตามกฎหมาย (เพิ่มมาตรา 35/1)
หรือ การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลให้เหมาะสม และกำหนด ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล
การกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารไปกระทำการบางเรื่อง และให้สิทธิข้าราชการทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้กระทำการดังกล่าว
รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติเพิ่มเติม เช่น การแต่งตั้งนายทหารระดับชั้นนายพล ซึ่งตามกฎหมายเดิมที่ใช้ ถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม ประกอบด้วย รมว. กลาโหม ในฐานะประธานโดยตำแหน่ง และรมช.กลาโหม (ในกรณีที่มีรมช.) , ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพจาก กองบัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กองทัพบก (ผบ.ทบ) ,กองทัพเรือ (ผบ.ทร.) , กองทัพอากาศ (ผบ.ทอ.) ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะกรรมการและเลขานุการ และเจ้ากรมเสมียนตราอีก 1 คน (ตำแหน่งนี้ ไม่นับรวม)
โดยกระบวนการจัดทำบัญชีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ตามกฎหมายเดิม ในแต่ละเหล่าทัพจะถูกเสนอให้บอร์ด 7 เสือกลาโหมพิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการโหวตและผ่านการพูดคุย หลังจากมีมติและได้ข้อยุติแล้ว รมว.กลาโหมก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อให้นายกฯนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฯ
ตามขั้นตอนของกฎหมายเดิม ไม่ได้เปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองทบทวน หรือเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขรายชื่อ
ขณะที่กฎหมายใหม่ที่พรรคเพื่อไทยจะปรับแก้ได้เพิ่มเนื้อหาการประชุมและมีการโหวตลงมติพร้อมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือบอร์ด 7 เสือ มีการเพิ่มตำแหน่ง “ปลัดสำนักนายกฯ” ให้อยู่ในคณะกรรมการฯชุดนี้ด้วย จากเดิมไม่มี และยังมีการระบุชัด ว่า ในกรณีที่มีเสียงโหวตเท่ากัน “ประธาน” หรือ รมว.กลาโหม สามารถออกเสียงเพื่อชี้ขาดได้อีก 1 เสียง
และยังมีประเด็น “ ไฮไลท์ ”สำคัญอีก คือ หลังจากมีการนำเสนอชื่อบัญชีแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลฯ ให้นายกรัฐมนตรีแล้ว จากนั้นนายกฯจะต้องส่งรายชื่อทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบและไม่ให้ความเห็นชอบก็ได้ หรือ อาจเอารายชื่อใดรายชื่อหนึ่ง หรือไม่เอาหมดที่เสนอมาได้เช่นกัน
โดยครม.จะส่งรายชื่อกลับไปยังรมว.กลาโหมอีกรอบ เพื่อเสนอให้บอร์ด 7 เสือ พิจารณาทบทวนใหม่หรือเปลี่ยนแปลงในกรณีที่ไม่เห็นชอบ และย้อนส่งกลับมาให้ครม.พิจารณาอีกรอบ
กล่าวคือ ครม.มีสิทธิทบทวนรายชื่อฯ ได้ 2 รอบ หากครม.ไม่อนุมัติให้รายชื่อผ่านก็จะไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ และต้องนำกลับไปแก้ไข จนกว่าครม.จะให้ความเห็นชอบ ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิมที่เสนอให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลได้
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดสเปก นายทหารระดับชั้น "นายพล-ผบ.เหล่าทัพ"ว่า ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม 3 เรื่องหลัก คือ
(1) ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การค้ามนุษย์ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(2) ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือประกอบธุรกิจหรือกิจการอันเกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงกลาโหม
(3) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยหรือระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความ ผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดผิดลหุโทษ
และยังมีการวางกลไกป้องกันการยึดอำนาจจากกองทัพ โดยยกเลิกมาตรา 35 เดิม คือ การเคลื่อนกำลังเพื่อปราบปรามจราจล เป็น ห้ามมิให้ใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ ,ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่าง ๆ ,เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา หรือ กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่น
หากพบข้อเท็จจริงว่า ทหารคนใดตระเตรียมทำการยึดอำนาจ ให้นายกฯ โดยความเห็นชอบของครม.สั่งทหารผู้นั้น ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อรอการสอบสวนได้ โดยไม่ต้องรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์ แต่แค่มีข้อเท็จจริงก็สามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้เลย
นอกจากนี้ยังมีการรื้อโครงสร้างสภากลาโหม โดยพรรคเพื่อไทย เสนอยกเลิกมาตรา 42 เดิม ให้แก้ไขใหม่ ด้วยการลดจำนวนสมาชิกสภากลาโหมลงจากเดิม 27- 28 คนเหลือเพียง 17-18 คน และตัดตำแหน่งนายทหารที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ให้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเข้ามา เช่น อธิบดีกรมบัญชีกลาง
ส่วนตำแหน่ง สมาชิกสภากลาโหม และผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิมแต่งตั้งโดยรมว. กลาโหม เปลี่ยนใหม่โดยให้ผ่านความเห็น ชอบจากครม. และให้นายกรัฐมนตรี ฯเป็นประธานสภากลาโหม จากเดิมที่รมว.กลาโหมเป็นประธานฯโดยตำแหน่ง
อาจถือเป็นการเปิดช่อง ให้นักการเมืองเข้าไปมีบทบาทกำหนดแนวนโยบายมากขึ้น
ดังกล่าวข้างต้น คือ สาระสำคัญของการเสนอร่างกฎหมายของ “ประยุทธ์และคณะ” แม้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รมว.กลาโหม แสดงออกเบื้องต้นว่า ไม่เห็นด้วย และยังไม่ถือเป็นมติของพรรคเพื่อไทยก็จริง แต่กลับถูกถล่มยับจากทุกฝ่าย ทั้งในแวดวงนักวิชาการ และความมั่นคง
โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่ให้เห็นด้วยมองว่า ไม่ต้องการให้กองทัพถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคล อีกทั้งตามสายงาน การบังคับบัญชาของกองทัพ จำเป็นต้องใช้นายทหารที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเป็นพิเศษ
จึงเกรงว่าหากฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูก และเลือกของคนของตนเองเข้ามาอยู่ในตำแหน่ง อาจจะส่งผลกระทบต่อการบังคับบัญชา โดยเฉพาะการแต่งตั้งนายทหารสายยุทธการและการรบ เนื่องจากตามประเพณีปฏิบัติ หากบุคคลนั้น ๆ จะขึ้นมาดำรงตำแหน่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา
และต้องขยับเติบโตจากไลน์ที่เหมาะสม ซึ่งนักการเมืองและบุคคลภายนอก มักมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมดของกองทัพ ขณะที่ผู้นำเหล่าทัพที่ต้องรู้จักประเทศและอาณาเขตรอบขวานทอง รวมทั้งความสัมพันธ์ทางทหารกับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน ต่างจากนักการเมือง ซึ่งมองผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกเป็นหลัก
สงครามยังไม่จบ แม้ร่างจัดระเบียบพ.ร.บ.กลาโหม ฉบับพรรคเพื่อไทย ยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่เมื่อพรรคร่วมหลัก “ภูมิใจไทย-รทสช.” ยังไม่เอาด้วย จะฝ่ากระแสไปได้อย่างไร และหากด่านหน้ายังต้องใช้เสียงสนับสนุนจากสว.แม้คลื่นใต้น้ำยังเงียบสงบ แต่ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโยนหิน ถามทาง แต่เป็นการท้าทาย ไม่ต่างจาก โยนฟืน สุมไฟ ใส่กองทัพ
อ่านข่าว
ครม.ตั้งลูกหลานนักการเมือง "บิ๊กล็อต" นั่ง ขรก.การเมือง
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ร่างแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหม
- แก้ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม
- จัดระเบียบกลาโหม
- พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม
- ประยุทธ์ ศิริพานิชย์
- แก้กฎหมายสกัดปฏิวัติ
- แก้ร่างจัดระเบียบกลาโหม
- พรรคเพื่อไทย
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
- พรรคภูมิใจไทย
- ร่างจัดระเบียบกลาโหม พรรคเพื่อไทย
- ข่าวการเมือง
- ข่าวการเมืองวันนี้
- ข่าวการเมืองล่าสุด
- เจาะข่าวจริงกับไทยพีบีเอส