ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตั้งคำถาม ล็อกสเปก ซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ

สังคม
25 ธ.ค. 67
18:15
139
Logo Thai PBS
ตั้งคำถาม ล็อกสเปก ซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ
ตั้งข้อสังเกต ปรับเกณฑ์บริษัทรับประกันแรงงานข้ามชาติ 2567 เอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ ล็อกเงื่อนไขสินทรัพย์รวม 3 หมื่นล้าน เหลือเข้ารอบ 3 บริษัท กรมการจัดหางาน ชี้แจง ยึดหลักความมั่นคงบริษัทประกัน

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และสามารถทำงานกับนายจ้างเป็นการชั่วคราวได้เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งต่อมากระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงกำหนดเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติกลุ่มดังกล่าว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม

ตั้งข้อสังเกต หลักเกณฑ์ประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวล็อกสเปก?

ปีนี้ กรมการจัดหางาน เปิดเผยข้อมูลว่า มีแรงงานข้ามชาติ ทั้งหมดประมาณ 3,000,000 คน ประกอบด้วย แรงงานที่ต่ออายุประมาณ 2,600,000 คน และแรงงานที่ขึ้นทะเบียนใหม่อีกประมาณ 600,000 คน

ขั้นตอนที่สำคัญ ขั้นตอนหนึ่งในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ กำหนดให้แรงงานทุกคนต้องตรวจสุขภาพ และซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย โดยกรมการจัดหางาน จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณณ์บริษัทประกันภัยประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงาน

ปีนี้ หากดูจากหลักเกณฑ์การประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ที่ถูกประกาศออกมาตามมติ ครม. 24 กันยายน 2567 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ระหว่างปีที่แล้ว ตามมติครม. 3 ตุลาคม 2566 หลักเกณฑ์ของปีนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดย 2 หลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดออกมาใหม่ในปีนี้ มี 3 ข้อสำคัญที่น่าสนใจ คือ

  • ประการแรก ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566
  • ประการที่ 2 ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
  • ประการที่ 3 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

แตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา ที่กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 140 และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขของสินทรัพย์ของบริษัทประกันภัยไว้ เงื่อนไขเหล่านี้ มีรายงานข่าวที่นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการล็อกสเปกบริษัทประกันวินาศภัยหรือไม่

‘3 บริษัท’ เชื่อมระบบทำประกันภัยแรงงานข้ามชาติ

ปีที่แล้ว มีบริษัทประกันภัยที่รับประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ทั้งหมด 17 บริษัท แต่หากยึดตามหลักเกณฑ์ที่ระบุใหม่ข้างต้น ตามประกาศของกรมการจัดหางาน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา จะทำให้เหลือบริษัทที่เข้าร่วมอยู่ทั้งหมด 3 บริษัทเท่านั้น ได้แก่

  • บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเหตุผลที่ต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ประกันสุขภาพว่า ตาม มติครม.24 กันยายน 2567 กำหนดให้ประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย ที่ประสงค์จะเข้าร่วมทำประกัน จะต้องมีความมั่นคงเพียงพอ

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กรมการจัดหางาน ได้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน รวมถึงผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกระทรวงสาธารณสุข มาร่วมกันประเมินถึงอัตราความมั่นคงที่ควรจะกำหนดทั้งในเรื่องของการสำรองกองทุน รวมถึงสินทรัพย์ของบริษัทประกันภัย ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาเป็นหลักเกณฑ์ดังกล่าว

“ที่ผ่านมา กรณีของบริษัทประกันที่ประกันโควิด เราก็เอามาเป็นบทเรียน ว่าประกันโควิดเนี่ย บริษัทใหญ่ๆ หลายๆ บริษัทก็ต้องเลิกกิจการไป เพราะมีการเคลมประกันโควิดค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทไม่สามารถที่จะดูแลผู้เอาประกันได้ ก็เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ณ วันนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่จบสิ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องเอามาประกอบในการพิจารณา ในตัวเลขที่เรามีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน ที่จะต้องเข้ามาสู่ระบบของการจดทะเบียนในครั้งนี้ ซึ่งถ้า 3 ล้านคน แล้วเกิดประเด็นปัญหาอย่างกรณีของโควิด มันเป็นความเสี่ยง แต่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (แฟ้มภาพ)

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (แฟ้มภาพ)

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (แฟ้มภาพ)


นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ บริษัทประกันภัยแรงงานต่างชาติ ว่า หากใช้หลักเกณฑ์บริษัทประกันภัยแบบเดิม จะทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยง รวมถึงการบริการ ไปยัง 17 บริษัทประกันภัยได้ดีกว่า รวมถึงเป็นการเปิดทางเลือกที่หลากหลายให้แก่นายจ้าง บริษัทจัดหางาน รวมถึงแรงงาน ที่เลือกซื้อประกันได้


“ถ้าพูดแบบกลางๆ มันก็เหมือนเป็นการล็อกสเปก มันก็เอื้อกับกลุ่มผลประโยชน์ทุนใดทุนหนึ่ง มันไม่ได้ทำให้เกิดการแข่งขันแบบเสรีจจริงๆ เพราะถ้าการแข่งขันแบบเสรี ก็คือทำให้เกิดการพัฒนา บริษัทสามารถที่จะพัฒนาเรื่องการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีหลายบริษัทมันก็กระจายความเสี่ยง การรับผิดชอบเมื่อเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีแรงงานไม่สบาย มันก็กระจายความเสี่ยงไป ไม่กระจุกอยู่ที่เดียว” นายสมพงค์ กล่าว
นายสมพงค์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

นายสมพงค์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

นายสมพงค์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน


ไทยพีบีเอส ได้รับเอกสารบันทึกรายงานการประชุมจากแหล่งข่าวในแวดวงประกันภัย 2 ชุด เกี่ยวกับการประชุม เรื่อง การประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงาน จัดประชุมเมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา

หลักฐานสำคัญ พบว่า มีเอกสารบันทึกรายงานการประชุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ถึง 2 ฉบับ นั่นหมายถึงคำถามจากแหล่งข่าวในวงการธุรกิจประกันวินาศภัยว่า การประชุมในคราวเดียวกัน แต่เป็นไปได้หรือไม่ ที่มีบันทึกรายงานการประชุมถึง 2 ฉบับ แต่มีรายละเอียดบางประเด็นที่ต่างกัน

หากเปรียบเทียบข้อแตกต่าง เอกสารรายงานการประชุม ทั้ง 2 ฉบับ ( ฉบับจริง และฉบับที่ถูกแก้ไข ) พบว่า รายงาน (ฉบับที่ 2) ใหม่ มีบางความคิดเห็นที่ถูกตัดออกไป หนึ่งในนั้น มีข้อพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์บริษัทที่จะเชื่อมระบบประกันภัยแรงงานต่างด้าว

ตัวอย่างความเห็นในรายงานบันทึกการประชุมฉบับเก่า ที่ถูกระบุจากแหล่งข่าวว่าโดนตัดออก และไม่ปรากฎในรายงานฉบับใหม่

ตัวอย่างความเห็นในรายงานบันทึกการประชุมฉบับเก่า ที่ถูกระบุจากแหล่งข่าวว่าโดนตัดออก และไม่ปรากฎในรายงานฉบับใหม่

ตัวอย่างความเห็นในรายงานบันทึกการประชุมฉบับเก่า ที่ถูกระบุจากแหล่งข่าวว่าโดนตัดออก และไม่ปรากฎในรายงานฉบับใหม่

 

อีกประเด็น ที่น่าสนใจ จากความเห็นของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ โดยทั่วไปแล้วนายจ้าง หรือบริษัทจัดหางานจะเป็นผู้เลือกบริษัทประกันภัยให้กับแรงงาน มีแรงงานเพียงประมาณ 10% เท่านั้น ที่เลือกซื้อกับบริษัทประกันภัยโดยตรง สิ่งนี้อาจสะท้อนได้ว่า การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของบริษัทประกันภัย ก็ไม่ได้ทำให้แรงงานเข้าถึงหรือมีสิทธิเลือกบริษัทประกันสุขภาพได้มากขึ้นไปกว่าเดิม

เพียงแต่การกำหนดหลักเกณฑ์สินทรัพย์ถึง 3 หมื่น ล้านบาท ของบริษัทประกันภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ก็ทำให้เกิดคำถามจากแวดวงประกันภัย ว่าอาจจะเป็นการไปกีดกันและปิดกั้นการแข่งขันแบบเสรีของบริษัทประกันภัยรายอื่นด้วยหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง