กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลกรณีการดำเนินโครงการควบคุมประชากรช้างป่าโดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และอาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเกิดความสับสน มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมได้
วันนี้ (30 ธ.ค.2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ และยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น พบครอบคลุมพื้นที่กว่า 42 จังหวัดทั่วประเทศ สถิติคนถูกช้างทำร้ายเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 240 คนได้รับบาดเจ็บ 208 คน และยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สิน พืชผลของประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก
อ่านข่าว ชงของบกลาง 1,000 ล้านแก้ช้างป่า จัดทัพเฝ้า 200 ชุด 60 จุดเสี่ยง
นายอรรถพล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2565 มีจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า เพื่อดำเนินการใน 6 ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า แนวป้องกันช้างป่า ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน มาตราการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน
โดยหนึ่งในมาตรการคือการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ประ กอบกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน ยังได้เสนอให้ใช้วัคซีนในการคุมกำเนิดช้างป่า เพื่อเป็นทางเลือกในการควบคุมจำนวนประชากรช้างป่า และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับช้างป่า
การควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่ได้มอบหมายและสั่งการให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการเร่งด่วนเพื่อเตรียมการรองรับประชากรช้างป่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ที่ถิ่นอาศัยไม่สามารถรองรับประชากรได้แล้ว
ภาพช้างป่าตะวันออก (ภาพกรมอุทยาน)
กางสถิติช้างทำร้ายคนตาย240 ไม่แผ่ว
ปัจจุบันมีช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 4,013-4,422 ตัวใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากช้างป่าทั้งสิ้น 71 แห่ง
ดังนั้น การจัดการประชากรโดยการควบคุมประชากรช้าง จึงเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่มีความจำเป็น เพื่อเป็นการวางแผนรองรับการจัดการประชากรช้างป่าในอนาคต โดยกรมอุทยานฯ ร่วมกับศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่า
โดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด SpayVac® ซึ่งมีการใช้งานจริงในช้างแอฟริกามาแล้ว ได้เริ่มดำเนินโครงการทดลองฉีดวัคซีนคุมกำเนิดในช้างตัวเมียเต็มวัย 7 เชือก ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการเก็บตัวอย่างเลือด ตรวจสุขภาพ และติดตามผลหลังการฉีดวัคซีน โดยวัคซีน 1 เข็ม จะควบคุมได้ระยะยาว 7 ปี และวัคซีนไม่มีผลต่อพฤติกรรมและสรีระของช้าง เป็นเพียงควบคุมมฮอร์โมนช้างตัวเมียไม่ให้มีลูก
นำร่องวัคซีนคุมกำเนิดช้างป่าตะวันออก
ผลการทดลองหลังการฉีดวัคซีนพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ช้างไม่มีอาการอักเสบ วัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อช้างที่อยู่ในระหว่างตั้งท้อง ไม่ส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของตัวช้าง และพฤติกรรมทางสังคมของช้างป่า จึงได้มีโครงการนำร่องเพื่อขยายผลการใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่า
การควบคุมประชากรช้างป่าโดยการใช้วัคซีนคุมกำเนิด มีเป้าหมายเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรช้างป่ามาก จนเกินศักยภาพของพื้นที่อนุรักษ์ และขนาดของพื้นที่ป่าจะรองรับได้
คาดว่าจะนำร่องในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออก 5 จังหวัดที่มีประชากรช้างป่าที่มีอัตราการเพิ่มสูงที่สุด กำลังเผชิญปัญหาที่รุนแรงมากจากการที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์โดยจะเริ่มเดือน ม.ค.2568
สภาพถนนสายด้านหน้าเขาอ่างฤาไนที่มักพบมีช้างป่าเดินข้ามถนน
อ่านข่าว 1 ปี "วัคซีนคุมกำเนิดช้าง" ไปไม่ถึงฝัน ติดขั้นตอนอนุญาตนำเข้า
ทั้งนี้ การควบคุมประชากรช้างป่าโดยใช้วัคซีนคุมกำเนิด มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม มีแผนดำเนินงานที่รัดกุม ผ่านการศึกษาวิจัยที่มีการทดสอบ ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ตามหลักทางวิชาการและเทคนิคการสัตวแพทย์ มีการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ เวชภัณฑ์ต่างๆ
รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งการศึกษาจำนวน โครงสร้างชั้นอายุ สัดส่วนเพศของประชากรช้างป่าในพื้นที่อย่างชัดเจนก่อนดำเนินการ การจำแนกตัว และทำอัตลักษณ์ช้างป่าแต่ละตัวในแต่ละฝูง
แนวทางการติดตามช้างป่าโดยการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ติดตามตัว การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน การดำเนินโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่า และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า และให้ทุกภาคส่วนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในดูแล เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
อ่านข่าว ปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า" ติดนาน 6 ปี "ไม่มีอะไร เร็วเท่าใจคน"
คาดไม่คุมประชากรอาจเพิ่มถึง 6,000 ตัวเกินรองรับ
ก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย ให้นโยบายกับกรมอุทยานฯเกี่ยวกับมาตรการ ดูแลควบคุมประชากรช้างป่า เบื้องต้นมีแนวทางการดำเนินการ คือ การนำเอาวัคซีนทำหมันช้างเข้ามาช่วย และการทำแนวการสร้างกันชนระหว่างคนกับช้าง เแต่ต้องใช้งบจำนวนมาก และการผลักดันช้างกลับป่า เช่น การแยกช้างเกเรออกจากโขลง มีการติดตามเฝ้าระวังช้างกลุ่มนี้
ไทยมีช้างกว่า 4,000 ตัว มีอัตราการเกิด 7-8 % ต่อปี หากไม่หยุดยั้งอัตราการเกิดของช้างตั้งแต่วันนี้จะส่งผลให้อีก 4 ปีข้างหน้ามีช้างมากถึง 6,000 ตัว ขณะที่มีพื้นที่ป่าเท่าเดิม หรือน้อยกว่าเดิม
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า จำเป็นต้องหยุดยั้งอัตราการเกิดใหม่ของช้างป่า เพื่อให้ธรรมชาติกับมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้กรมอุทยานฯ กำหนดแผนดำเนินการทดลอง และขยายผลการใช้วัคซีนกับช้างป่า ตามโครงการทดลองให้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออก ในช่วงเดือนม.ค. 2568 ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจจะขยายผลการดำเนินการใช้วัคซีนในช้างป่ากลุ่มอื่น ๆ และพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป