กรณีเกิดเหตุ Jeju Air ไถลรันเวย์ที่สนามบินมูอัน ประเทศเกาหลีใต้ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 179 คนเสียชีวิต โดยมีผู้รอดชีวิต 2 คน
วันนี้ (31 ธ.ค.2567) เว็บไซต์ข่าว The New York Times เผยแพร่บทวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบิน โดยผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า เที่ยวบินนี้มาถึงล่าช้ากว่ากำหนดถึง 30 นาที โดยหอควบคุมได้แจ้งเตือนนักบินเกี่ยวกับฝูงนกในบริเวณนั้น
ตามไทม์ไลน์เที่ยวบินที่ 7C2216 ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 02.11 น. ของวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา กำหนดล้อแตะรันเวย์สนามบิน Muan เกาหลีใต้ เวลา 09.03 น.ของวันที่ 29 ธ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น
อ่านข่าว สามีจัดพิธีศพหญิงไทยก่อนนำอัฐิกลับอุดรฯ เหตุ Jeju Air ไถลรันเวย์
ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยระบุว่า เพียง 4 นาทีได้พลิกชะตาผู้โดยสารทั้ง 181 ชีวิตบนเที่ยวบินดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า นักบินรีบลงเกินไป และ ไม่มีการเปิดแฟลตเบรกที่ปีก เพื่อพยายามลดความเร็วของเครื่องเสียด้วยซ้ำ
- 08.59 น. นักบินแจ้งต่อหอควบคุมการจราจรทางอากาศที่สนามบินมูอัน ว่ามี “นกชน” และต้องลงจอดฉุกเฉิน และจะต้องบินวน หลังจากยกเลิกความพยายามลงจอดครั้งแรก
- เวลา 9.02 น.เครื่องบินแตะรันเวย์แต่ฐานล้อไม่กาง
- เวลา 09.03 น.เครื่องบินเที่ยวบิน 7C2216 พุ่งชนโครงสร้างคอนกรีตบริเวณปลายรันเวย์ด้านใต้จนเกิดไฟลุกท่วม
อ่านข่าว ไขปม Jeju Air ลงจอด Belly Landing โอกาสน้อยนักบินลืมกางล้อ
48 ชั่วโมงบิน 13 เที่ยว
ขณะที่ยังมีการเปิดเผยข้อมูลอีกว่าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 ซึ่งเชื่อว่าประสบปัญหาระบบลงจอดขัดข้อง พบว่าได้บินระหว่างมูอัน เกาะเชจู และอินชอน ทางตะวันตกของกรุงโซล ในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงก่อนหน้านี้
โดยยังพบว่ามีการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างประเทศด้วย เช่น ปักกิ่ง กรุงเทพมหานคร โกตาคินาบาลู นางาซากิ และไทเป รวมทั้งหมด 13 เที่ยวบินส่วนใหญ่จัดโดยบริษัทท่องเที่ยวเหมาลำ
ไขปมล้อเครื่องบินไม่กาง
เพจ "กัปตันไฟซอล บิน กิน เที่ยว" โพสต์ให้ความรู้จากข้อสังเกตของผู้คนบนโลกออนไลน์ ว่าทำไมล้อเครื่องบินไม่กาง ถึงไม่ลงทะเล โดยช่วงหนึ่งระบุในโพสต์ว่า กรณีล้อไม่กางควรเลือกลงที่สนามบิน เพราะพื้นรันเวย์เรียบ ไม่มีคลื่น และโดยส่วนมากจะมีการฉีดโฟมดับเพลิงไว้บนพื้นผิวแล้ว
นอกจากนั้น การช่วยเหลือจะทันท่วงทีเพราะอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงภายในสนามบิน ทั้งรถดับเพลิงและรถพยาบาล การไปลงในทะเลการช่วยเหลือต้องรอเวลาและยากลำบาก เคสที่ต้องลงน้ำ ส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก มักจะเกิดจากเครื่องยนต์ดับทั้งสองข้าง
นอกจากนี้ยังระบุว่า น้ำไม่ได้นุ่มและปลอดภัย เครื่องบินที่หนัก 60 ตัน มาด้วยความเร็ว 200 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง จะอันตรายกว่าลงรันเวย์เยอะ แรงกระแทกจะมีมากกว่า
เช่นเดียวกับ ข้อมูลใน เฟซบุ๊กของ นายแพทย์กรพรหม แสงอร่าม อดีตกัปตันการบินไทย ที่โพสต์ระบุใจความช่วงหนึ่งว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พูดถึงกันมากเกี่ยวกับเรื่องความยาวทางวิ่ง ว่ามันโอเคไหม ?
โดยนายแพทย์กรพรหม ระบุว่า สิ่งที่คิดว่าคงต้องมีปรับปรุงมาตรฐาน หลัก ๆคือเรื่อง ระยะปลอดภัยท้ายทางวิ่ง ที่จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ
จริงๆ ฐานเสาอากาศที่เอาไว้ส่งสัญญาณนำร่องที่ปลายทางวิ่ง มันก็ไม่ได้สูงมาก ถ้าเครื่องบินมีล้อ น่าจะไม่ชนรุนแรงขนาดนั้น แต่ทำไมที่มูอัน ต้องทำเป็นเนินดินขึ้นมาตนเองก็ไม่ทราบ ที่อื่นๆมีแต่โครงเหล็กบางๆอยู่กับพื้นธรรมดา
รวมถึงยังอาจต้องใช้วัสดุที่จะอ่อนตัว เมื่อมีน้ำหนักเครื่องบินมากดทับ ก็จะหยุ่นๆ เพื่อช่วยหน่วงเครื่องบิน เมื่อเกิดการไถลเลยทางวิ่ง ซึ่งหลายสนามบินก็มีการใช้วัสดุนี้แล้ว
กรณีที่เกิดขึ้น ยังมีข้อสังเกตว่าทำไมฐานล้อและอุปกรณ์เพิ่มแรงยกของเครื่องบินไม่ทำงาน โดยอิงจากคลิปที่ถูกระบุว่า มีผู้เห็นประกายไฟออกมาจากเครื่องยนต์ จึงนำไปเชื่อมโยงว่าอาจเกี่ยวกับการกางฐานล้อหรือไม่
ส่วนกรณีที่เที่ยวบิน 7C101 ของสายการบิน Jeju Air ซึ่งออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกิมโป ไปยังเกาะเชจู เกาหลีใต้ เมื่อเวลา 06.37 น.ของวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา และตรวจพบปัญหาระบบล้อ และต่อมาได้นำเครื่องบินกลับมายังกิมโปในเวลา 07.25 น.
อ่านข่าว ระทึกซ้ำ Jeju Air อีกลำบินกลับสนามบินต้นทาง หลังพบปัญหาระบบล้อ
ทางสายการบินมีแผนตรวจสอบอุปกรณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยในการบินทั้งหมด ขอเครื่องบินโบอิง B737-800 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่ประสบเหตุเมื่อวันก่อน สายการบินเจจูแอร์ใช้เครื่องบินรุ่นนี้ 39 ลำจากฝูงบินทั้งหมด 41 ลำ