ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวประมงร้องรัฐปลดล็อก "อวนรุน" จับปลาหมอคางดำ

สังคม
9 ม.ค. 68
07:20
99
Logo Thai PBS
ชาวประมงร้องรัฐปลดล็อก "อวนรุน" จับปลาหมอคางดำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาด เรียกร้องรัฐบาลขยายเวลาผ่อนปรนการใช้ "อวนรุน" จับปลาหมอคางดำ หลังครบกำหนด ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ราคารับซื้อปลาหมอคางดำที่ลดลงเหลือเพียง กก.ละ 3-4 บาท ก็ไม่จูงใจในการปราบปลาหมอคางดำ

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568 ชาวประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสาคร ต้องปรับวิธีจับปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการทอดแหแทนการใช้อวนรุน หลังครบกำหนดที่กรมประมงผ่อนผันให้ใช้ "อวนรุน" กำจัดปลาหมอคางดำ ตั้งแต่สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จึงกลัวว่าหากนำอวนรุนมาใช้อาจเสี่ยงถูกจับกุมได้

แต่การจับปลาหมอคางดำด้วยวิธีทอดแห แต่ละครั้งจะได้ปลาปริมาณน้อยกว่าอวนรุน ประมงพื้นบ้านบอกว่า ปลาหมอคางดำที่จับได้จะนำไปกิน ไม่ได้นำไปขาย เพราะราคารับซื้อต่ำเพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาท หากเทียบกับช่วงแรกที่รัฐบาลรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท จึงไม่มีแรงจูงใจในการจับปลาหมอคางดำไปขาย

ซึ่งก่อนหน้านี้ เขายอมลงทุนกว่า 10,000 บาท ดัดแปลงเรืออวนรุนเพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำ แต่พอราคาต่ำลงก็หยุดไป เพราะไม่คุ้มทุน เช่นเดียวกับ ตัวแทนประมงพื้นบ้านอีกหลายคน เรียกร้องรัฐบาลผ่อนปรนการใช้ "อวนรุน" จับปลาหมอคางดำเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ เพราะหากขาดความต่อเนื่อง เชื่อว่าการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำจะสร้างผลกระทบรุนแรง

ขณะที่ นายเฉลิมพล เกิดปั้น ผู้ประกอบการแพรับซื้อปลาหมอคางดำ ระบุว่า ตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุติรับซื้อปลาหมอคางดำ บรรยากาศการรับซื้อเงียบเหงา แต่ละวันมีชาวประมงนำปลาหมอคางดำมาขายให้น้อยมาก โดยจะรับซื้อราคากิโลกรัมละ 4 บาท สิ่งที่คาดหวังจากนี้ คือ ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

ไม่ต่างจากที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่พบการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจจุดรับซื้อในพื้นที่ อ.ปากพนัง พบว่าปิดการรับซื้อชั่วคราวเพราะลูกค้ารายใหญ่หยุดทำประมง ส่วนลูกค้ารายย่อย เช่น นากุ้ง ปริมาณสั่งซื้อน้อย จึงไม่มีคนจับปลาหมอคางดำมาขาย ทำให้การขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับงบประมาณที่ใช้กำจัดปลาหมอคางดำในปีที่ผ่านมา พบว่า การยางแห่งประเทศไทย ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท รับซื้อไปผลิตเป็นน้ำหนักชีวภาพ โดยตั้งจุดรับซื้อทั้งหมด 75 จุด ในกิโลกรัมละ 15 บาท ตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค.2567 รับซื้อปลาหมอคางดำทั้งในบ่อเลี้ยงและธรรมชาติได้รวมกันกว่า 580,000 กิโลกรัม ขณะที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ซีพีเอฟ รับซื้อ 2,000,000 กิโลกรัม เพื่อนำไปทำเป็นปลาป่น ส่วนกรมประมง ใช้งบประมาณซื้อปลานักล่า 226,000 ตัว ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ใน 7 จังหวัด

ขณะที่ แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอและมีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการปลาหมอคางดำ โดยกำหนดแผนการจัดการทั้งหมด 7 มาตรการ 14 กิจกรรม ซึ่งเป็นงบประมาณจากกรมประมง จำนวน 450 ล้านบาท มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือน ก.ค.2567 - ก.ย.2570

อ่านข่าวอื่น :

รู้จักภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส" ในเด็ก สาเหตุ-วิธีป้องกัน

วันเด็ก 2568 ปักหมุดสถานที่จัดงาน กับกิจกรรม-ของขวัญมากมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง