ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เทียบลาย "เสือติดบ่วงป่าพุเตย" ตรงกับ "UID6" จากห้วยขาแข้ง

Logo Thai PBS
เทียบลาย "เสือติดบ่วงป่าพุเตย" ตรงกับ "UID6" จากห้วยขาแข้ง
สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เปรียบเทียบลาย "เสือโคร่ง" ติดบ่วงแร้วป่าพุเตย พบตรงกับเสือโคร่งจากป่าห้วยขาแข้ง รหัส UID6 อายุ 26 เดือน ที่ถ่ายภาพคู่กับพี่น้องรหัส UID7 ได้ล่าสุดเมื่อปี 2567 คาดเดินแสวงหาพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน

ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ช่วยเหลือเสือโคร่งได้รับบาดเจ็บจากบ่วงดักสัตว์ หลังพบนอนอยู่ในร่องห้วยที่มีหญ้ารกทึบ นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย เมื่อคืนวันที่ 8 ม.ค.2568 ก่อนเคลื่อนย้ายมารักษาที่ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก โดยพบว่า อาการบวมบริเวณแผลลดลง ลงน้ำหนักได้ทั้ง 4 ขา โดยเฉพาะขาหน้าข้างขวาที่ได้รับบาดเจ็บมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

เสือโคร่งตัวดังกล่าว กินอาหารได้ตามปกติ โดยกินเนื้อหมูวันละ 3 กิโลกรัม อกไก่ 1 กิโลกรัม และโครงไก่ 2 โครง ส่วนการถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะเป็นปกติ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกั้นสแลนรอบกรง เพื่อรักษาความสงบและป้องกันเสือเครียดระหว่างการรักษา ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP โพสต์ข้อความไขข้อสงสัย "เสือ แร้วพุเตย" มาจากป่าห้วยขาแข้งจริงหรือไม่

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ช่วยเสือโคร่งติดบ่วงรอดตายสำเร็จ หลังค้นหานาน 3 วัน จากการตรวจสอบพบว่า เป็นเสือโคร่งเพศเมียจากผืนป่าห้วยขาแข้ง อายุไม่เกิน 7 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าหน้าขวา และเคลื่อนย้ายไปรักษาต่อที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าบึงฉวาก

แต่ว่าการรับรู้ข่าวสารของเจ้าหน้าที่วิจัยที่เกี่ยวข้องกับเสือโคร่งห้วยขาแข้งนั้น เกิดขึ้นในช่วงก่อนเที่ยงวันที่ 9 ม.ค.2568 พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นในใจว่า “รู้อย่างไรว่าเป็นเสือจากห้วยขาแข้ง?” ความสงสัยนำไปสู่การค้นหาข้อมูลที่เป็นจริงจากคลังฐานข้อมูลประชากรเสือโคร่งที่ได้มีการรวบรวมไว้โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ซึ่งผู้ช่วยนักวิจัยสายหวาน (ชอบของหวาน หน้าหวาน เสียงหวาน) เป็นผู้สืบค้นข้อมูล ด้วยการเปรียบเทียบลวดลายข้างลำตัวของเสือแร้วพุเตยกับเสือตัวอื่น ๆ ในคลังฐานข้อมูล

นอกจากเพื่อให้รู้แน่ว่าเป็นเสือตัวใดแล้ว ยังมีประเด็นคำถามว่า “แม่ของมันคือใคร” พ่วงท้ายไปให้หาคำตอบอีกด้วย

ปรากฏว่าเสือโคร่งในข่าวนั้น มีลวดลายตรงกับเสือโคร่งหนึ่งในสอง (UID6, UID7) ที่เคยถูกถ่ายภาพคู่ไว้เมื่อต้นปี 2567 ในจุดหนึ่งของพื้นที่ห้วยขาแข้ง สิ่งที่น่าสนใจคือการถูกบันทึกภาพได้ครั้งนั้น ไม่มีแม่ร่วมเดินหรือมีเสือเพศเมียโตเต็มวัยที่ถูกบันทึกภาพได้ในจุดเดียวกัน จึงทำให้ไม่สามารถระบุตัวแม่ด้วยฐานข้อมูลปี 2567 รู้แต่เพียงว่ามีเสือโคร่งเพศเมียยึดครองอาศัยอยู่ 3 ตัวในพื้นที่ข้างเคียงจุดที่ถ่ายเสือคู่ได้ โดยมีหนึ่งตัวเป็นเสือแม่ลูกอ่อน

จากการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังเพื่อระบุหาตัวแม่ของเสือ UID6, UID7 ทำให้เห็นเสือโคร่ง HKT314 ที่ถ่ายได้ในช่วงเดือน ม.ค.2566 นั้น มีราวนมที่ระบุได้ว่ามีลูกน้อย จึงทำให้กลายเป็น “เสือตัวแม่ต้องสงสัย” เมื่อพิจารณาร่วมกับจุดที่ถ่ายภาพได้ จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าแม่ของเสือน้อยทั้งคู่นั้น คือ HKT314

หากใช้สมมุติฐานว่า HKT314 คือแม่ของ UID6 (เสือแร้วพุเตย) แล้วประเมินช่วงเวลาของการเกิดจนนำไปสู่การประเมินอายุปัจจุบัน สามารถประมาณได้ว่าเสือแร้วพุเตย มีอายุราว 26 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่นที่ต้องมีพฤติกรรมการเดินแสวงหาพื้นที่เพื่อครอบครองเป็นของตัวเอง

ในการเดินทางเพื่อแสวงหาพื้นที่ครอบครองของเสือโคร่งวัยรุ่นนั้น เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของวัยรุ่นทั้งเพศเมียและเพศผู้ โดยเพศผู้นั้นมีโอกาสพบเจอเหตุวิกฤตในชีวิตสูงกว่าเพศเมีย เนื่องจากต้องเร่ร่อนเดินทางให้ออกห่างจากพื้นที่เดิมของพ่อ ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเสือโคร่งวัยรุ่นเพศผู้ประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานน้อยกว่าเพศเมีย

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเสือแร้วพุเตยครั้งนี้นั้น ทำให้นักวิจัยได้รู้ว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางที่เสือโคร่งวัยรุ่นจากห้วยขาแข้งตอนใต้เดินเลือกรอนแรมลัดเลาะเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน

แต่ในความวิกฤตครั้งนี้ ก็ยังมีโอกาสที่ดีรออยู่ หากว่าเสือตัวนี้จะได้ออกเดินทางครั้งใหม่ในป่ากว้าง ซึ่งเชื่อได้ว่า บทเรียนที่ได้รับครั้งนี้ จะทำให้ใช้ชีวิตต่อจากนี้ด้วยความระมัดระวังและระแวงระวัง จึงทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานหากินของมันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ UID7 ซึ่งเป็นพี่น้องนั้นคงต้องรอข้อมูลจากการเก็บกล้องปีนี้ คงจะพอบอกได้ว่ามันมีชีวิตเป็นอย่างไร เพราะ "การคุกคามจากมนุษย์" จัดเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐานของเสือโคร่งวัยรุ่น

อ่านข่าว : สัตวแพทย์-จนท.ช่วย "เสือโคร่ง" ขาบาดเจ็บติดบ่วงดักสัตว์ 

สำเร็จ ช่วยชีวิต "กระทิงตาบอด" จากทับลานสู่ผากระดาษ 

ของขวัญปีใหม่! "พญาแร้งมิ่ง" ออกไข่ใบที่ 2 กลางป่าห้วยขาแข้ง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง