วันนี้ (14 ม.ค.2568) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ประธานการประชุม แต่ปรากฎว่าระหว่างพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ..มีวัตถุต้องสงสัยตกลงมาบริเวณ หลังเก้าอี้ของสส.พรรคเพื่อไทยนั่งอยู่
โดยพบว่าเป็นกระป๋องนมยี่ห้อหนึ่งมีกระดาษสีน้ำตาลเสียบอยู่ด้านใน แต่ไม่มีข้อความอะไรจากนั้นเจ้าหน้าที่สภา จึงมาเก็บออกไป
นางวิลดา อินฉัตร สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ซึ่งยืนอยู่ในจุดใกล้กระป๋องตกลงมา กล่าวว่า ไม่รู้ว่ากระป๋องมาจากไหน แต่ไม่โดนใคร และกระป๋องได้กลิ้งไปอยู่ใต้เก้าอี้ สส.ทำให้ สส.เตะออกมา จากนั้นบรรดา สส. เพื่อไทยได้มายืนดูกระป๋องดังกล่าว
นายวิทยา แก้วภราดัย สส. บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์พอดี กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นการร่วงลงมาจากข้างบน เพราะเงยขึ้นไปเห็นเป็นเพดาน จึงมีความเป็นไปได้ว่า อาจมีการขว้างลงมาจากที่สูง และไม่คิดว่าวางอยู่ก่อนแล้ว เพราะก่อนการประชุมเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจเช็กความพร้อมของไมค์ เก็บกวาดสถานที่ก่อนการประชุม
ภาพเหตุการณ์กระป๋องนมปริศนาในที่ประชุมสภา (ภาพจาก Pigeon พิราบสื่อสาร )
สว.ไม่เห็นด้วย ร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ส่วนการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชนเป็นผู้เสนอ มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายระบุว่าข้อบังคับปัจจุบันบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ผ่านมาแล้ว 5 ปียอมรับว่ามีบางประเด็นที่เหมาะสมในการปรับปรุง เช่นการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะสว.ชุดปัจจุบันไม่มีโอกาสร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ตัดประเด็นนี้ไปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไร
เห็นด้วยในการแจ้งทราบวาระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่เสนอแนะให้มีการดำเนินการด้วยกระบวนการความปลอดภัย เพราะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ยังคงติดใจเกี่ยวกับการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะแก้รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีความเหมาะสม และสมาชิกรัฐสภาทุกพรรคการเมืองก็สรรหาคนที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งได้เพราะทั้งสมาชิกรัฐสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เชื่อว่าในสมาชิกทั้งหมด 700 คนมีผู้เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการ และไม่เห็นด้วยที่จะให้บุคคลขาดสมาชิกภาพเข้ามาเป็นกรรมาธิการ เพราะจะเป็นการดูแคลนรัฐสภา และคงหลับตามองแล้วเห็นว่าเห็นใครที่ขาดสมาชิกภาพในอนาคตหรือไม่
ขอให้สมาชิกพิจารณาทบทวนกรรมาธิการเป็นบทบาทสำคัญ ถ้าการพ้นจากตำแหน่งตัดเรื่องขาดสมาชิกภาพไป จะเห็นใครเข้ามากรรมาธิการโดยเฉพาะขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่อยากจะบอกว่าอ้าปากก็เห็นไปถึงริดสีดวงทวาร
ค้านคนนอกนั่ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒน์นาพงศ์ สว. ระบุว่า เห็นว่าการเปิดให้ประชาชนเข้ามาร่วมเป็นกรรมธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัติหากคณะกรรมการมาจากประชาชนที่ถูกคัดเลือกหรือสนับสนุนโดยฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจ และลดทอนกลไกถ่วงดุลจากวุฒิสภา ยังมองว่าเป็นกลไกลดเสียงคัดค้านในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จึงไม่เห็นด้วยในการแก้ไขข้อบังคับข้อ 123 ที่กำหนดให้ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญมาจากรายชื่อที่สมาชิกรัฐสภาเสนอ เท่ากับเปิดทางให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้ามาทำหน้าที่ และการกำหนดสัดส่วนให้ประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าเป็นกมธ.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกมธ.ที่กำหนดให้มี 45 คน ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่กำหนดว่า สส.สว. หรือสมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย
การเสนอแก้ไขแบบนี้เท่ากับว่าจะตั้งใครก็ได้ใน 45 คน ไม่ต้องมีมีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวก็ได้ มองว่าไม่เป็นเหตุที่สมควร เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้อำนาจหน้าที่และสิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา
อีกทั้งการเสนอให้มีตัวแทนประชาชนที่เสนอแก้รัฐธรรรมนูญนั้นติดใจในกระบวน การคัดเลือกที่ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่ถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทาง การเมือง
แม้ว่าการเสนอกมธ.จากประชาชนเป็นเจตนาดี เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม แต่การปฏิบัติและโครงสร้างตั้งกมธ.อาจไม่สมดุล อาจลดทอนอำนาจการถ่วงดุลของสส.และสว.กลับเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีร่างแก้ไขของประชาชนเข้ามาจะทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญถูกชี้นำโดยเสียงข้างมาก
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชา
รทสช.ไม่เห็นด้วยสัดสวนคนนอก
ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า ที่ประชุมพรรคได้พิจารณาข้อเสนอของพรรคประชาชน ที่ยื่นเสนอแก้ไขข้อบังคับการประชุมร่วมของรัฐสภาในการแก้ไขข้อบังคับหลายข้อ
โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ มีมติไม่เห็นชอบในหนึ่งประเด็น ที่พรรคประชาชนเสนอให้มีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมร่วม ซึ่งก็คือกรณีบุคคลร่วมนั่งกรรมาธิการ เดิมการตั้งกรรมาธิการร่วมจะมีสัดส่วนไม่เกิน 45 คน ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา คือสส.และสว. เท่านั้น แต่พรรคประชาชน เสนอแก้ไขโดยให้มีคนนอกเข้ามานั่งร่วมในกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัดส่วนไม่เกิน 1 ใน 3
โดยประเด็นดังกล่าว พรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ จึงควรให้ผู้ที่นั่งในกรรมาธิการ เป็นสมาชิกรัฐสภา ที่ผ่านการกลั่นกรองจากประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะดีกว่าอีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความแตกต่างกับการแก้ไขกฎหมายอื่นที่สามารถมีคนนอกเข้ามานั่งเป็นกรรมาธิการได้
ส่วนการพิจารณากฎหมาย ในวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.) ซึ่งเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีเรื่องของกฎหมายสรรพสามิต ที่จะเข้าพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกันในเรื่องการผลักดันสุราไทย หากมีการพิจารณาผ่านและเสร็จสิ้น ก็จะทำให้เกิดการผลิตสุราอย่างถูกกฎหมาย สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในเรื่องกฎหมาย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพลกซ์ เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อที่จะกำหนดท่าทีต่อไป
การที่รัฐบาลเห็นชอบในกฎหมายดังกล่าวนั้นก็ถือเป็นกฎหมายของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติก็จะร่วมพิจารณาในสภาเพื่อให้เกิดความรอบคอบเพราะเป็นกฎหมายที่มีผลกับหลายฝ่าย