วันนี้ (17 ก.พ.2568) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยถึงกรณีการรับตัวอดีตแก๊งคอลเซนเตอร์ 260 คน จากเมียวดี ประเทศเมียนมา เข้ามาที่ อ.พบพระ จ.ตาก
ทั้งนี้ ทางตำรวจไซเบอร์นำกำลังไปปฏิบัติการร่วมในพื้นที่ด่านหน้า จำนวน 50 นาย เพื่อรวบรวบข้อมูล และจัดเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทั่งได้ข้อมูลที่เป็นพยานหลักฐาน หมายเลขโทรศัพท์จำนวน 107 หมายเลข และโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกผลักดัน 35 เครื่อง จากนั้นจะนำไปตรวจสอบขยายผลว่าเข้าข่ายกระทำความผิดในลักษณะใดอีกหรือไม่

เบื้องต้นพบข้อมูลบ่งชี้ว่า มีผู้ถูกหลอกจากขบวนการคอลเซนเตอร์ที่อาจเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์จำนวนมาก และมีผู้ที่สมัครใจไปประมาณ 2-3 คน แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นสัญชาติใด ส่วนข้อมูลก่อนหน้าที่ได้แถลงไป อาจเกิดจากความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ผิดพลาดค่อนข้างมาก หลังผ่านกลไกส่งต่อระดับชาติ หรือระบบ NRM ซึ่งทางตำรวจไซเบอร์ต้องขอโทษและขออภัย และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน
สำหรับหน้าที่หลักขอตำรวจไซเบอร์ คือการตรวจสอบหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรวบรวมหลักฐาน และให้ทราบวิธีการในการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ จากนั้นจึงจะพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นอาชญากรข้ามชาติหรือไม่ ไม่ว่าผู้ถูกผลักดันจะถูกหลอกหรือสมัครใจไปก็ตาม

ขณะที่การพิสูจน์ว่าผู้ถูกผลักดันจะถูกหลอกหรือสมัครใจไป ซึ่งอาจเข้าข่ายค้ามนุษย์ หรือเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตำรวจที่มีอำนาจในการพิจารณา คือ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และตำรวจภูธรจังหวัดตาก ซึ่งเป็นหน้าด่าน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจผ่านระบบ NRM โดยตรง
อ่านข่าว : สั่งออกราชการไว้ก่อน "ส.ต.อ." ใช้รถตราโล่ขนบุหรี่เถื่อน
ร.ต.ท.ขับเก๋งเฉี่ยวชน-เสียหลักตกคลอง เสียชีวิต 2 สูญหาย 1 คน