ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมขอ สปช.ขยายเวลาทำงาน 30 วัน

การเมือง
20 ก.ค. 58
07:51
132
Logo Thai PBS
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมขอ สปช.ขยายเวลาทำงาน 30 วัน

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมขอความเห็นชอบอนุมัติเรื่องขยายเวลาการทำงาน 30 วันต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันพรุ่งนี้ (21 ก.ค.2558) ขณะที่การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญยังต้องรอให้ฝ่ายเลขานุการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง

การพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยมีคำขอแก้ไขของสมาชิก สปช.และ ครม. รวม 9 กลุ่ม ประกอบการพิจารณาไปแล้วเสร็จนั้น นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยว่า การพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ถือว่าเสร็จโดยสมบูรณ์ ยังต้องรอให้ฝ่ายเลขานุการตรวจสอบความถูกต้องในการเชื่อมโยงกันของแต่ละมาตราให้เรียบร้อยก่อน

ระหว่างนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรอความเห็นชอบของสภาปฏิรูปรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่ออนุมัติกรอบเวลาการทำงานให้เพิ่มอีก 30 วันตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2558 เปิดทางไว้ เพราะหากได้เวลาในการทำงานเพิ่ม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเชิญผู้ยื่นคำขอแก้ไขมาแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังคำชี้แจง ตั้งแต่วันที่ 17 - 19 ส.ค.2558

สำหรับวาระการประชุมของ สปช.ตลอด 3 วันนี้ ยังไม่มีวาระการพิจารณาขยายเวลาการทำงานให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับกำหนดเวลาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกประชุมเพื่อหารือเรื่องนี้ในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (21 ก.ค.2558) จึงมีความเป็นไปได้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งเรื่องให้ สปช. พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในวันพุธที่ 22 กร.ค.2558

และมีแนวโน้มที่จะให้ความเห็นชอบ โดยนับช่วงเวลาขยายตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.2558 ไปสิ้นสุดวันที่ 22 ส.ค.2558 ซึ่งจะตรงกับกรอบเวลาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 21 ส.ค.2558

มีรายงานว่า นอกจากเงื่อนเวลาการทำงานแล้ว สปช.ยังต้องพิจารณากรณีข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเตรียมจะยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปให้ สปช.พร้อมร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ด้วย ท่ามกลางข้อสังเกตว่าการยื่นพร้อมกันนั้นเพื่อแสดงว่าการปฏิรูปเป็นหนึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก็มีข้อสังเกตอีกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมือง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง