อำนาจ กกต.กับการตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต
แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ กกต.จัดและควบคุมการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริตและโปร่งใส ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิมหรือปี 2550 โดยไม่มีการจัดตั้ง กจต. ขึ้นใหม่แล้ว
แต่การให้อำนาจ กกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ หรือให้ใบเหลือง เฉพาะก่อนประกาศผลรับรองการเลือกตั้งและโยกอำนาจการให้ใบแดงหรือสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ของ กกต.ไปเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ก็ถูกเทียบเคียงว่า กกต. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นกำลังถูกลดทอนอำนาจลงและแม้จะผูกโยงการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง หรือใบแดงนี้ไว้กับเงื่อนไขที่ว่าด้วยคุณสมบัติผู้สมัคร,ลักษณะต้องห้าม และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การเพิ่มถ้อยคำว่า"ตลอดไป" ก็ถูกตีความถึงการห้ามผู้ถูกใบแดงและตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตลอดชีวิต
ขณะเดียวกันก็การโยกสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ว่าการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยมิชอบ สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิ์ 5 ปี ไปไว้ในมาตรา 68 เรื่องสิทธิพลเมืองในการต่อต้านโดยสันติและให้เป็นความผิดของบุคคล ไม่ใช่ของกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมืองแล้ว แต่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นยาแรงเกินกว่าเหตุ
พร้อมกับข้อสังเกตว่า บริบทของกลไกที่เพิ่มขึ้นนี้ มีความคาดหวังทางการเมืองแฝงอยู่โดยเฉพาะการคาดการณ์ที่จะทำให้กลุ่มการเมือง หรือบุคคลทางการเมือง ฝ่ายตรงข้ามหลุดพ้นจากการเมืองไทย ทั้งที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันในความปรารถนาว่า ไม่ต้องการให้ผู้ที่ทุจริตเลือกตั้งได้เข้าสู่วงการเมืองด้วยเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้